เที่ยวอยุธยา ตามรอยศรัทธาพระเจ้าตาก
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี คนไทยรู้จักและซาบซึ้งในคุณงามความดีจากพระปรีชาสามารถอันสูงส่งจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะในสมัยที่แผ่นดินกรุงศรีถูกข้าศึกบุกทำลายเสียหายในปี พ.ศ.2310 จนกระทั่ง “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ได้นำทัพกอบกู้เอกราชบ้านเมืองกลับคืนมาได้
เมื่อครั้งอดีตทัพกู้ชาติของ “พระเจ้าตาก” ได้เดินทางผ่านหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีสถานที่หลายแห่งอยู่ในเส้นทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ผสานรากเหง้าแห่งความศรัทธา ชวนให้ตามรอยไปค้นหา พลาดไม่ได้กับสายมู กับการเดินสายขอพรพระเจ้าตาก ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยความงดงามมาแต่โบราณ
พระราชประวัติฉบับย่อ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นชิน เป็นบุตรของขุนพัฒน์ (นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้) และ นางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรียุธยา
ในวัยเด็กมีหน่วยก้านดี เจ้าพระยาจักรีผู้ (ตำแหน่งสมุหนายกในตอนนั้น) เห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม โดยเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง) บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร
เมื่อสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปี บวชอยู่ 3 พรรษา จึงลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงานด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง
ต่อมา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ได้ทำความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า “พระยาตากสิน”
หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310
(อ่านประวัติฉบับเต็มได้ที่ https://www.nac2.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/1743)
วัดเชิงท่า
“วัดเชิงท่า” เป็นวัดโบราณ วัดนี้มีชื่อเรียกหลากหลาย รวมทั้ง “วัดโกษาวาส” ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล “เจ้าพระยาโกษาธิบดี” (โกษาปาน)
ที่นี่เคยเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของนายสิน หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาภาษาไทย ขอม และพระไตรปิฎกกับพระอาจารย์ “สมภาร ทองดี” ที่วัดแห่งนี้
วัดเชิงท่า
ตำบลวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดสมณโกฏฐาราม
เป็นวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (โกษาเหล็ก)
เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินบวชเป็นพระภิกษุกับท่านทองด้วง (ร.1) ได้เคยจำพรรษาที่วัดนี้และได้ออกบิณฑบาตพร้อมกันเสมอ
สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการกราบสักการะ “พระศรีสมณโกฏิบพิตร” พระประธานในพระอุโบสถสมัยอยุธยาอันงดงามและทรงคุณค่า ก่ออิฐถือปูน มีประตู 4 ด้าน ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว นอกจากนั้นยังมีพระปรางค์องค์ใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย และวิหารอันงดงาม
วัดสมณโกฏฐาราม
ตำบลไผ่ลิง อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
วัดพิชัยสงคราม
“วัดพิชัยสงคราม” จุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินทัพโดยพระยาวชิรปราการ (ตำแหน่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยนั้น)
วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งค่าย หลังจากการรวบรวมกองทัพแล้วได้ทำการสัตยาอธิษฐานขอพรหลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธพิชัยนิมิต) เพื่อให้เดินทางปลอดภัยและได้รับชัยชนะในระหว่างการเดินทัพไปยังจันทบุรี
ปัจจุบัน “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ยังคงงดงาม มีผู้เข้ามาขอพรอย่างไม่ขาดสาย บริเวณริมแม่น้ำยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ผู้ที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเข้ามากราบไหว้ขอพร
วัดพิชัยสงคราม
ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดเกาะแก้ว
วัดเกาะแก้ว อยู่ทางตอนใต้ของวัดพิชัย ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมในช่วงน้ำหลากที่นี่เคยเป็นสถานที่ปักหลักของกองทัพ เพื่อเตรียมทำยุทธนาวีกับกองเรือพม่า เรียกว่า “ค่ายวัดเกาะแก้ว”
ปัจจุบันมีการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามากราบสักการะ พร้อมด้วยรูปปั้นทหารเอกอย่างหลวงพิชัยราคา หมื่นราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พระเชียงเงิน และหลวงพรหมเสนา
วัดเกาะแก้ว
ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ค่ายโพธิ์สามต้น
