
โบยบิน…จินตนาการ
คอลัมน์ เซาะร่องเสียง
โดย นกป่า อุษาคเณย์
มีคำกล่าวว่า ถ้าคุณสร้างผลงานที่พูดถึงปรัชญา หรือชีวิต งานของคุณจะคงอยู่ได้นาน และถ้าคุณสร้างผลงานที่พูดเรื่องความรัก หรือความรื่นรมย์ งานของคุณจะได้รับความนิยม แต่ถ้าสร้างผลงานที่รวมทั้งสองแบบไว้ด้วยกัน งานของคุณจะเป็นอมตะ
และบทเพลงของ “สองวัย” เข้าลักษณะดังกล่าว
“สองวัย” เป็นวงดนตรีเด็ก ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2522 ประกอบด้วยน้าต้อม (กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์) น้าวี (วีระศักดิ์ ขุขันธิน) และน้าซู (ระพินทร์ พุฒิชาติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ จากสโมสรผึ้งน้อยคือ มุก (มุกดา ศิลปวานนท์) น้อย (สมพิศ ศิลปวานนท์) อ้อย (วันทนีย์ เอียดเอื้อ) โอ๋ (วันทนา เอียดเอื้อ) และน้องนุช (ปิยนุช บุญประคอง) มีอัลบั้มจำนวน 3 ชุด คือ “เจ้าผีเสื้อเอย” “กระแตตื่นเช้า” และ “นาฬิกา”
วัยผู้ใหญ่ เป็นการรวมตัวของปัญญาชน นักอ่าน นักคิด นักเขียน นักดนตรี ศิลปิน ทั้ง 3 คนมีลีลา และรูปแบบการนำเสนอเฉพาะตัวที่ผสมกลมกลืน รับ-ส่งกันผ่านบทเพลงที่ลงตัว ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธีมเพลง และแนวทางการทำงาน ที่กลั่นกรองมาแล้วอย่างดี
คือการทำเพลงสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่สามารถฟังได้ ทุกเพศ ทุกวัย เนื้อหาพูดเรื่องปรัชญา เรื่องชีวิต ใช้อุปมาอุปมัยผ่านสิงสาราสัตว์ พืช สิ่งของ เป็นตัวเล่าเรื่อง เพื่อลดความหยาบกระด้าง และสร้างเป็นตัวละครที่เด็กๆ เข้าถึงง่าย เคลือบอยู่บนเนื้อหาที่เข้มข้น จริงจัง วิพากษ์วิจารณ์สังคม ความไม่เป็นธรรม ต่อต้านอำนาจนิยม การทำลายล้างธรรมชาติ เป้าหมายคือปลุก และปลูก “จิตสำนึก” มุมมองในชีวิตให้กับเด็กๆ
ผ่านสื่อที่รื่นรมย์ สนุกสนาน คือแนวดนตรีต่างๆ ที่เด็กสามารถซึมซับได้ง่าย พื้นเป็นดนตรีโฟล์ค ใส่จังหวะแบบเด็กอนุบาลออกกำลังกาย เร็กเก้ วอลตซ์ การเลือกเครื่องดนตรีที่เน้นความสนุกสนาน เช่น เครื่องเคาะ ฟลุท ที่เล่นได้ทั้งสนุกและเศร้า พยายามหลีกเลี่ยงเพลงแบบดิสนีย์ แม้บางเพลงจะมีกลิ่นอายตะวันตก แต่ถูกฝีมือการเขียนเนื้อร้องที่เป็นเลิศจัดการจนอยู่หมัด ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ฟังทุกยุคทุกสมัย และกลายเป็นผลงานอมตะในวงการเพลงไทยไปแล้ว
วัยเด็ก 6 คนมีเสียงร้องที่ก้อง ใส กังวาน ฟังเผินๆ แล้วอาจจะคล้ายกัน ทว่า แต่ละคนมีบุคลิกเสียงที่ต่างกัน แต่เมื่อมารวมกันทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของสองวัย ตัวเด็กเองมีพรสวรรค์ในการร้องเพลงมากน้อยลดหลั่นแตกต่างกันไป เมื่อมาเจอกับการเรียบเรียงเสียงประสาน การอบรมบ่มเพาะทางดนตรี ได้ฟังการร้องไกด์ และออกเสียงเล่นเสียง สระ วรรณยุกต์ ทำให้เด็กๆ มีทักษะการร้องเพลง ส่งผลให้นำเสนอผลงานได้อย่างมีคุณภาพ และติดตราตรึงใจแฟนเพลงมาจนถึงทุกวันนี้
เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของวัยผู้ใหญ่ผู้สร้างตัวเพลง เป็นมันสมอง และเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีตอนออกแสดง เป็นกระดูกสันหลัง และมวลกล้ามเนื้อที่ห่อหุ้มทีมเด็ก ที่เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์หน้าเวทีด้วยความสดใสของเสียงร้อง และความไร้เดียงสา ที่ไร้มารยาในการสื่อสารบทเพลงที่แม้วัยผู้ใหญ่จะสร้างสรรค์มาอย่างซับซ้อน และซ่อนนัยทางสังคม การเมือง เมื่อทั้งสองสิ่งผสมผสานกัน ทำให้เกิดผลงานที่กลายเป็นงานที่ข้ามกาลเวลามาได้อย่างงดงาม
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของสองวัยคือการผสมผสานความร่าเริงสดใสของเด็กๆ กับความจริงจังในแนวคิด ปรัชญา ผลงานทั้งหมดมุ่งสะท้อนปัญหาสังคม ทั้งระดับโครงสร้าง และระดับปัจเจก สอดแทรกการสร้างความเคารพนับถือตัวเอง และผู้คนสังคมให้กับเด็กๆ ปลูกฝังความเป็นเสรีชน บนพื้นฐานเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภารกิจการลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
อัลบั้มแรก “เจ้าผีเสื้อเอย”
Title track “เจ้าผีเสื้อ” เด่นที่เสียงฟลุท หวานปนเศร้า เล่าผ่านมุมมองเด็ก และผู้ใหญ่ บนเนื้อร้องชุดเดียวกัน ดนตรีจังหวะเร็ว ใช้โฟล์คเป็นพื้น ปิดด้วยเสียงร้องคู่ประสานเด็ก-ใหญ่ สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือจะมองในแง่นักต่อสู้ทางสังคมที่พลัดหลงและพลัดพรากไปก็สามารถตีความได้
“ลูกแกะกับหมาป่า” สะท้อนปัญหาทางการเมือง วิพากษ์ลัทธิอำนาจนิยม ผ่านตัวละครที่เข้าถึงเด็กได้ง่าย คือหมาป่า ตัวแทนเผด็จการ และลูกแกะ คือประชาชน ที่รวมตัวกันต่อสู้อำนาจทมิฬทุกยุคทุกสมัย เป็นเพลงที่ขึ้นชั้นคลาสสิคของสองวัย ที่เทียบกับเพลงเพื่อชีวิตชั้นดีระดับ Top ten โดยมีวรรณกรรมด้วยคือ “จึงตวาด อ้ายแกะน้อย!” ของ “น้าวี”
“ลูกหมูใส่รองเท้า” มาสเตอร์พีช ของ “สองวัย” เพลงเต้นอนุบาลที่สอนให้เด็กรักษาอนามัย ใส่รองเท้า โฟล์คเดินคอร์ดเร็ว มีลูกโซโล่ และเมโลดี้หลัก “ก่อบ กิ๊บ ก่อบ” ที่ติดหู และคนที่ได้ฟังต้องร้องตามมาจนถึงทุกวันนี้
“ลูกหมูหลงทาง” พูดถึงผู้คนที่หลากหลาย และการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม
“แมงมุม” โฟล์คเร็ว เดินคอร์ด และเบส ฉับไว เต้นตามได้ “น้าวี” ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม “แมงมุมเพื่อนรัก” มาในธีมเดียวกับ “มาลัย” โฟล์ค+ฟลุท เพลงจังหวะกลาง พูดถึงความหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันในสังคม มองดูเดือน พูดถึงสังคมที่ไม่เท่าเทียม มีคนขาดแคลน และต้องการการยื่นมือมาช่วยกันของคนในสังคม
