ข้าวหย่ากู๊-ข้าวปุกงา กับภูมิปัญญาน่าทึ่งจากใบตองตึง
หากย้อนไปไกล ๆ หลายสิบปีก่อน ตอนที่การโดยสารข้ามจังหวัดไม่ได้สะดวกสบายเช่นวันนี้ การได้ไปเยือนจังหวัดที่มีรากฐานทางศิลปะวัฒนธรรมที่แตกต่าง แม้จะเป็นเมืองไทยด้วยกัน ก็ดูตื่นตาตื่นใจไปเสียหมด
แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมี “ถนนคนเดิน” ภาพของการเที่ยวชมตลาดของคนพื้นเมืองอยู่ในช่วงเช้า นอกจากการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ในแต่ละจังหวัดแล้ว ตลาดเช้านี่แหละ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน ได้สัมผัสกับคนท้องถิ่น การกิน อยู่ แบบชาวบ้านจริง ๆ
หลังจากมีรูปแบบ “ถนนคนเดิน” เกิดขึ้น เกิดเป็นกิจกรรมที่เพิ่มรสชาติของการท่องเที่ยวได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และถือเป็นการกระจายได้ให้กับชุมชนนอกเหนือจากการค้าขายปกติทั่วไป นอกจากพ่อค้าแม่ค้าดั้งเดิมแล้ว คนรุ่นใหม่ก็มีช่องทางในการนำเสนอสินค้าของตัวเองด้วย จนปัจจุบัน มีตลาดชุมชน ตลาดนัด ตลาดน้ำ ฯลฯ เกิดขึ้นเป็นทางเลือกอีกมาก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็จะไม่ลืมนำเสนอเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการดึงดูดให้ผู้คนเข้าเที่ยวชม
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาพของการท่องเที่ยวซบเซาไปนาน และถนนคนเดินหลายแห่งก็ปิดไป แต่ตอนนี้หลายแห่งก็เริ่มกลับมาสร้างสีสีนกันแล้ว แต่ละแห่งก็มีการควบคุมด้านสุขอนามัยกันอย่างเคร่งครัด อย่างถนนคนเดินเส้นเล็ก ๆ ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน หรือ ถนนคนเดินหอนาฬิกาแม่ฮ่องสอน ที่เราได้เดินทางไปครั้งล่าสุด
ปัจจุบันแผงค้าทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบกะดินในถนนคนเดินหอนาฬิกาแม่ฮ่องสอน เรียงรายกันเป็นแนวยาว กะประมาณแล้วไม่เกิน 50 ร้าน มีทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก สินค้ามือสอง รวม ๆ กันไป แต่เป้าหมายของหลายคนก็อยากจะเจอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ต้องมีเพียงที่นี่เท่านั้น ถึงจะเรียกว่าครบรส นับเป็นจุดสูงสุดของนักเดินตลาดนัดเลยก็ว่าได้
เราเดินเล่นอย่างช้า ๆ ท่ามกลางสายลมเย็นยามค่ำในเมืองแม่ฮ่องสอน มาหยุดยืนอยู่ที่ร้านที่มีคนยืนมุงอยู่สองสามคน เป็นร้านตั้งโต๊ะขายขนมโบราณที่ชื่อว่า “ข้าวปุกงาสูตรโบราณ” และ “ข้าวหย่ากู๊สูตรโบราณ” ของ ”ป้าญิง” (สะกดตามชื่อป้ายคล้องคอและชื่อที่ป้าเขียนติดไว้เลย) ยืนดูสักพัก ก็ขอกวนป้าญิงสักหน่อย
ป้าญิงเล่าด้วยน้ำเสียงพื้นเมืองว่า ข้าวปุกงาเป็นอาหารหรือขนมของชาวไทใหญ่ ทำมาจากธัญพืช หลัก ๆ คือ ข้าวและงา สาระสำคัญของมันคือ จะทำกินเฉพาะช่วงหน้าหนาว ที่มีข้าวใหม่-งาใหม่ออกมา จึงทำกินกันประมาณ 4 เดือนเท่านั้น เมื่อผลัดเปลี่ยนฤดูกาลไปแล้วก็จะเป็นขนมชนิดอื่นตามวัตถุดิบที่มี ซึ่งช่วงหน้าหนาวชาวไทใหญ่ทุกเผ่าก็จะทำขนมชนิดนี้ไว้กิน ส่วนใหญ่ก็จะทำกินกันเอง นับเป็นของหากินยาก ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนก็น่าจะมีแค่เพียงร้านของป้าญิงเท่านั้น และกระบวนการก็ยังดั้งเดิม ใช้ครกตำกับมือจนละเอียด กวนบนไฟใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำไปรีดหรือแผ่แบน ๆ บนกาบไม่ไผ่ ป้าบอกว่าต้องเป็นกาบไม่ไผ่เท่านั้น เพราะต้องรีดตอนร้อน ๆ หากเป็นใบตองจะมีเหงื่อหรือไอน้ำทำให้ขนมไม่แห้งดังที่ต้องการ
