ปู๊นๆ ไป ปั่น หรรษาแบบโลว์คาร์บอน
ทราบไหมว่า การเดินทางโดยรถยนต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 104 กรัมต่อหนึ่งคนต่อหนึ่งกิโลเมตร ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมต่อคนต่อหนึ่งกิโลเมตร และแน่นอนว่า หากเลือกใช้จักรยานในการเดินทางปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเป็น 0
นั่นหมายความว่า ถ้านักท่องเที่ยวเลือกเดินทางในรูปแบบคาร์บอนต่ำ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ได้ 10 เท่า ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวในแนวนี้ ยังทำให้ประหยัด ได้ออกกำลัง ได้มุมมองที่กว้างกว่า และมีเวลาได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติได้เต็มอิ่มมากขึ้น
นี่เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่มีมาโดยตลอดของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยคำว่ายั่งยืนนี้ ต้องสอดคล้องไปอย่างกลมกลืนระหว่าง เศรษฐกิจที่เติบโตของการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการกระจายรายได้ ความเข้าใจในการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและวิถีในชุมชนของตนเอง นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าบ้าน ผู้มาเยือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบดูแล
MeetThinks มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม “ขึ้นรถไฟไปเที่ยว ใกล้นิดเดียวพัทยา” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ อพท. การรถไฟแห่งประเทศไทย และสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
โดยก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ ได้เปิดตัวรถไฟเที่ยวพิเศษที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวในภาคตะวันออก เป็นรถไฟโดยสารปรับอากาศ ชั้น 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านพลูตาหลวง ซึ่งต้องบอกว่า นั่งสบาย เพลิดเพลิน โดยทริปนี้เรามีขวดน้ำส่วนตัว สำหรับใช้ในการเติมน้ำ ซื้อเครื่องดื่ม เพื่อลดการใช้พลาสติกได้อีกทาง
ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จากสถานีหัวลำโพง รถไฟจะเคลื่อนขบวนออกมาตั้งแต่เวลา 6.45 น. โดยจะไปถึง สถานีบ้านพลูตาหลวง เวลา 9.50 น. ส่วนขากลับจะออกจากสถาบ้านพลูตาหลวง เวลา 15.50 น. ถึงหัวลำโพงประมาณ 18.55 น.
นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่ด้วยความเป็นขบวนพิเศษระยะสั้น จึงไม่มีตู้เสบียง และจอดแต่ละสถานีเพียงช่วงสั้นๆ แถมยังเป็นตู้แอร์ จึงไม่ใช่ขบวนที่บรรดาแม่ค้าจะขึ้นมาขายอาหารหรือกวักมือซื้อกันทางหน้าต่างได้ จึงควรเตรียมอาหารและน้ำดื่มไปเอง แต่ขอเป็นอาหารที่ไม่รบกวนบรรยากาศอันแสนสบายในตู้แอร์ล่ะ
นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากจะไปขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพงแล้ว ยังสามารถเลือกขึ้นตามสถานีทางผ่าน ก่อนจะออกจากกรุงเทพฯ เช่นคนที่อยู่ย่านรามคำแหง ก็ไปขึ้นที่สถานีหัวหมาก ซึ่งรถไฟขบวนนี้จะเทียบชานชลาหัวหมาก ราวๆ 7.15 น. (ยังไงก็ต้องไปเตรียมตัวรอก่อนนะ) นอกจากนั้น ยังเลือกสถานีเพื่อวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น ชลบุรี พัทยา เกาะล้าน สัตหีบ โดยผู้โดยสารต้องจองที่นั่งล่วงหน้าเท่านั้น
เส้นทาง “ขึ้นรถไฟไปเที่ยว ใกล้นิดเดียวพัทยา” ในครั้งนี้ มุ่งหาเส้นทางเพื่อความหรรษาในการปั่นจักรยาน และยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของการมาเที่ยวพัทยา ซึ่งยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอีกมากที่น่าสนใจอีกมาก
จากสถานีหัวหมาก เราใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เป็นสองชั่วโมงที่ผ่านไปไว จนนึกไปว่านี่เรามีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นแล้วหรือ แต่ความไวที่ว่านั้น มาจากความสุขและความเพลิดเพลินของข้างทาง ถึงแต่ละสถานีก็อยากดูโน่นชมนี่ไปเสียหมด
ผ่านสถานีพัทยา สถานีตลาดน้ำ 4 ภาค (ที่ลงจากสถานีแล้วเดินไปตลาดได้เลย) เราลงกันที่ สถานีวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร (ค่าโดยสารครั้งนี้ 170 บาท) แวะพูดคุยเรื่องเส้นทางและกติกาในการปั่นจักรยานกันก่อน เพราะสองวันนี้ ขาปั่นหลากสไตล์ราว 50 คน จะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน
ออกสตาร์ทจากสถานีวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี สู่ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร แวะชมความงดงามของพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวราราม โดยมีสมเด็ขพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ และมีเจตนารมณ์ในการสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประจำรัชกาลที่ 9 ในวาระทรงครองราชย์ฯ 50 ปี
จากจุดนี้เราเดินทางกันต่ออีก 5 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องพระราชดำริ เป็นอีกมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวอันร่มรื่น เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ใกล้พัทยามากที่สุด
