มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย “เมืองโบราณศรีเทพ”
คำว่า “มรดกโลก” มีความหมายตรงตัวที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เป็นมรดกหรือสมบัติล้ำค่าของคนทั่วโลก ไม่ว่ามรดกนั้นจะอยู่ที่ไหน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 หลังจากที่ UNESCO ได้ประกาศให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ในไทย มีผู้ที่ออกมาชื่นชมยินดีกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าไปเยือนเมืองโบราณศรีเทพกันอย่างไม่ขาดสาย ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
ความหมายของ “มรดกโลก”
คำว่า “มรดกโลก” (World Heritage) มีความหมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็หมายถึงมรดกของคนทั้งปวงทั่วโลก
การขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะได้รับความคุ้มครองในระดับสากล ซึ่งเป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” (The World Heritage Convention) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 และโดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2518 เป็นต้นมา
ประเทศไทยมีมรดกโลกกี่แห่ง
การขึ้นทะเบียนมรดกมีปัจจัยในการพิจารณาหลายประการ แต่ละแห่งจึงต้องใช้เวลายาวนานในการนำเสนอเพื่อการพิจารณา โดยปัจจุบันยูเนสโกมีการรับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 7 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง และมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง ดังนี้
มรดกโลกทางธรรมชาติ
- ปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก)
- ปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์)
- ปี 2564 กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)
4 มรดกโลกทางวัฒนธรรม
- ปี 2534 เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย
- ปี 2534 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา
- ปี 2535 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
- ปี 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
“เมืองศรีเทพ” มรดกโลกอันดับ 7 ในประเทศไทย
หลังจากได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ถนนทุกสายที่วิ่งไปเพชรบูรณ์ ต่างมีเป้าหมายในการเข้าชมความงดงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุยาวนานก่อนยุคประวัติศาสตร์
ข้อมูลจากกรมศิลปากร ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527
สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447
เมืองโบราณศรีเทพและแหล่งต่อเนื่อง ถูกขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์
ย้อนอดีตแห่งความรุ่งเรือง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง ภายในเมืองมีสระน้ำโบราณหลายขนาดอีกกว่า 70 แห่ง
การเข้าไปเที่ยวชมและศึกษาประวัติศาสตร์เมืองโบราณศรีเทพ จะพบเห็นร่องรอยของชุมชนโบราณเมือง แหล่งศาสนสถานรวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูก และข้าวของเครื่องใช้ สะท้อนอารยธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี
เส้นทางเที่ยวชมเมืองโบราณศรีเทพ
ศูนย์บริการข้อมูล
เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองโบราณศรีเทพ รวมทั้งการอนุรักษ์ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในประกอบด้วยห้องประชุม หรือบรรยายสรุปก่อนการเข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ รวมทั้งการจำหน่ายหนังสือ เครื่องดื่มและของที่ระลึก และอาคารปฏิบัติการทางโบราณคดีที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และบริเวณใกล้เคียง
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูก ช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2,000 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ
ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องใน วัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด
เจ้าหน้าที่ในเมืองโบราณศรีเทพ ระบุว่า ทุกพื้นที่ในบริเวณเมืองโบราณศรีเทพมีเรื่องราวที่สะท้อนภาพในอดีต ไม่ว่าจะขุดลงไปตรงไหนก็จะพบเจอหลักฐานต่าง ๆ เช่น ความเชื่อในการฝังศพคนพร้อมกับสุนัขและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
อาคารวิชาการและห้องสมุด
เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและห้องสมุด
ปรางค์สองพี่น้อง
เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้องนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์)ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปรางค์ศรีเทพ
เป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก
เขาคลังใน
เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18
มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
บริเวณด้านนอกเมืองยังมีโบราณสถานที่มีคุณค่าและน่าสนใจอีก 2 แห่ง ได้แก่
เขาคลังนอก
เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่นอกเมือง ไม่สุภาพงออกไปราว 2กิโลเมตร สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่างๆอยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถือได้ว่าเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน
ปรางค์ฤาษี
ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ไม่สุภาพงออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูนตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ
ปัจจุบันเมืองโบราณศรีเทพได้รับความสนใจในการเข้าชมทั้งชาวไทยและต่างชาติ สิ่งที่สำคัญมากในการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม คือการเคารพต่อสถานที่ ไม่หยิบจับหรือสร้างความกระทบกระเทือนในทุกพื้นที่ รวมทั้งการแสดงออกผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปหรือวิดีโอ ควรเป็นไปอย่างสุภาพและสำรวม
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น.
ติดต่อวิทยากรเพื่อการเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โทรศัพท์ 056-921322
ที่มา:
https://www.finearts.go.th/main/view/8207-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
https://www.thaipbs.or.th/now/content/357