เรื่องเล่าจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก
การลักลอบล่า ครอบครอง และซื้อขายสัตว์ป่า เป็นข่าวที่ทุกคนได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กจนโต แม้ว่าจะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่คดีเหล่านี้ก็ยังไม่เคยลดน้อยลงเลย
สัตว์ป่าคุ้มครองบางตัวที่เคยถูกเลี้ยงในบ้าน เมื่อถึงวันที่ตัดสินใจเลิก หรือดูแลไม่ไหว ก็มักจะเอาไปฝากไว้ที่วัด ใช้วิธีฟอกตัวเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เป็นภาระของหลวงพ่อที่ต้องส่งต่อสัตว์เหล่านั้นไปให้ผู้ดูแล
สัตว์บางชนิดเกิดมาจากแบบผิดกฎหมาย อย่างเสือโคร่งเบงกอล ที่ถูกเพาะเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อส่งขายไปยังประเทศจีน สายพันธุ์ของพวกมันอาศัยอยู่แถบปากีสถานและบังคลาเทศ เมื่อจับกุมได้แล้วจะทำการส่งตัวกลับบ้านก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถือว่าเป็นสัตว์เพาะเลี้ยง ไม่ใช่สัตว์ที่เกิดและเติบโตในป่าต้นกำเนิด
ดิน น้ำ ลม ไฟ
การมาเยือนครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความแตกต่าง หนึ่งในเจ้าแมวยักษ์ที่เคยเคร่งขรึมในวันก่อน วันนี้ช่างดูงุ่นง่าน หวาดระแวง ส่งสายตาดุดันพร้อมเสียงคำรามกึกก้องเป็นช่วง ๆ ทำเอาคนที่ยืนหน้ากรงสะดุ้งโหยงแทบทุกครั้ง
ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ชื่อของเสือโคร่งเบงกอลทั้ง 4 ตัวที่ว่านั้น พวกมันเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก เมื่อปี 2550 พวกมันเป็นเสือที่ไม่เคยรู้จักป่า และเคยถูกตีราคาตัวละ 1.5 ล้านบาท
กรงที่มีความกว้างไม่เกิน 20 เมตรคือบ้านของมัน ดูภายนอกก็เป็นเสือที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ลึก ๆ แล้ว ก็คือเสือที่มีเพียงลาย ไร้ซึ่งทักษะความสามารถในการใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ป่า พลังงานบางอย่างของมันถูดลดทอนลงไปภายใต้กรงขัง
หากพวกมันอยู่ในป่า จะมีอายุถึง 40-50 ปี แต่ในกรงขังแบบนี้จะลดทอนชีวิตไปถึงครึ่ง
โตโน่
“โตโน่” เป็นหมีตัวยักษ์ขวัญใจนักท่องเที่ยว เพราะมันดูอารมณ์ดีกว่าใครอื่น แต่ความสัมพันธ์ของเราอาจจะจำกัดอยู่ห่าง ๆ นอกกรงเท่านั้น
โตโน่เป็นหมีน้อยที่ถูกพรากพ่อแม่จากเหตุการณ์ไฟป่าตั้งแต่ปี 2563 มันอาศัยไหวพริบด้วยการแอบไปหนีในท่อนซุง จนรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ต้องมาพักรักษาตัวและได้รับการดูแลมาจนถึงวันนี้ แต่เมื่อเข้ามาอยู่กับคนและถูกเลี้ยงด้วยนมวัวจนเติบใหญ่ ตอนนี้จึงยังกลับเข้าป่าไม่ได้
ราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่โตโน่และเพื่อนหมีต้องกินน้ำหวาน ๆ ทางศูนย์ต้องสั่งซื้อน้ำผึ้งมาให้พวกมัน
ได้ยินแล้ว อยากรู้ว่ารสชาติแห่งฤดูกาลของโตโน่จะหวานชื่นขนาดไหน