“ไม้ไผ่ร้องเพลง” โฟล์คเร็ว มาคู่กับเมาท์ออร์แกน เนื้อหาพูดถึงธรรมชาติงดงามที่ไม่เคยทำร้ายใคร “ดอกไม้หายไปไหน” “ใบไม้ร่วง” โฟล์คจังหวะเร็ว เต้นตามได้ เป็นเพลงคู่ผู้ใหญ่-เด็ก สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม
“จราจร จราจล” โฟล์คจะหวะกลางๆ พูดถึงปัญหาในเมืองใหญ่ คือปัญหาการจราจร และสอนเด็กๆ ให้รู้จักปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม สะท้อนผ่านกฎจราจร เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ส่งท้ายด้วย “แล้วคิดถึงกันบ้างนะ” ดนตรีโฟล์ค เนื้อหาหวานปนเศร้า พูดถึงมิตรภาพ การพบพาน และการลาจาก เป็นสัจจธรรมชีวิต มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
“เจ้าผีเสื้อเอย” ถือเป็นมาสเตอร์พีชของ “สองวัย” ที่เปิดตัวได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการผสมผสานความสดใหม่ของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสดใสของเด็กๆ ตัวเพลงมีความแข็งแรง และลงตัวทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกใช้ภาษา วิธีการเขียนเนื้อร้อง การเลือกใช้เครื่องดนตรี ที่สอดรับกับเมโลดี้ ธีมเรื่อง การประพันธ์ทำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกใช้เสียงเด็ก-ผู้ใหญ่ ในแต่ละเพลง ทุกอย่างทำได้ลงตัวที่สุด
อัลบั้มที่ 2 “กระแตตื่นเช้า”
Title track “กระแตตื่นเช้า” เพิ่มเพอร์คัสชั่นประสานกับกีตาร์โฟล์ค มีเสียงนกหวีด ชวนให้อนุบาลเต้นออกกำลังกาย เนื้อหาพูดถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็ก และข้อดีของการตื่นเช้า ทำให้กระปรี้กระเปร่า สลัดทิ้งความเกียจคร้าน แถมด้วย “ยิ้มกับตะวัน” โฟล์คเดินเบสเร็ว เพลงจังหวะเร็ว เสียงฟลุทชวนเต้น ปลุกให้เด็กๆ ฝึกตื่นแต่เช้า คล้าย “กระแตตื่นเช้า”
“ปลูกดอกไม้” เพลงที่ “น้าวี” ชอบเล่นบนเวที ปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้แก่เด็กๆ สอนเรื่องชื่อดอกไม้ต้นไม้แก่เด็กๆ ดนตรีเดินด้วยแมนโดลิน สนุกสนาน ชุดนี้กีตาร์โฟล์คถูกดันถอยไปเป็นโครงกระดูกด้านหลัง โดยใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายมาโชว์ด้านหน้า
“คิดถึงบึงหญ้าป่าใหญ่” ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม “บึงหญ้าป่าใหญ่” ของ “เทพศิริ สุขโสภา” เป็นโฟล์คช้าๆ ซึ้งๆ มีเสียงแมนโดลิน เครื่องสาย เครื่องเคาะเพิ่มเข้ามา ชุดนี้สองวัยมีสมาชิกใหม่คือน้าซูทำให้มีสีสันดนตรีมากขึ้น
“ถามผีเสื้อ” แบนโจ เดินเรื่องเป็นพระเอก เป็นเพลงภาคต่อของ “เจ้าผีเสื้อ” ดนตรีวอลตซ์เต้นรำเป็นจังหวะสนุกสนาน ฮาร์โมนี่ใช้เสียงเหน่อ สื่อถึงเด็กชนบท เสียงเด็กที่ร้องประสาน-รับ-ส่งกันในสนุกมาก ห่อหุ้มความโศกเศร้าที่ซ่อนอยู่ลึกๆ
“มดแดง” เน้นการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม การทำงานเป็นระบบ สลายอีโก้ ความเป็นปัจเจก ดนตรีกลับไปโฟล์คดั้งเดิมเหมือนชุดแรก
