Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

Thai Dishcovery  เปิดเกมล่าอาหารจานใหม่ เจาะใจ New Gen

“ต้มยำกุ้ง” เป็นอาหารไทยที่มีความครบเครื่องในหลายมิติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเมืองไทยต่างไม่พลาดที่จะลิ้มลองรสชาติของต้มยำกุ้ง จนกลายเป็นเมนูที่มีชื่อเสียงอยู่ในร้านอาหารไทยในหลาย ๆ ประเทศ

อาหารไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และ “ต้มยำกุ้ง” ก็เป็นหนึ่งในอาหารไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ของประเทศไทย พร้อมด้วยอีกหลากหลาย อาทิ แกงเขียวหวาน แกงพุงปลา ส้มตำ ผัดไทย ข้าวยำ กระยาสารท น้ำพริก ฯลฯ

คนวัยทำงาน หรือมีอายุ 30 ปีขึ้นไป ยังคงคุ้นเคยกับรายการอาหารเหล่านี้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ กลุ่มเด็ก หรือวัยรุ่น โดยเฉพาะคน Gen Z หรือ ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540-2555 ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ยังมีอาหารไทยอีกหลายรายการที่พวกเขาไม่รู้จัก และไม่เคยกินมาก่อน

ข้าวหลามสามหน้า ร้าน Whispering Cafe นครปฐม

“อาหาร” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ในปี 2564 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านอาหารไทย เพื่อสร้างการรับรู้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเมื่อต้นปีได้เสนอ “ต้มยำกุ้ง” เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก หากผ่านการพิจารณาก็จะเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารเมนูแรกจากเมืองไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก้ โดยหลังจากนี้ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็เตรียมเสนอ ผัดไทย ข้าวแกง และกัญชา เป็นรายการต่อไป

โดยแต่ละปีทางยูเนสโก้จะเปิดรับการพิจารณาภูมิปัญญาอาหารทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเพียง 1 รายการ อย่างอิตาลีได้ส่งเมนูพิซซ่าเข้าสู่การพิจารณา และได้รับการขึ้นทะเบียนไปเมื่อ ปี 2560

นอกจากวัฒนธรรมด้านอาหารแล้ว  ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับยูเนสโก 2 รายการ คือ “โขน” เมื่อปี 2561 และ “นวดไทย” เมื่อปี 2562 ส่วน  “โนรา” และ “สงกรานต์ในประเทศ ไทย” ที่เสนอไปแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในปลายปีนี้

รังสรรค์จานใหม่ สู่ อาหารไทยของคนรุ่นใหม่

ล่าสุด กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จับมือกับร้านอาหารชื่อดังของคนรุ่นใหม่  28 ร้าน  จัดโครงการ “Thai Dishcovery : New Dish for New Gen” โดยนำรายการอาหารที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งอาหารไทยดั้งเดิมที่หารับประทานได้ยาก มาสร้างสรรค์เป็นอาหารจานใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้นักกินรุ่นใหม่ได้ลิ้มลอง

เมนูอาหารไทยดั้งเดิมที่จะนำมาต่อยอดเป็นอาหารจานใหม่ ประกอบด้วย 20 รายการ คือ เถ้าคั่วสงขลา จอแหร้ง หมูย่างเมืองตรัง น้ำพริกกากหมู หมูฮ้อง ไก่กอและ ช่อม่วง หมูโสร่ง ม้าฮ่อ แสร้งว่า แกงเผ็ด(ฉู่ฉี่) ข้าวยำ เมี่ยงคำ หมี่ฮกเกี้ยน โอวต้าว ข้าวหลาม ข้ามต้มมัด ขนมฝรั่งกุฏีจีน (ขนมไข่) ขนมหม้อแกง กาละแม กระยาสารท และมังคุดคัด

“จะให้เด็กรุ่นใหม่มาฉีกข้าวหลามกิน เขาก็ไม่ทำกันแล้ว
จึงต้องคิดว่าจะปรับประยุกต์อาหารไทยดั้งเดิมให้เข้ากับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร
ดังนั้นจึงต้องสร้างเมนูใหม่ขึ้นมาแต่ยังคงรสชาติดั้งเดิมเอาไว้
เพื่อให้เมนูอาหารไทยยังคงเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ ”
อัจฉราพร พงษ์ฉวี อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม

อัจฉราพร พงษ์ฉวี

นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้เป็นหน่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของมรดก ได้เห็นคุณค่า มีความรู้สึกหวงแหน อยากที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่กับประเทศไทยสืบไป