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก ตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมโยงป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึง 10 จังหวัด ที่นี่เป็นศูนย์ดูแลสัตว์ป่าทั้งที่ป่วย บาดเจ็บ พลัดหลง รวมทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งเป็นของกลางจากการลักลอบซื้อขาย ล่าสุดกับบรรดาฝูงลิงนับพันตัวที่ถูกย้ายมาจากจังหวัดลพบุรี มีที่นี่มีเจ้าหน้าที่เพียง 18 คน รองรับการดูแลสัตว์กว่า 2,000 ชีวิต ตั้งแต่เสือ หมี กวาง นาค นก ลิง เต่า อีกัวนา ฯลฯ แต่ละวันจะต้องใช้งบประมาณค่าอาหารราว 4,000 – 5,000 บาท ขณะที่งบประมาณทั้งปีของศูนย์ฯมีอยู่ 1 ล้านเศษ ๆ ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ฯลฯ เป็นงบที่ต้องใช้เดือนละประมาณ 20,000 บาท แต่ได้งบประมาณส่วนนี้ทั้งปีมีเพียง 30,000 บาทเท่านั้น
และนี่คือเรื่องราวที่ทำให้หลายคนหันมาแสดงน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลก ในบ้านหลังสุดท้ายของพวกเขา
บ้านหลังสุดท้าย
เรื่องมันคงจะง่ายขึ้นหากสัตว์ป่าจะได้อยู่ในป่าจริง ๆ เพราะสัตว์ที่ถูกจับตัวมา หรือเพาะเลี้ยงด้วยฝีมือมนุษย์ หรือเจ้าลิงตัวป่วนที่แฝงเป็นเจ้าบ้านในเมืองลพบุรี พวกมันไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตในป่ามาก่อน แม้ว่าจะได้รับการดูแลจนแข็งแรง หรือจบคดีความเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปยังวงจรที่พวกมันไม่เคยรู้จักมาก่อน
ทางศูนย์ฯจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการเตรียมสัตว์เพื่อปล่อยคืนสู่ป่า ในช่วงเวลานั้นอาหารต่าง ๆ จะต้องหามาจากป่าที่ต้องการพาพวกมันกลับไป ต้องฝึกให้รู้จักการใช้ชีวิต เช่น เมื่อเห็นคนแล้วต้องวิ่งหนี หากยังวิ่งเข้าหาหรือไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ก็จะกลายเป็นเหยื่อของพรานป่าหรือศัตรูในทันที
เจ้าดิน น้ำ ลม ไฟ จึงเป็นเสือเบงกอลที่ต้องฝากชีวิตไว้ในบ้านหลังสุดท้ายแห่งนี้
ลิงลพบุรี
ลิงลพบุรีชุดแรกเข้ามาที่ศูนย์ฯ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว จากฝากเลี้ยงกลายเป็นยก (ภาระ) ให้ เป็นลิงฝูงใหญ่ที่รวม ๆ แล้วพันกว่าชีวิต กลุ่มที่เคยยกพวกตีกันกลางเมืองจนเป็นข่าว ก็เป็นลิงชุดหลัง ๆ ที่ตามกันมา วันแรกที่รับตัวมา เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังทำแผล เย็บแผลกันทั้งคืน
ลิงเป็นสัตว์ที่อยู่ไม่นิ่ง วัน ๆ พวกมันเขย่ากรงและวิ่งซนไปมาไม่หยุด ทำให้กรงเสื่อมสภาพ เจ้าหน้าที่ต้องทำการซ่อมแซมอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดเรื่อง เคยมีลิงที่แหกกรงหนีออกไปป่วนชาวบ้านชาวเมือง จนทางศูนย์ฯต้องไปตามกลับมา
การจับสัตว์ที่มีทั้งกรงเล็บและเขี้ยวคมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยยาสลบเท่านั้น
บางตัวยิงยาสลบเข็มเดียวก็จอด บางตัวต้องยิงถึง 5 เข็ม จึงจะอ่อนแรง
อาหาร ยาและเวชภัณฑ์
ทางศูนย์ฯมีการแยกประเภทอาหารให้เหมาะกับสัตว์แต่ละชนิด อย่างพวกลิง หรือหมี จะใช้อาหารสุนัขซึ่งมีโปรตีนสูงผสมกับข้าวและผักต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป บางวันอาจจะเป็นแตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง ฯลฯ ขณะที่เสือเป็นสัตว์ที่กินเพียงเนื้อสด และเต่าที่เราคิดว่ากินแต่ผักบุ้ง พวกมันก็เป็นสัตว์กินเนื้อด้วยเช่นกัน
นอกจากอาหารที่ต้องใช้ปริมาณมากในแต่ละวัน ยังมีสิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นอีกภาระหนักของทางศูนย์ฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถประเมินงบประมาณที่แน่นอนได้ เพราะความเจ็บป่วยของสัตว์ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง “ยาและเวชภัณฑ์” จึงมีความจำเป็นมาก ทั้งน้ำเกลือที่ใช้ล้างแผล ยาสลบที่จำเป็นมากในการรักษาพยาบาลสัตว์