“แมลงปอปีกใส” เมโลดี้ ฮาร์โมนี่ คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน การใส่เสียงแมนโดลิน แบนโจ บนเสียงกีตาร์โฟล์ค ลงตัวมาก เนื้อหาพูดถึงปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นเพลงที่เมโลดี้เพราะมาก เนื้อร้องติดหูติดปาก
“ส่งยิ้ม” ไวโอลินเป็นพระเอกของเพลงนี้ พื้นเป็นโฟล์คเดินเบสฉับไว ผสานด้วยฮาร์โมนีก้า เด่นที่เสียงร้องประสาน และเสียงร้องนำที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก เนื้อหาพูดถึงการสร้างมิตรภาพง่ายๆ ด้วยการมอบรอยยิ้มให้แก่กันด้วยความจริงใจ
“แม่จ๋าไปไหน” เพลงสุดเศร้า ยิ่งใช้เสียงเด็กหญิงที่เพรียกหาแม่ ยิ่งทำให้เศร้า บวกกับเสียงฟลุท ทำให้ยิ่งเศร้าเพิ่มขึ้นไปอีกกับปัญหาครอบครัว หรือปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนที่แม่ต้องจากบ้านไปทำงานหาเงิน
“สะพานสายรุ้ง” มาสเตอร์พีชของ “สองวัย” และ “น้าต้อม” เป็นเพลงในระดับเดียวกับ Imagine มี Part ช้า และเร็ว ทำหน้าที่สื่อสารใน Part ตัวเอง ดนตรีใช้กีตาร์โปร่งนำ และเสียงฟลุทพระเอกฝีมือ “น้าต้อม” ผสานแมนโดลิน
“หุ่นไล่กา” เร็กเก้ ใช้เครื่องดนตรีหลากหลาย ทั้งไวโอลิน แมนโดลิน สอนเด็กให้เข้าใจธรรมชาติต้นไม้พรรณพืชและสรรพสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำเกษตรคือการปลูกข้าว
“นอนซะแม่เอย” เด่นที่เสียงแคน และเครื่องเคาะ เป็นเพลงกล่อมเด็ก ใช้เสียงประสานของเด็กๆ ทำได้มีสีสัน ก่อนส่งต่อวิธีการทำเพลงไปสู่ชุด 3
“สองวัย” ชุดสุดท้าย “นาฬิกา”
สมาชิกเด็กเริ่มแตกเนื้อสาว กล่องเสียงเปลี่ยนเป็นวัยรุ่น ภาคดนตรีปรับเพิ่มด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้า และลูกเล่นที่แพรวพราวขึ้น ความนิยมอาจจะน้อยที่สุด แต่ถือเป็นอัลบั้มที่แปลกใหม่ถึงขั้นเพลงเด็กแบบโปรเกรสซีพ และเป็นอัลบั้มแนวทดลองที่แต่ละเพลงยาวทีเดียว
Title track “6 นาฬิกา” เร็กเก้ เด่นที่เสียงประสาน การร้องสลับรับ-ส่ง เครื่องดนตรี เพอร์คัสชั่น สร้างความรื่นรมย์ให้กับตัวเพลง ฟังคู่กับ “ถุงเท้าหาย” เพลงคันทรี่ที่ฟังเพลิน ได้อย่างลงตัว เพลงนี้เดินเรื่องด้วยแบนโจ กีตาร์โปร่ง เบสไฟฟ้า แม้เนื้อหาจะย้อนกลับไปคล้าย “กระแตตื่นเช้า” แต่ดนตรีเดินทางมาไกลมาก
“นกกระจอก” พื้นเป็นเร็กเก้ + สวิง มีฟลุทเป็นพระเอก แจมด้วยแมนโดลิน และกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า ทำให้ดึงสู่ร็อค เนื้อหาสื่อถึงความเปลี่ยวเหงาของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยเด็กที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่นด้วยความสับสน และอาจหมายถึงปัญหาครอบครัวที่เด็กๆ ต้องเผชิญ
“ฝันเห็นดวงจันทร์” เร็กเก้สนุกสนานมาพร้อมเครื่องดนตรีไฟฟ้าเต็มไปด้วยเสียงสังเคราะห์ สอดคล้องกับเนื้อหาฝันๆ ล่องลอยแบบโปรเกรสซีฟ + “ระบำไม้กวาด” เร็กเก้จัดเต็ม ลูกโซโล่ ลูกเดินคอร์ด เป็นเร็กเก้-บลูส์ เนื้อหาพูดถึงการรักษาความสะอาด และการรู้หน้าที่ของเด็กๆ