ชื่อของค่ายโพธิ์สามต้น เป็นที่รู้จักและจดจำของผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หากเราเดินทางมายังพื้นที่ “ค่ายโพธิ์สามต้น” ในปัจจุบันจะไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏให้เห็นร่องรอยในอดีต
ตามพงศาวดารระบุว่า พื้นที่นี้คือบริเวณตั้งค่ายของทัพพม่า และเป็นสถานที่ที่ทัพพระเจ้าตากยกมาตีพม่าจนพ่ายไปในที่สุด จึงเป็นสมรภูมิแห่งความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้
ทางชุมชนบ้านโพธิ์สามต้น ได้จัดทำศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้เพื่อรำลึก และมีพุทธอุทยานขนาดย่อม ไว้ให้ผู้มาเยือนได้เคารพสักการะ
ค่ายโพธิ์สามต้น
ตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช
เป็นวัดป่าใกล้กับ “ค่ายโพธิ์สามต้น” ที่แห่งนี้เคยเป็นวัดร้างเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดที่มีความสงบร่มเย็น และมีพระสงฆ์ประจำอยู่
เอกลักษณ์ที่สำคัญคือ “หลวงพ่อพระพุทธฐานิโย” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปศิลปะสมัยทราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) แกะสลักเนื้อหินทรายอายุเก่าแก่เกือบ 2,000 ปี ปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร ประดิษฐานเป็นองค์ประธานภายในพระอุโบสถ เป็นอีกจุดที่มีผู้นิยมแวะเวียนมากราบสักการะขอพร
ภายในวัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช ยังมีอนุสรณ์แห่งชัยชนะและรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละ อาทิ เจดีย์ศรีพุทเลาศรัทธา ศาลเคารพบรรพบุรุษและบรรพชนผู้หาญกล้า สะพานแห่งชัยชนะ ฯลฯ
วัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช
ตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังมีวัดวาอารามที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ ชวนให้ไปศึกษาและกราบไหว้บูชาเสริมความเป็นสิริมงคลอีกหลายแห่ง
วัดพนัญเชิงวรวิหาร
“วัดพนัญเชิง” เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา ที่มีผู้คนหลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย โดยมีเป้าหมายหลักในการกราบสักการะ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร วัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง เป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง
ชาวจีนเรียก “หลวงพ่อโต” ว่า “ซำปอกง” และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมาก
วัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร
ชมความงดงามของพระอุโบสถทรงกาบเรือสำเภาและเป็นพระอารามที่สำคัญของราชวงศ์จักรี เชื่อว่าสมัยอยุธยา เรือนของนายสิน (พระเจ้าตาก) ซึ่งเป็นบุตรของคหบดีจีนก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน
ภายในวัดเต็มไปด้วยความสวยงามและทรงคุณค่า อาทิ พระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือรัตนบัลลังก์ฐานสิงห์ หน้าตักกว้างประมาณ 1.5 เมตร สูง 2 เมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝาผนังด้านในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม อายุมากกว่า 200 ปี โดยฝีมือของช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2328 ต่อมาได้รับการบูรณะเขียนซ่อมแซมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2393 โดยเค้าโครงของภาพยังคงไว้ในรูปแบบเดิม
“พระวิหาร” สร้างมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แต่มาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรโลหะลงรักปิดทอง ประทับนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย บนฐานชุกชี
ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน) บรรจุพุทธสารีริกธาตุ “เจดีย์ประธาน”เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีมาลัยเถา 3 ชั้นรองรับองค์ระฆัง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 รายล้อมด้วยเจดีย์ทรงเครื่ององค์ระฆังริ้ว ซึ่งเป็นการสร้างเลียนแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อโยธยา พาชิม พาชิล
อิ่มบุญอิ่มใจแล้วไปหาที่อิ่มท้อง พร้อมช้อปของดีประจำกรุงศรีกันที่ “ตลาดน้ำอโยธยา” ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนริมน้ำที่มีของกิน ของใช้ ของฝากถูกใจรวมอยู่ที่นี่ ภายใต้วิถีแบบชาวอยุธยาโบราณ
ใกล้ ๆ กับตลาดมีร้านอาหารจานเด็ดยอดนิยมด้วยคำชมไม่ขาดสาย ดังไกลถึงมิชลินไกด์ นั่นคือร้าน “ครัวแตน” ร้านอาหารสูตรบ้าน ๆ แต่รสชาติเกินต้าน ด้วยความพิถีพิถันในการปรุงและคัดสรรวัตถุดิบดี ๆ เช่น “ผัดเผ็ดกระดูกอ่อน” กินกับกระเทียมดองและใบยี่หร่า เข้ากันดีสุด ๆ “คะน้าปลาเค็ม” ที่มีความหอม กรอบ ลงตัว หรือจะเป็น ทอดมันปลากราย แกงป่าปลาน้ำเงิน สายบัวผัดกุ้ง ฯลฯ อร่อยทุกจาน แต่ละเมนูเต็มไปด้วยความตั้งใจ ช่วงคนเยอะ ๆ อาจจะรอนานสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า คุ้มค่าการรอคอยแน่นอน