ส่องสัตว์มหัศจรรย์ เที่ยวแบบมีกิมมิค พลิกมุมมองท่องเมืองโบราณ
เพราะมันน่าเบื่อ เพราะมันเต็มไปด้วยตัวหนังสือ เพราะมันคือการท่องจำชื่อ เหมือนหนังที่ดูแล้วไม่สนุก วิชาประวัติศาสตร์แบบท่องจำจึงไม่ได้รับการจดจำในใจของเรานัก…
การทำงานด้านการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์จึงเป็นโจทย์ยากมานาน ภาพที่เราคุ้นเคยคือ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้นที่จะเดินชมโบราณสถานอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความสนใจในวัฒนธรรมที่แปลกหูแปลกตา ขณะที่เราเองอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอะไรที่เรียกว่าใกล้ตาเลย แต่ก็ไม่หมายถึงทุกคนหรอกนะ เพราะคนที่สนใจและใส่ใจกันการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เขาก็รู้สึกสนุกสนานกับการได้เห็นของจริง จากเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้
ได้ไปเจอไอเดียน่ารักๆ ของการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่พอสมควร เพราะที่ผ่านมา การเชิญชวนให้เที่ยวชมประวัติศาสตร์ จะอ้างอิงเพียงความงดงามของอดีตที่เคยรุ่งเรือง ผ่านเรื่องเล่าที่เล่าแล้วเล่าอีกก็เหมือนเดิม มันก็ไม่น่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่ แถมยังไม่มีอะไรท้าทาย มาตอบโต้กับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับเรื่องที่พบเห็น ยิ่งได้ค้น ได้หา ยิ่งนำพาให้เรื่องเก่าที่อยู่นิ่งมานาน เกิดความสนุกสนานน่าติดตามขึ้นมาอีกครั้ง
ไอเดียที่ว่าคือ กิจกรรม “ส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง” ฟังชื่อก็แปลกหูแล้ว แต่ให้คิดว่าการเข้าชมโบราณสถาน ก็ได้อารมณ์คล้ายการเที่ยวชมซาฟารีอยู่เหมือนกัน ไม่เกี่ยวกับเจ้ากิ้งกาสีน้ำเงินตัวนี้ ที่บังเอิญได้เจอกันพอดี ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เจ้าตัวนี้อาจจะหาส่องกันยากหน่อย เพราะไม่รู้หลักแหล่งของพี่เขาเลย
กิจกรรมส่องสัตว์ในโบราณสถาน มีที่มาจาก รูปสิงสาราสัตว์ ซึ่งจะปรากฎอยู่ในงานศิลปกรรมของแทบทุกชนชาติ โดยเฉพาะโบราณสถานต่างๆ ซึ่งจะมี รูปคน รูปเรขาคณิต และรูปสัตว์ เป็นส่วนประกอบอยู่เสมอ อีกทั้งแต่ละชนิด ยังมีความหมายที่น่าสนใจ ยิ่งเป็นโบราณสถานที่ไม่สมบูรณ์ หักพังไปตามกาลเวลาหรือสถานการณ์ ก็มีความน่าค้นหามากยิ่งขึ้น
“ส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง” เป็นประสบการณ์ใหม่ ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เดินในแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่นเดียวกับกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจะทำการส่งเสริมแนวคิด “มรดกพระร่วง” เมืองสุโขทัย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
โดยครั้งนี้ ได้เชิญชวนให้เราไปตามหา Wonder Five ห้าสัตว์อัศจรรย์ ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ (หากไม่มีคนชี้เบาะแสให้) แต่ฟังแล้วน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งครั้งนี้มีผู้บรรยายที่มีความเชี่ยวชาญ อย่าง “พี่โด่ง-สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ” นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง มาเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งสนุกสนานกว่าที่คาดไว้มาก
สัตว์ต่างๆ ที่ได้ชื่อว่า Wonder Five ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปชมกัน โดยเราจะบอกว่ามีอยู่ในวัดไหนบ้าง บางอย่างหน้าตาไม่คุ้นก็มีภาพมาให้ชม พร้อมความหมายของสัตว์ต่างๆ ที่ พี่โด่งบรรยายให้ฟัง
เริ่มต้นจาก “นาค” สัตว์ในจินตนาการที่ชาวไทยและชาวเอเชียอาคเนย์รู้จักดี รูปร่างคล้ายงูขนาดใหญ่ มีหงอน มีถิ่นอาศัยอยู่ใต้โลก เป็นผู้รักษาทรัพย์ และผู้ดูแลแผ่นดิน และควบคุมความสมดุลของน้ำในโลก มีตำนานมากมายที่เกี่ยวกับนาค ทั้งในพุทธประวัติ เทวนิยาย รวมถึงนิยายพื้นบ้าน ในวัฒนธรรมพระร่วงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องพระร่วง ซึ่งเชื่อว่าท่านเป็นลูกของนางนาค นอกจากนี้ในทางโบราณคดียังเชื่อกันว่านาคในนิยายโบราณหมายถึงคนพื้นถิ่น และความเคารพนับถือนาคก็พัฒนามาจากความเกรงกลัวต่องู นั่นเอง