“แดนไกล” เดินเรื่องด้วยเปียโน + ฟลุท แมนโดลินโซโล่คลอกีตาร์เดินคอร์ดเร็กเก้ ใช้ซาวนด์แบบโปรเกรสซีพ ดนตรีจึงล่องลอย บนพื้นคันทรี่ พูดถึงชนบท และการเดินทางไกล ชีวิตผู้คนที่แตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
“ถามรถไฟ” แบนโจเดินเรื่องยาวแบบบัลลาด เสียงร้องรับ-ส่งอย่างสนุก ใช้สำเนียงอีสาน และแคน ผสม ฟลุท ฟังเพลิน ช่วงกลางเพลงมีทดลองใส่เสียงผู้คน และซาวนด์แปลกหู เป็นเพลงที่ “สองวัย” ชอบเล่นบนเวทีอีกเพลงหนึ่ง เมโลดี้ ท่อนโซโล่ติดหูมากเพลงหนึ่ง
“สาวน้อยพายเรือ” ไลน์พื้นบ้านอีสาน + เร็กเก้ อัดแน่นด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายมาก ซอแบบกันตรึม พิณ แคน ฉิ่ง ฉาบ และเนื้อร้องภาษาลาว ท่อนสร้อยเพลงเรือ เพลงนี้เป็นแนวทดลองที่ฉีกออกมาชัดเจน ปลุกคนฟังให้มีชีวิตชีวา จากที่ซึมๆ กับโปรเกรสซีฟร็อกมาหลายเพลง ให้ตื่นขึ้นมาเซิ้งกันสนุกๆ
“เหยี่ยว” ขับเคลื่อนด้วยดนตรีร็องแง็ง + เสียงร้องที่โดดเด่น + เสียงขลุ่ยแหลม เนื้อหาเปรียบเทียบนกกับความชั่วร้ายในใจคน
“หนูไม่ทำการบ้าน” พิณเป็นพระเอก + ซอกันตรึม + หวูด + กีตาร์ไฟฟ้า กลิ่นอายโปรเกรสซีฟ ทำนองใช้ When the Levee Breaks ของ Led Zeppelin เนื้อหาสะท้อนภาพชีวิตนักเรียนจากครอบครัวยากจน ที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำนา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีเวลาทำการบ้าน ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ
ดังนั้น การบริการบ้านเมือง เศรษฐกิจ ปากท้อง ต้องมาก่อน ถ้าคนกินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น จะมีสมอง และกำลังใจไปเรียนหนังสือได้อย่างไร ไม่ต้องพูดถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ห่างไกลมาสำหรับประเทศด้อยพัฒนา
“สาริกา” หรือ “นอนซะแม่เอย” ภาคสอง ถือเป็นเพลงสุดท้ายในการทำงานของ “สองวัย” กีตาร์โปร่ง + ฟลุท ที่หายไปนาน หวนกลับมาในเพลงนี้ เสมือนการส่งท้าย เพื่อกลับคืนสู่สามัญ เรื่องราวของสาริกาที่บินจากไป เหมือนวงสองวัยที่จากไปเช่นกัน
โครงการเพลงเด็กปูน้อยค่อยเดิน ในปี พ.ศ.2541 เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกๆ คนในสังคมได้ฟังดนตรีที่น่ารัก สดใส ไม่มีพิษภัย ทั้งเอาดนตรีเป็นสื่อสร้างความคิดจินตนาการแก่เด็กๆ และเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก
โดยมีศิลปินร่วมงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หงา คาราวาน วงคีตาญชลี วงฟุตบาทแฟมิลี่ แสง ธรรมดา เศก ศักดิ์สิทธิ์ อาจารย์ยงยุทธ ดำศรี วงด้ามขวาน
โดยมีน้าวี วีระศักดิ์ ขุขันธิน และน้าต้อม กิตติพงษ์ ขันธกาญจน์ จากวงสองวัย เป็นแกนนำสำคัญ โดยน้าต้อม รับบทโปรดิวเซอร์ผลงานชุดนี้