ยาเหล่านี้ใช้สำหรับสัตว์แต่มีคุณสมบัติคล้ายกับของที่ใช้กับคน เฉพาะยาสลบมีราคากว่า 1,000 บาทต่อขวด
แปรงฟันให้เสือ
สัตว์ป่าที่ต้องอาศัยอยู่แต่เพียงในกรง ไม่มีโอกาสได้วิ่งเล่น ขบเขี้ยวหรือฝนเล็บตามธรรมชาติ ใน 1 ปี เจ้าหน้าที่จึงต้องทำความสะอาดพวกมันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันให้เสือ และหมี รวมทั้งตัดเล็บให้พวกมัน
หน้าร้อนอาจจะต้องอาศัยรถดับเพลิงมาฉีดพรมให้ความชุ่มฉ่ำบ้าง กรงของมันก็ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเกิดกิจกรรม “ล้างกรงเสือ” และ “ล้างกรงหมี” โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาช่วยล้างกรงทั้งภายในและภายนอก โดยภายใน 1 กรง จะมีประตู 2 ชั้น เพื่อใช้กั้นสัตว์และคนในช่วงที่มีการทำความสะอาด เป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย แต่ก็ต้องอยู่ห่างจากซี่ลูกกรง และทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
“แปรงฟันให้เสือ”อาจจะฟังเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าพวกมันฟันผุ มันจะไม่กินอาหาร ภายใน 1 เดือน ก็จะตายจากไป
นักท่องเที่ยว
เมื่อคนใกล้ชิดธรรมชาติได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็มีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นไปด้วย ด้วยพื้นที่ของศูนย์ฯที่เชื่อมโยงป่าเขาใหญ่ ทำให้ที่นี่ต้องรับดูแลสัตว์ที่มีทั้งขาขาด แขนขาด จากอุบัติเหตุบนถนนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัจจุบันจึงมีการจำกัดความเร็วในการขับขี่ แต่ก็ยังมีเรื่องราวลักษณะแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ
จึงเป็นเรื่องที่ต้องย้ำถึงความระมัดระวังในการขับขี่ในเขตอุทยาน รวมทั้งงดเว้นการให้อาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด
แต่ถ้าคุณอยากให้อาหารสัตว์ อยากเห็นพวกมันใกล้ ๆ แบบระยะหวั่นใจ ก็ตรงไปที่ศูนย์ดูแลสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก ไปเที่ยวแล้วขนผักถุงใหญ่ ๆ ไปฝากเพื่อน ๆ กันได้ อย่าลืมว่าพวกยาและเวชภัณฑ์เป็นสิ่งที่มีความต้องการมาก
หรือแค่แวะมาเที่ยว มาดูให้เห็นความเป็นไปก็ได้ฟีลเหมือนมาเที่ยวสวนสัตว์ ในศูนย์ฯมีความร่มรื่นมาก แถมยังใกล้กับมุมสวยของอ่างเก็บน้ำห้วยปรือ
เชื่อว่าเมื่อได้มาพบกับพวกเขาแล้ว จะมองเห็นถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของสัตว์ร่วมโลก ส่วนเรื่องของความช่วยเหลือใด ๆ ก็ดำเนินการได้ตามใจปรารถนา
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก
อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ ต.เขาพระ จ.นครนายก
081 996 2925
(ขอขอบคุณ ทริป เมืองรอง ต้อง “ออก” เที่ยว เส้นทางกทม. – นครนายก-ปราจีนบุรี โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน)
เที่ยวนครนายก-ปราจีนบุรีกันต่อ กับ 14 จุดตามหัวใจเรียกร้อง เมืองรองต้อง “ออก” เที่ยว >>> https://www.meetthinks.com/travel-trip-nakhon-nayok-prajin-buri/
#เมืองรองต้องออกเที่ยว
#สุขทันทีที่เที่ยวนครนายก
#เมืองน่าเที่ยว