เมื่อความรักเบ่งบาน หวานทั่วทุ่งกระเจียว
คำคืนที่ชื่นอุรา ทำให้เราไม่อยากบอกลาวันนี้ไปง่ายๆ
วงสนทนาของเพื่อนร่วมทางออกสตาร์ทช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะตอนที่แสงตะวันจากลา เรายังเลาะอยู่บนถนนที่มีแต่ป่าข้างทาง จากชัยภูมิถึงอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิต ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
แต่เราก็ไม่ได้รีบร้อน และยังไม่อยากรีบนอน
ก็เลยแวะโอ้เอ้อยู่ที่ อ.บ้านเขว้า เดินชมการทอผ้าของชาวบ้านกันจนเพลิน แถมได้เจอผู้ใหญ่ใจดี “นายประพันธ์ เกิดถาวร” ผู้ใหญ่บ้านบูรพา หมู่ 14 หรือ “ผู้ใหญ่แอ๊ด” ทำให้ทุกคนได้พบคำว่า “ผู้ใหญ่ใจดี” โดยไม่ต้องฟังซ้ำ
หลังจากคณะเล็ก ๆ รถตู้คันเดียวของพวกเรา วิ่งวนค้นหาเพื่ออยากดูการทอผ้า (โดยไม่ติดต่อไว้ล่วงหน้า) มัคคุเทศก์ชื่อพรหมลิขิตก็พาเราไปจอดอยู่หน้าบ้านผู้ใหญ่แอ๊ดโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เมื่อตัวแทนลงไปทักทายไม่เกิน 5 นาที จากนั้นผู้ใหญ่ก็พาเราเดินเลาะตามหมู่บ้านโดยทันที ด้วยหัวใจที่พร้อมบินแบบอัตโนมัติ หรือ อาจจะเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี
ดังนั้นกว่าจะเข้าที่พักแถบ อช.ป่าหินงาม ก็ตกค่ำ สภาพอากาศชุ่มเย็นด้วยอุณหภูมิประมาณ 24 องศา ถือว่ากำลังสบายๆ ในอ้อมกอดของขุนเขา
ราตรีนี้จึงยาวนานกว่าที่คาดไว้
จึงตกลงกันว่าจะไม่รีบร้อนกับการเข้าเที่ยวชมอุทยานก่อนแสงเช้า เพราะอยากซุกไอหนาวในผ้าห่มให้เต็มกำลัง ประมาณเก้าโมงกว่าๆ จึงออกเดินทางออกจากที่พัก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงที่หมาย
ลักษณะภูมิประเทศของ อช. ป่าหินงาม เป็นเทือกเขา ประกอบไปด้วยภูเขาต่าง ๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200 – 800 เมตร ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพานหมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180 – 230 ล้านปี ยุคจูแลสสิกและไทรแอสสิก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำชี (แม่น้ำชี) ซึ่งไหลลงแม่น้ำป่าสัก
ด้วยเป็นวันอาทิตย์รถราจึงหนาตาอย่างที่คาดไว้ จ่ายค่าเข้าชมอุทยานคนละ 40 บาทแล้วนำรถเข้าจอด จากนั้นก็รอรถราง ซึ่งมีค่าบริการอีกคนละ 30 บาท ระหว่างทางมีมัคคุเทศก์น้อยบรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังจนปลายทาง ซึ่งเป็นทางเดินเข้าสู่ “ผาสุดแผ่นดิน”