โครงการ Thai Dishcovery (ไทยดิชคัฟเวอรี่) ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ต.ค.2564 ณ ร้าน Whispering Café  จ.นครปฐม โดยได้นำเสนออาหารจานใหม่จากการสร้างสรรค์ของเชฟจากร้านอาหารดังหลายร้าน พร้อมทั้งเชิญตัวแทนจากพันธมิตรที่จะช่วยกันประชาสัมพันธ์และเป็นช่องทางการนำเสนออาหารในแคมเปญ Thai Dishcovery ออกไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ กลุ่มธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ “ฟู้ดแพนด้า” และ “โรบินฮู้ด” ที่จะมาร่วมส่งโปรโมชั่นให้กับลูกค้า  สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกของ “สายการบินไทยสมายล์” เป็นต้น

ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

หลังจากแนะนำโครงการพร้อมสิทธิพิเศษต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมลิ้มลองอาหารไทยจานใหม่ ในบรรยากาศที่แสนสดชื่นและผ่อนคลายของ Whispering Café  ที่มีนักจัดสวนชื่อดัง วิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง ทายาทชาวสวนเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ออกแบบ

หยิบเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ให้สนุก

อาหารสำหรับคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ใช่แค่การกินอิ่ม แล้วจบกันไป แต่สิ่งที่ได้จากมื้ออาหาร คือความพึงพอใจ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของศิลปะการออกแบบ การรังสรรค์รสชาติใหม่ ๆ การพลิกแพลงให้มีความทันสมัย หรือการผสมผสานคอนเซ็ปต์ของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไป ซึ่งเป็นเทรนด์ของอาหารในโลกวันนี้

น้ำมะปี๊ดโซดา

เปิดบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ ปลุกความสดชื่นด้วย “น้ำมะปี๊ดโซดา” หอมเย็นชื่นใจ  จากนั้น ร้าน Whispering Café  โดยเชฟแป๊ะ-จาตุรงค์ ขุนทอง ได้นำเสนอ “ข้าวยำดอกไม้ใบไม้ในสวน” ที่ใช้พืชผักสมุนไพร และดอกไม้ จากแปลงเกษตรอินทรีย์ของทางร้าน เสริฟมาพร้อมข้าวซ้อมมือหอมมะลิ ราดด้วยน้ำบูดูเข้มข้นจากปัตตานี เป็นเมนูแห่งความสดชื่น ทั้งจากรับรู้ด้วยสายตาและการรับรสที่จี๊ดจ๊าดกำลังดี

“ข้าวยำทอด” จากร้าน “แก้วแกงใต้”

ตัดภาพไปที่ข้าวยำสไตล์ “ข้าวยำทอด” จากร้าน “แก้วแกงใต้” โดยเชฟนัท-ณัฐวัฒน์ เจริญราษฎร์ ที่นำข้าวก้นหม้อหรือข้าวแฉะที่ไม่นิยมนำมารับประทานมารังสรรค์เป็นเมนูทานเล่นแบบภาคใต้  คลุกเคล้าสมุนไพรถิ่นใต้แล้วนำไปทอด กินคู่กับน้ำจิ้มอาจาด คาดว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ เข้าถึงข้าวยำได้ง่ายขึ้น

แสร้งว่ายำไข่เต่ามังคุดคัด

น้ำพริกกากหมูพริกไทยอ่อน

เชฟติ๊ก-สุทธิพันธ์ บุษปนิกรกุล

ต่อด้วยลูกเล่นแพรวพราวของ “แสร้งว่ายำไข่เต่ามังคุดคัด” และ “น้ำพริกกากหมูพริกไทยอ่อน” จากร้าน “แสนสำราญที่แสนแสบ” เป็นเมนูที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ทั้งคำว่า “แสร้งว่า”  เมนูอาหารไทยที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก และ “ไข่เต่า” ที่อยู่ในการอนุรักษ์ ซึ่งเชฟติ๊ก-สุทธิพันธ์ บุษปนิกรกุล ที่ขอเรียกตัวเองว่า “แม่ครัว” บอกว่า เป็นการสร้างสรรค์อาหารจานใหม่ที่นำมังคุดคัด ของดีเมืองนครศรีธรรมราช มาทำเป็น “แสร้งว่า” อาหารชาววังประเภทยำหรือเครื่องจิ้ม ใช้ “ไข่ออนเซ็น” แทนไข่เต่า รสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ครบรส วันนี้เสิร์ฟคู่กับ “น้ำพริกกากหมูพริกไทยอ่อน”  สูตรโบราณของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมท  กินพร้อมข้าวสวยและผักสด