รอบนี้เราพบนาค บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร (วัดพระปรางค์) ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย วัดนี้ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่สร้างได้แน่ชัด แต่จากหลักฐานการก่อสร้างแบบยุคขอมเรืองอำนาจ คาดว่าสร้างมาไม่ต่ำกว่า 800 ปี และสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนเป็นเมืองศรีสัชนาลัย นอกจากนาคแล้วยังพบราหูที่วัดนี้ด้วย
“มกร” เป็นสัตว์ในจินตนาการ เกิดจากสัตว์หลายๆชนิดผสมกัน เช่น งู ปลา สิงห์ ช้าง กวาง เป็นต้น มกรปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมของหลายๆวัฒนธรรม เช่น อินเดีย ลังกา พุกาม เขมร และไทย ในสมัยสุโขทัยมีการสร้างมกรหลากหลายรูปแบบ ทั้งเดี่ยว และสร้างคู่กับนาค โดยมกรมักอ้าปากคายนาคออกมา ซึ่งเชื่อว่าอาจมีเป็นปรัชญาที่สะท้อนแง่มุมทางความคิดต่างๆ
อาทิ เชื่อว่ามกร และนาค เป็นสื่อแทนถึงน้ำที่อยู่บนพื้นและน้ำในอาอากาศ มกรคายนาคจึงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเกี่ยวพันกันของน้ำเหล่านี้ ในทางการเมือง ในทางพระพุทธศาสนาก็เชื่อกันว่า นาคหมายถึงชีวิตมนุษย์ ที่มักถูกมกรคือความลุ่มหลงกลืนกินครอบงำ หากนาค (คือตัวเรา) ถูกมกร (คือความลุ่มหลง) คาบเอาไว้ ย่อมเดินทางไปสู่ปลายทางคือนิพพานได้ยากนั่นเอง
ในทริปนี้เราพบมกรที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และวัดศรีสวาย ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มกรจะมีหน้าตาแปลกๆ เหมือนม้า นาค ปลา มารวมกันแบบงงๆ มกรจะอยู่ใต้นาค จุดสังเกตคือฟันซี่ๆ เรียงเป็นตับ ส่วนใหญ่จะคายนาคออกมาจากปาก
“กาล” หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เกียรติมุข เป็นสัตว์ประหลาดในจินตนาการ เชื่อว่าเกิดขึ้นจากระหว่างคิ้วของพระอิศวรยามเมื่อกำลังพิโรธ เมื่อกำเนิดขึ้นแล้วก็กลืนกินสรรพสิ่ง แม้กระทั่งตัวเองก็ถูกตัวเองกิน เหลือเพียงส่วนใบหน้า และท่อนแขน ก่อนจะถูกพระอิศวรสาปให้ไปประจำอยู่ในทางเข้าศาสนสถานเพื่อกลืนกินกาลเวลาเป็นอาหาร กาลจึงเป็นเครื่องสะท้อนปรัชญาว่ากาลเวลากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่ควรประมาทนั่นเอง เรามักพบหน้ากาลอยู่บริเวณซุ้มประตูของศาสนสถาน ตามตำนานที่กล่าวไว้ และมีผู้สับสนระหว่างกาลกับราหูอยู่เสมอ จุดสังเกตขึ้นราหูมักจะอมพระจันทร์หรือพระอาทิตย์อยู่ในปากเสมอ แต่กาลไม่มี
(กาลจะอยู่ที่ วัดเจดีย์เจ็ดแถว อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บริเวณเจดีย์ด้านใน)
“ช้าง” เป็นสัตว์มงคลสำหรับชาวเอเชียมาตั้งแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคง บุญญาธิการ เราจึงพบช้างในเรื่องเล่าเก่าแก่และงานศิลปกรรมเสมอ ในเมืองสุโขทัยนิยมสร้างประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบเจดีย์ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ลังกา เพื่อแสดงสถานะสำคัญของพระพุทธศาสนานั่นเอง
น่าจะเป็น 1 ใน Big Five ที่คุ้นหน้าคุ้นตาและหาง่ายที่สุด เพราะชื่อวัดก็บอกแล้วว่า วัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ฝั่งตรงข้ามของวัดเจดีย์เจ็ดแถว บรรดาช้างก็ตัวโตกว่าที่อื่น ไม่ต้องเพ่งตามองให้ยาก
วัดช้างล้อม อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า