แม้จะสายมากแล้ว แต่สายหมอกยังหยอกล้อกับผู้คนที่มาเยี่ยมชมกันอย่างล้นหลาม บริเวณหน้าผาไม่มีที่ว่างให้วางท่ากันมากนัก เราจึงใช้เวลาบริเวณนี้เพื่อสูดอากาศสดชื่นกันเพียงเล็กน้อย แล้วเดินกลับออกมาลัดแนวป่าระยะสั้นๆ เพื่อเข้าสู่อาณาจักรของเจ้าหญิงน้อย
สะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปในทุ่งหญ้าสีเขียวสด ตัดกับสีดำ-น้ำตาล ของต้นไม้รูปร่างแปลกตาในป่าเต็งรัง พวกมันมีลักษณะหงิกงอจากแรงลม จึงมีการปรับสภาพของกิ่งก้านจนเกิดภาพที่เป็นเอกลักษณ์ …นี่คือการปรับตัวของธรรมชาติที่น่าทึ่ง
ในช่วงปลายสิงหาคม ถือว่าเป็นช่วงปลายฤดูกาลของดอกกระเจียว เพราะเริ่มเที่ยวชมกันได้ตั้งแต่ต้น-ปลายฝน ราว กรกฎาคม-สิงหาคม
แต่ในความน้อยก็มาก หากมองเป็นงานศิลปะ นี่ก็คงเป็นภาพเขียนที่ทิ้งสเปซได้เหมาะเจาะลงตัว ไม่ได้เน้นความหนาแน่นของดอก แต่ปล่อยให้ใบหญ้าได้ทำหน้าที่เป็นพรมผืนพลิ้วรองรับความเคลื่อนไหวของบรรดาเจ้าหญิงน้อยที่แกว่งไปมา แถมยังได้แบคกราวด์จากป่าเต็งรังที่คมเข้ม เป็นผลงานที่ลงตัว แลดูอิสระ และปล่อยวางให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
อีกแง่หนึ่งความน่ารักของบรรดากระเจียวดอกเล็กๆ ก็เหมือนเจ้าหญิงน้อยกำลังวิ่งเล่นชมสวน พวกเธอดูซุกซนแต่อ่อนหวาน งดงามตามแบบที่ควรจะเป็น
หวานแค่ไหนต้องให้ภาพบรรยาย คู่รักหนุ่มสาวควงแขนกันเดินเล่น แวะหามุมส่วนตัวพูดคุยกันกระหนุงหระหนิง ผู้เฝ้ามองความรักก็เบิกบานใจตามไปด้วย
เส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตรจากผาสุดแผ่นดิน ใช้เวลาเดินชมกันไม่มากนัก สายแล้วพระอาทิตย์ยังใจดีไม่มีเกรี้ยวกราด เราเดินออกจากทุ่งกระเจียวมายืนรอรถราง เพื่อจะไปยังจุดต่อไป นั่นคือ “ป่าหินงาม” ซึ่งมีลานหินลักษณะต่างๆ ให้เดินเที่ยวชม จุดนี้ยังมองเห็นความชื่นมื่นของผู้คน โดยเฉพาะคู่รักที่มาในธีมเดียวกัน
อันว่าความรักนี่หนา แม้แต่หินผายังอ่อนไหว…
กลับออกจากป่าหินงาม เรานั่งรถรางออกมายังลานจอดรถ แวะอุดหนุนสินค้าชุมชนกันคนละเล็กละน้อย ก่อนที่จะเดินทางต่อเพื่อกลับเข้ากรุงเทพ
ระหว่างที่ออกจากตัวอุทยาน ยังได้รู้ว่า นอกจากคณะของเราที่ไม่ยอมจากลาราตรีกันง่ายๆ แล้ว ยังมีขบวนนักท่องเที่ยวยามสาย-ใกล้เที่ยงตามมาเป็นอีกขบวนใหญ่ จนทำให้ถนนทางเข้าอุทยานเกิดสภาพรถติดเป็นทางยาว
เชื่อว่าเมื่อพวกเขาเข้าไปถึงดินแดนของเจ้าหญิงยามสาย พวกเขาก็จะชื่นใจหายเหนื่อยในดินแดนแห่งความรัก ความเบิกบานแห่งนี้
หมายเหตุ : การเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติในช่วงโควิด-19 เป็นไปในรูปแบบ New Normal นักท่องเที่ยวควรแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ. เทพสถิต จ. ชัยภูมิ โทร.0 4489 0105