หมูทอดสุดคั่วราดซอสฉู่ฉี่ไข่เค็มแดง

มาถึงโฉมใหม่ของแกงเผ็ดในเมนู “หมูทอดสุดคั่วราดซอสฉู่ฉี่ไข่เค็มแดง” จากร้าน “สุดคั่ว by สุพรรณิการ์” รังสรรค์โดยเชฟเอ่ง-นันท์นภัส อินทรชิต โดยนำวิธีการทำแกงเผ็ดฉู่ฉี่ มาผสมผสานเป็นซอสสำหรับหมูทอดเนื้อนุ่ม ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น

ข้าวผัดหมูฮ้องซอสคาราเมล

ต่อด้วย “ข้าวผัดหมูฮ้องซอสคาราเมล” จากร้าน Ari Café & Bistro โดยเชฟฟา-ณัฐิกานต์ สุยะเรือนแก้ว โดยได้นำเมนูท้องถิ่นหากินยากจากทางใต้มาปรับโฉมใหม่ ใช้หมูคุโรบุตะชั้นดี ตุ๋นกับเครื่องเข้มข้นเข้าเนื้อ นุ่ม ชุ่มฉ่ำ

หมดจากของคาวก็ถึงเวลาของหวาน วันนี้มี 2 เมนูน่ารับประทาน เริ่มด้วย “ข้าวหลามสามหน้า” โดยเชฟแป๊ะ-จาตุรงค์ ขุนทอง ร้าน Whispering Café  เสิร์ฟมากับชากุหลาบแสนหอม เป็นการประยุกต์เมนูของหวานนครปฐมที่อิงวัตถุดิบท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ ทั้งหน้าสังขยาไข่เป็ด หน้าปลาแห้ง และหน้ากุ้ง ชิ้นเล็กกำลังดี รสชาติไม่หวานมากนัก

ยูกิกาละแม

เชฟปริ๊นซ์-เสาวรส ศรีสุริยาพัฒน์กุล

ตบท้ายแบบโดน ๆ กับ “ยูกิกาละแม” จากร้าน Club Anda โดยเชฟปริ๊นซ์-เสาวรส ศรีสุริยาพัฒน์กุล ซึ่งนำไอเดียจาก “ยูกิ อิจิโกะ” ขนมโมจิญี่ปุ่นที่จะทำขายเฉพาะฤดูหนาว เมนูสุดโปรดของเชฟ  โดย “ยูกิ” หมายถึง “หิมะ” และเชฟได้เลือกวัตถุดิบไทยอย่าง “กาละแม” ที่มีกลิ่นอายของกะทิมะพร้าวมาผสมผสานเป็นไส้ เป็นเมนูขนมไทย-ญี่ปุ่นที่นุ่ม ละมุน ถูกอกถูกใจ เป็นการปิดท้ายมื้อพิเศษนี้ด้วยรอยยิ้มของทุกคน

โครงการ Thai Dishcovery : New Dish for New Gen ยังคงเดินหน้ารังสรรค์อาหารไทยจานใหม่ร่วมกับเชฟอีกหลาย ๆ ท่าน ในหลายร้าน ไปจนถึงสิ้นปี ใครที่สนใจก็แวะไปชมไปชิมกันได้ทั้งที่ร้านและบริการเดลิเวอรี่ ถือเป็นอีกไอเดียที่ร้านอาหารอื่น ๆ สามารถนำไปครีเอทเป็นจานใหม่กันได้

เพราะเรื่องอาหารการกินกับคนในปัจจุบัน คือเรื่องของประสบการณ์ ที่อยากได้ความแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ

บรรยากาศในงานอบอวลไปด้วยดอกไม้จากสวนของ Whispering Cafe

อาหารไทยดังไกลไปทั่วโลก ด้วยความครบเครื่องครบรส และเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ จากนี้คงตั้งตารอคอยการประกาศตัวของ “ต้มยำกุ้ง” ในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหาร จากนั้น ข้าวแกง ผัดไทย หรือเมนูดั้งเดิมที่ถูกหยิบยกมาในครั้งนี้ ก็มีโอกาสที่จะผงาดตามไป

เพราะนี่คือเสน่ห์เฉพาะถิ่น รสชาติแห่งความฟินแบบฉบับเมืองไทย ที่ใคร ๆ ก็อยากมาสัมผัส

Post a comment

four × 1 =