“วิสาหกิจเพื่อสังคม” กับเทรนด์ SE เมืองไทย ไปถึงไหนแล้ว
Profit (ผลกำไร) People (คน) และ Planet (โลก) ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในทำการทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน แต่สำหรับธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง คงต้องลำดับความสำคัญอีกแบบ โดยเริ่มต้น Planet, People แล้วตามด้วย Profit
คำอธิบายที่ทำให้เห็นภาพของคำว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” จาก “พิเชษฐ โตนิติวงศ์” ผู้จัดการไปทั่ว บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หนึ่งในต้นแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2556 ก่อนที่คำว่า SE จะเข้ามามีบทบาทในเมืองไทย
สวส. กับการผลักดัน SE ในเมืองไทย
เมื่อกระแสโลกมุ่งหวังการพึ่งพาและเกื้อกูลกันเพื่อสร้างความสมดุล ประเทศไทยจึงมีการจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
นภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) เปิดเผยว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคม เป็นธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักคือส่งเสริมการแก้ไขและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่ง และนับเป็นเทรนด์โลกที่สอดคล้องกับหลักการของคำว่า Sustainable Development Goal (SDGs), BCG (Bio-Circular-Green Economy), ESG (Environment – Social – Governance), SE – Social Enterprise
สวส. มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือสังคม นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 222 กิจการ แต่ละกิจการมีจุดมุ่งหมายในการคืนกำไรสู่สังคม และสร้างสังคมที่มีความเกื้อกูล อุดหนุนซึ่งกันและกัน
เดินหน้าสานพลัง สร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล
“SE หรือ กิจการเพื่อสังคม เป็นหนึ่งในเทรนด์โลกที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเชื่อมั่นว่าหากประเทศไทย มีจำนวน SE เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นตามไปด้วย
สวส. จะเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน ซึ่งมีการดำเนินงานในทิศทางที่สอดคล้องกัน และยังมีจำนวนอีกมากในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ สามารถร่วมผลักดัน ภาพรวมของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในปีนี้ สวส. มีแผนในการผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อการศึกษาและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้าซึ่งมีอยู่ 200 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล รวมทั้งการเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้านภาษี สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนผ่าน BOI เป็นต้น”
ขณะเดียวกัน สวส. ยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และสร้างความรับรู้ระบบนิเวศวิสาหกิจเพื่อสังคม ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “สังคมแห่งความสุข สังคมแห่ง การพัฒนาด้วยวิสาหกิจเพื่อสังคม” โดยมีเจ้าหน้าที่ สวส. ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566
ภายในงาน มีวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นแบบเข้าร่วมเสวนาแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ “พฤฒิ เกิดชูชื่น” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, “พิเชษฐ โตนิติวงศ์” ผู้จัดการไปทั่ว บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ “นาวี นาควัชระ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด
แดรี่โฮม เกษตรอินทรีย์ วิถีแห่งความยั่งยืน
“แดรี่โฮม” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงของฟาร์มโคนมในประเทศไทย จากการผลิตที่มุ่งเน้นปริมาณไปสู่คุณภาพ มุ่งสู่ “น้ำนมอินทรีย์” โดยใช้หลักการของ “เกษตรอินทรีย์” ที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อโลก เป็นอีกธุรกิจที่มุ่งประเด็นทางสังคมมาก่อนที่จะเข้าร่วมจดทะเบียนกับ สวส.
พฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า การดำเนินงานตามหลักการเกษตรอินทรีย์ของแดรี่โฮม สร้างผลกระทบเชิงบวกไปยัง 3 กลุ่ม เริ่มต้นจากการสร้างนมคุณภาพดีให้กับกลุ่ม “ผู้บริโภค” ได้รับประทานน้ำนมคุณภาพดี ปราศจากสารเคมีหรือสารพิษ
สร้างระบบฟาร์มยั่งยืนให้กับกลุ่ม “เกษตรกร” โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกร สร้างรายได้จากสินค้าที่มีคุณภาพ จูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับมาสานต่อธุรกิจฟาร์มโคนม ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรฟาร์มโคนมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย หากภายใน 5 ปี ไม่มีลูกหลานมาสืบทอดกิจการ อาจจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำนมโคในประเทศไทยลดลง จนต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้า
อีกกลุ่ม คือ “สิ่งแวดล้อม” ปัจจุบันแดรี่โฮม มีเกษตรกรที่เลี้ยงวัวนมในพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ แนวทางเกษตรอินทรีย์สามารถลดการใช้สารเคมีในการปลูกหญ้าเลี้ยงวัวได้หลายแสนกิโลกรัมต่อปี ลดมลพิษจากสารเคมีที่ไหลลงดิน น้ำ และอากาศ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีสำหรับโคนม นับเป็นผลกระทบเชิงบวกที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ตัวแทนจากวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นแบบทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจที่ส่งคืนสู่สังคมในหลายมิติ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำกำไรจากการประกอบกิจการคืนกลับสู่สังคมเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าอย่างไร กิจการเพื่อสังคมก็ยังต้องอาศัยหลักการทางธุรกิจและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ เช่นที่แดรี่โฮม กำไรจากการการประกอบกิจการ จะนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เป็นต้น
สวส. ระบุว่า ในปี 2565 การเพิ่มขึ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมมีอัตราการเติบโต 30% ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและวิกฤตโรคระบาด คาดว่านับจาก ปี 2566 จำนวนของวิสาหกิจและกิจการเพื่อสังคมจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี
“หากมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น สังคมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” โดยวันนี้ ผู้ผลิต และผู้บริโภคส่วนหนึ่ง เริ่มมีความเข้าใจในระบบของวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนส่วนที่น้อยมาก และจำกัดอยู่ใน “นิชมาร์เก็ต” หากต้องการเปลี่ยนกลไกทางการตลาดให้เข้าสู่โลกแห่งความยั่งยืนที่แท้จริง ต้นทางการผลิต การตลาด และผู้บริโภค รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ จำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต กิน ใช้ และสนับสนุนสินค้าและบริการที่ส่งเสริมสังคม ให้เข้าสู่ระดับ “แมส”
เมื่อนั้นภาพของความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งมีจุดแข็งด้านการเกษตร และการเป็นแหล่งอาหาร จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ได้ที่ https://www.osep.or.th/