รากลึกแห่งศรัทธา “สะพานมอญ” แม้เวลาเปลี่ยนผัน
สะพานไม้ที่ทอดเป็นทางยาวข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เชื่อมโยงวิถีของคนทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน เป็นวิถีไทยมอญที่กลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ และจะคึกคักขึ้นในช่วงวันหยุด เหล่าผู้มาเยือนต่างมุ่งหน้าเพื่อมาสัมผัสบรรยากาศแห่งศรัทธาที่สะท้อนออกมาจากสะพานแห่งนี้
สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานแห่งน้ำใจจากความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ ย้อนไปเมื่อปี 2529 สะพานมอญถูกสร้างขึ้นจากดำริของ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ใช้เวลาก่อสร้างถึง 2 ปี โดยอาศัยแรงงานชาวมอญในท้องถิ่น
จนเมื่อปี 2556 ข่าวของสะพานมอญที่ขาดเป็นสองท่อนเนื่องจากเหตุน้ำป่าไหลหลาก ทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ ร่วมกับชาวบ้านอำเภอสังขละบุรีได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันซ่อมแซม จนสะพานแห่งนี้สามารถเปิดใช้ได้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2557 นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้
ปัจจุบันสะพานมอญเป็นจุดท่องเที่ยวที่คึกคักตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะเป็นจุดชมวิวที่ทุกคนไม่อยากพลาด โดยเฉพาะกิจกรรมตักบาตรยามเช้า ในวันปกติอาจจะได้เห็นวิถีที่สงบเงียบเรียบง่าย แต่หากช่วงไหนเป็นเทศกาลหรือวันหยุดที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ภาพที่สังขละก็เหมือนงานเทศกาลอะไรสักอย่าง
ทุกคนจะร่วมแต่งกายแบบชาวมอญหรือชาวกะเหรี่ยง เพื่อให้เข้ากับธีมของท้องถิ่น ดูแล้วกลมกลืนกันไปหมด ไม่รู้ว่าคนไหนคือชาวบ้าน คนไหนคือนักท่องเที่ยว
การเทินของบนศีรษะเป็นวิถีชีวิตของชาวมอญที่สังขละบุรี ไม่ว่าจะเดินไปไหนมาไหน พวกเขาก็มีอะไรอยู่บนหัวเสมอ โดยเฉพาะการนำของไปถวายพระ ซึ่งเชื่อกันว่าจะมาหิ้วให้อยู่ในระดับผ้าถุงไม่ได้ ต้องเทินขึ้นไปเหนือหัว เสมือนความศรัทธาอันแรงกล้าที่มี เมื่อนักท่องเที่ยวได้เห็นก็เกิดความทึ่ง และต้องขอถ่ายรูป น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้เป็นวงกว้าง
ปัจจุบันเราจะเห็นการเทินหม้อ เรียงต่อ ๆ กันไป ประดับดอกไม้หลากสี โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวกันทั้งวัน เป็นสีสันของสะพานมอญที่มองแล้วไม่เคยเบื่อ บ้างก็มีตะกร้าดอกไม้ ใส่แป้งทานาคา เพื่อเตรียมให้ลองแปลงโฉม แม้ภาพเหล่านี้จะไม่มีให้เห็นบนสะพานแล้ว แต่บริเวณใกล้เคียงก็ยังคึกคักไปด้วยเอกลักษณ์ที่ยังเด่นชัดอยู่เสมอ
ในอดีตบริเวณที่เห็นเป็นแม่น้ำของชุมชนชาวมอญแห่งนี้ เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำซองกาเรีย,แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี จึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “สามประสบ” สมัยก่อนมีวัดประจำหมู่บ้านคือ “วัดวังก์วิเวการาม” (เดิม) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” เพราะเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ จนปี 2527การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ส่งผลให้น้ำท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งตัวหมู่บ้าน และวัด จนต้องย้ายทุกอย่างไปอยู่บนเนินเขา
ในช่วงหน้าแล้งสามารถเดินลงไปชมตัวอาคารของวัดได้ แต่สำหรับหน้าน้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเห็นเพียงอุโบสถและหอระฆังที่โผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ เหมาะสำหรับการล่องเรือเที่ยวชม และจินตนาการถึงเมืองใต้บาดาลที่กลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์
นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือเพื่อล่องชมวัดจมน้ำบริเวณท่าเรือสะพานมอญได้เลย หลังจากจุดชมวัดใต้น้ำ เรือจะพาเราไปยังชายฝั่งที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ผ่านกลุ่มเด็ก ๆ ที่ออกมาต้อนรับ เดินขึ้นเนินไปอีกเล็กน้อยเป็นที่ตั้งของ “วัดสมเด็จ” สร้างโดยพระครูวิมลกาญจนคุณ เจ้าคณะตำบลหนองลู
เนื่องจากอยู่บนที่สูงจึงไม่จมน้ำ แต่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งย้ายอำเภอสังขละบุรีในช่วงสร้างเขื่อน ภายในอุโบสถเก่าแก่มีความงดงาม รอบโบสถ์มีต้นไทรปกคลุม ภายในมีพระประธาน สามารถเข้าไปกราบไว้เพื่อเป็นสิริมงคล
สำหรับวัดวังก์วิเวการามแห่งใหม่ พร้อมชาวมอญที่ย้ายถิ่นฐานขึ้นมาบนเนินเขาประมาณ 1,000 หลังคาเรือน หลวงพ่ออุตตมะก็ได้มอบที่ดินจัดสรรของทางวัดเพื่อให้ชาวบ้านได้อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่เฉพาะชาวมอญที่สังขละบุรีเท่านั้น หลวงพ่ออุตตมะเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธ ปัจจุบันเราสามารถเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่ออุตตมะที่ “วัดวังก์วิเวการาม” ที่สร้างด้วยศิลปะแบบมอบผสมไทยประยุกต์ ปัจจุบันเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ และมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของหลวงพ่ออุตตมะนั่งอยู่บนบัลลังก์ ภายในตัววัดยังมีศิลปะที่งดงามทรงคุณค่า อาทิ วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ปางมารวิชัย หนัก 9 ตันหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อหยกขาว”
หลากเรื่องราวที่สังขละบุรี เป็นมุมมองดี ๆ ที่สอดแทรกความศรัทธาเอาไว้อยู่เสมอ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเพียงไร สิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน แต่รากแห่งความศรัทธาที่ฝังลึกอยู่ภายใน ยังคงสะท้อนภาพความงดงามที่ไม่เคยเสื่อมคลาย เมื่อได้มาเยือน ณ ดินแดนแห่งนี้