“ปลา” อาจจะเป็นสัตว์ธรรมดาที่เราคุ้นเคย แต่ปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในศิลาจารึกยังมีสำนวนว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และพบปลาอยู่ในงานศิลปกรรมต่างๆมากมาย โดยเฉพาะรูปปลาที่ปรากฏในชามสังคโลก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน และปลากา เป็นต้น มีตำนานมากมายที่เกี่ยวข้องกับปลา เช่น คราวน้ำท่วมโลกพระนารายณ์อวตารเป็นปลาช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์ต่างๆไม่ให้สูญพันธุ์ เชื่อกันว่าแกนจักรวาลเป็นภูเขาชื่อพระสุเมรุ มีปลายักษ์ชื่ออานนท์หนุนแผ่นดินไว้ เมื่อปลาพลิกตัวก็เกิดแผ่นดินไหว ในเมืองสุโขทัยมีตำนานกำเนิดปลาพระร่วง ซึ่งมีลำตัวบางใส เป็นต้น ปลามีธรรมชาติว่ายเวียนอยู่ในน้ำ บางครั้งก็ใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์ถึงการเวียนว่ายตายเกิด
ปลาเป็นสัตว์ที่ปรากฏอยู่มากในเครื่องสังคโลก อันเป็นศิลปะพื้นถิ่นของคนสุโขทัย
นอกจากนี้ยังพบศิลปกรรมรูปสัตว์อื่นๆ มากมายในวัฒนธรรมสุโขทัย อาทิ
สิงห์ เป็นเครื่องหมายของความสง่างาม น่าเกรงขาม แสดงถึงความเป็นผู้นำ เราพบรุปสิงห์ไม่บ่อยนักในศิลปกรรมสุโขทัย แต่พบมากในเขมร และอยุธยา สันนิษฐานว่ารุปสิงห์ที่พบในเมืองพระร่วงอาจถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่อยุธยามีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยแล้ว
หงส์ เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และสรวงสวรรค์ ในศาสนาฮินดู หงศ์เป็นพาหนะของพระพรหม และพระวรุณ เจ้าแห่งฝน หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณืด้วย
วานร เป็นสัตว์ที่พบมากในป่าเอเชีย นายช่างศิลปกรรมมีความคุ้มเคยกับวานรจึงนิยมนำมาสร้างสรรค์ในงานศิลปกรรม มักอยู่ควบคู่กับลายพรรณพฤกษา มีนิทานมากมายที่เกี่ยวกับวานร โดยเฉพาะในชาดกที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นวานรในอดีตชาติ
ม้า เป็นเครื่องหมายของพละกำลัง และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นิทานชาดกมีเรื่องเล่าของพระพุทธเจ้าที่เสวยพระชาติเป็นม้า สัตว์ชนิดนี้เป็นพาหนะของเทพเจ้ามากมาย เช่น พระพาย พระอาทิตย์ และพระจันทร์ เป็นต้น
โค หรือกระบือ ในวัฒนธรรมพระร่วง พบรูปโคทำด้วยสังคโลกอยู่จำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่าอาจใช้เป็นเครื่องบูชาและของเล่น แสดงถึงความผูกพันของมนุษย์กับโค และกระบือ ซึ่งนำมาใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและการค้า ในศาสนาพราหมณ์ โคเป็นพาหนะของพระศิวะ และพระศุกร์ ส่วนกระบือเป็นพาหนะของพระอังคาร
นก เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในวัฒนธรรมพระร่วง พบรูปนกทั้งในประติมากรรม และเป็นสัญลักษณ์ในกระบวนลายของผ้าซิ่นไทยพวน ซึ่งมีความหมายแฝงไว้ อาทิ นกคู่ หมายถึง ความรักยืนนาน นกหมู่หมายถึงความสามัคคี นกแถว หมายถึงระเบียบวินัย เป็นต้น
ครุฑ เทพพาหนะของพระนารายณ์ สัญลักษณ์ของพลังอำนาจ
กินนร/กินรี สัตว์ในจินตนาการที่เกิดจากการผสมผสานคนกับนก เชื่อว่ามีถิ่นพำนักอยู่ในป่าหิมพานต์
สุนัข สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์และความฉลาดหลักแหลม ในเมืองสุโขทัยมีภาพจำหลักชาดกบนแผ่นหินเล่าเรื่องในอดีตชาติที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุนัข
เป็นสองวันอันเต็มอิ่ม ในดินแดนประวัติศาสตร์สุโขทัย เมืองที่อาจจะยังเงียบๆ เรื่องการท่องเที่ยว แต่นั่นคือเสน่ห์และพลังที่ทำให้สุโขทัยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน ใครไปเยือนก็มักจะถูกใจกับความเงียบสงบ แต่นี่คงเป็นเสี้ยวเดียวของสุโขทัย เพราะนอกจากโบราณสถานแล้ว เรายังได้ท่องเที่ยวไปชมของดีในชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งจะเล่าฟังในโอกาสต่อไป อีกท้ัั้งในสุโขทัยยังมีโบราณสถานที่ถูกค้นพบอีกมาก ยังมีวัดอีกกว่าร้อยแห่งที่น่าสนใจ
อาจจะทำให้เราส่องสัตว์ในดินแดนซาฟารีทางประวัติศาสตร์ ได้อีกเป็นโขยง เรื่องนี้อยากให้รู้ถึงนักท่องเที่ยวตัวจิ๋ว คิดว่าการส่องสัตว์ในดินแดนประวัติศาสตร์จะเป็นที่จดจำและประทับใจของเด็กๆ ได้ อย่างน้อยๆ ก็กลับไปบอกใครๆ ได้ว่า “รู้จักมกรไหม ไปเจอมาแล้วนะ” เหมือนที่ในใจเรากำลังบอกตัวเองในขณะนี้