สวนป่าสิริเจริญวรรษฯ ตำบลนาจอมเทียน เป็น 1 ใน 11 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพื้นที่รวมกว่า 3,900 ไร่ ซึ่งในปี 2525 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเห็นความเดือนร้อนของราษฎร ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมบริเวณเขาชีโอนให้กลับเป็นป่าที่สมบูรณ์
ปัจจุบันกลายเป็นป่าผืนใหญ่ที่ใกล้กับพัทยา ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ และเป็นที่สนใจของนักปั่นจักรยาน ส่วนคนที่ถามว่าจะมาวิ่งได้ไหม ตอบว่าไม่ที่นี่เน้นเส้นทางปั่นจักรยานโดยเฉพาะ จึงไม่เหมาะกับการเข้ามาวิ่ง
ที่นี่มีเส้นทางปั่นจักรยานราว 18 กิโลเมตร กว่า 200 โค้ง จะปั่นแบบระยะสั้นก็ได้ ผู้ที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต้องติดต่อเข้ามาก่อนที่ 033-046037 081-7824032 วันนี้เราพักรับประทานอาหารเที่ยงกันที่นี่ บอกได้เลยว่าแม่ครัวฝีมือเยี่ยม หากสนใจไปทำกิจกรรมแบบหมู่คณะสามารถติดต่อล่วงหน้าได้
พักกายเติมพลังกันจนอิ่มท้องแล้วไปต่อกันที่ วิหารเซียน ระยะทางสบายๆ ราว 6 กิโลเมตร อากาศร้อนท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา ไม่เป็นอุปสรรคกับนักปั่นที่เตรียมตัวมาอย่างดี
มาถึงวิหารเซียน หรือ อเนกกุศลศาลา เป็นสถานที่รวบรวมวัตถุโบราณของงานศิลปะไทยและจีน เป็นอาคารขนาดใหญ่ 3 ชั้น บนพื้นที่ 7 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับพระราชทานจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านนอกอาคารจัดแสดงรูปหล่อโลหะแปดเซียนข้ามทะเล รูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร รวมทั้งรูปหล่อของอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทย-จีน สร้างความสัมพันธ์ ไทย-จีน มีความเชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย โดยที่นี่เป็นศูนย์รวมศิลปกรรม สมบัติล้ำค่าไทย-จีน ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย ใครสนใจเข้าชมความงดงามและล้ำค่า พร้อมสีสันของอาคารที่สดใสเป็นสง่า สามารถเข้าชมได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม 50 บาท
เป็นวันเดียวที่เที่ยวได้ครบรส แต่ก็ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะจากจุดนี้ เรายังได้เดินทางไปยังมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาผู้พิการ เห็นชื่อเป็นทางการแบบนี้ บอกได้เลยว่ามีดีอยู่มาก ทั้งเรื่องราวของการเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การบริหารจัดการที่น่าสนใจ รวมทั้งมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่นี่ด้วย ซึ่งเราจะเรียบเรียงมานำเสนอในโอกาสต่อไป
ความสุขจากการเดินทาง ไม่เฉพาะเส้นทางที่ได้พบเจอเท่านั้น วันนี้เราได้เห็นรอยยิ้มและความสุขของนักปั่น พร้อมทั้งความสัมพันธ์ของคนไม่เคยรู้จักกันที่เพิ่มพูนขึ้น ด้วยมีหัวใจเดียวกัน ในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคม ด้วยการเลือกท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เห็นแล้วก็น่าชื่นใจ จนแดดร้อนๆ แพ้พ่ายไปเลย
คืนนี้เราพักค้างคืนกันที่พัทยา ชมความงามของท้องทะเล กินอาหารอร่อยๆ แล้วพักผ่อนเตรียมแรงเพื่อออกเที่ยวกันต่อไป
เรื่องเล่าจากพนักงานรถไฟ
รถไฟขบวนพิเศษนำเที่ยว กรุงเทพฯ-บ้านพลูตาหลวง (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์) ทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2561 จะทำการทดลองวิ่งถึงเดือนวันที่ 30 กันยายนนี้ ก่อนที่จะพิจารณาว่า จะเปิดให้บริการเป็นประจำต่อไปหรือไม่
สถานีที่ผู้โดยสารนิยมลงมากที่สุด คือ พัทยา รองลงมาคือ สวนนงนุช ตลาดน้ำสี่ภาค และบ้านพลูตาหลวง
ในรถไฟขบวนนี้ จะเป็นเป็นรถไฟสปรินเตอร์ 3 ตู้ ตู้โดยสารแบบนั่งปรับอากาศทั้งหมด ใน 1 ตู้จะมี 64 ที่นั่ง พี่พนักงานรถไฟบอกว่า ตู้กลางจะมีที่นั่งราว 72 ที่นั่ง โดยจะกันไว้ให้พนักงาน แต่หากมีผู้โดยสารเกินมา พนักงานก็อาจจะสละที่นั่งตรงส่วนนั้นให้
จากการเปิดให้บริการมา พี่เขาบอกว่า เต็มทุกเสาร์-อาทิตย์ และต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น คนที่ขึ้นกลางทาง อาจจะไม่มีที่นั่ง ทางสถานีจะบอกว่าสามารถโดยสารได้ตามความสมัครใจ แต่ไม่มีที่นั่งให้นะ
ปั่นเที่ยวพัทยาได้ด้วยตัวเอง
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Smart Pattaya Plus เพื่อศึกษาข้อมูลและเส้นทางท่องเที่ยว รวมทั้งเส้นทางปั่นจักรยานได้ด้วยตัวเอง รองรับ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ Online และ Offline มีระบบเสียงนำทาง Voice Guidance
หมายเหตุ : จักรยานที่เหมาะสมกับการเดินทางในลักษณะนี้ คือ การจักรยานแบบพับได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่การรถไฟ จะมีพนักงานบริการช่วงขึ้นลง และการจัดหาที่เก็บ โดยสามารถแจ้งความต้องการได้ ตั้งแต่ตอนจองตั๋ว