ดูง่ายและไม่ซับซ้อนอะไรมาก เมื่อจะกินก็นำมาราดน้ำอ้อยแทนน้ำตาล ก็หอมหวานเหนียวหนุบ ได้ประโยชน์จากธรรมชาติ อีกอย่างคือ “ข้าวหย่ากู๊” ซึ่งก็มาจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่นกัน ต้องใช้ข้าวเหนียวดอย หรือ ข้าวเหนียวมูเซอ มากวนกับน้ำอ้อยและงาหม่อน ตอนกินก็ราดงาขาว และถั่วลายเสือคั่ว รวม ๆ แล้วก็คือของดีทั้งนั้น
ป้าญิงที่ยังมือระวิง อธิบายต่อว่า ข้าวหย่ากู๊ เป็นข้าวที่ทำเพื่อถวายพุทธเจ้า ในวันมาฆะบูชา เมื่อเราเผลอพูดคำว่า “ข้าวยาคู” ด้วยความเคยชิน ป้าญิงรีบบอกเขาเรียกว่า “ข้าวหย่ากู๊ ๆ ” ก็สร้างรอยยิ้มให้คนที่กำลังรอชิมขนมของป้าในตอนนั้น
เชื่อว่าใครที่ผ่านมาร้านป้าญิง ยังไงก็ต้องแวะดูว่า แผ่นดำ ๆ นี่คืออะไร และสนใจก็ต้องลองชิม ขายในราคาห่อละ 20 บาท แต่กระบวนการขายของป้าที่เรียกว่าเป็นอีกจุดขายและจุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ การนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้
เริ่มต้นตั้งแต่ที่เราเห็นได้ชัดคือ กระทงที่ใส่ขนม ทำมาจาก “ใบตองตึง” ที่ใช้ไม่กลัดและเชือกจากไม้ไผ่ ป้าญิงบอกว่า เป็นใบไม้หาง่ายไม่ว่าไปไหนก็เจอ ไม่ต้องซื้อต้องหา จึงไม่มีต้นทุนอะไร นอกจากนำมาเป็นกระทงแล้ว ป้าญิงยังพิถีพิถัน เพราะบางคนซื้อแล้วยังไม่กินทันที ป้าก็นำใบตองตึงนี่แหละ นำมาทำฝาปิดให้ด้วย และกระบวนการกลัด การร้อยเชือก การปิดห่อ ก็ทำกันตรงนั้น แต่ละห่อก็เลยใช้เวลานานหน่อยนึง ทำให้ลูกค้าได้เพลินกับภูมิปัญญาเจ๋ง ๆ แบบนี้ไปด้วย
นอกจากการห่อขนมแล้ว ในร้านยังมีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ ใครไม่สังเกตก็อาจจะไม่ทันเห็น เริ่มตั้งแต่ฝาชีที่ปิดถาดขนม ก็มาจากใบตองตึงขนาดใหญ่มาทับซ้อนกันแล้วร้อยด้วยเชือกไม้ไผ่ ที่คีบขนมก็ทำจากไม้ไผ่ แต่ที่ชอบใจเรามากเป็นพิเศษคือ กระปุกงาขาว ซึ่งมีลักษณะใช้งานเหมือนกระปุกเกลือหรือพริกไทย ป้าญิงเอาใบตองตึงนี่แหละ มาพับและม้วนเป็นรูปทรงคล้าย ๆ กรวย เหลือรูเล็ก ๆ ไว้ให้เหยาะงาออกมาได้ แต่ที่ไม่ได้ถามคือ ทำอย่างไรให้มันตั้งได้ อันนี้ชอบมาก เพราะรูปลักษณ์เก๋ไก๋ ง่ายงาม จนน่าจับมาเป็นไอเดียต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์จากใบตองตึงได้เลย
คุยกับป้าญิงพอหอมปากหอมคอ พอได้ประดับรอยยิ้มและความทรงจำ ไม่กวนเวลาของป้าและลูกค้าท่านอื่นมากไป เราก็ได้ขนมไทใหญ่มาสองรายการ เดินหิ้วด้วยความชื่นชมไปทั่วตลาด นับเป็นการบรรลุเป้าหมาย ในถนนคนเดินแม่ฮ่องสอนอย่างสมบูรณ์
ถนนคนเดินหอนาฬิกา อ.เมือง แม่ฮ่องสอน
เปิดทุกวัน เย็น ๆ ไปจน ค่ำ (ประมาณ 2-3 ทุ่ม)
แถว ๆ ถนนคนเดินมีร้านปิ้งย่างหมาล่าและขายเครื่องดื่ม ให้นั่งชมบรรยากาศตลาดกันด้วย
ป้าญิง โทร.09 4507 0054
(Update 2 ก.ค.2565 ได้ทราบข่าวว่า ป้าญิง ได้จากไปด้วยอุบัติเหตุเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ทีม meethimks ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอให้ภูมิปัญญาข้าวหย่ากู๊-ข้าวปุกงา ได้รับการสืบสานต่อไป ดังที่ป้าญิงเคยทำมาตลอด)