ล่องวิถีสะแกกรัง ฟังเรื่องราววิถีชาวแพ
ถึงจะเป็นหน้าฝน แต่การล่องเรือชมวิถีชาวแพสะแกกรังก็สวยงามไปอีกแบบ ช่วงที่หลบสายฝนขึ้นไปนั่งพักบนแพของพี่ยุทธ เราก็ได้ฟังเรื่องราวความผูกพันของคนกับสายน้ำ จากปากของลูกหลานชาวแพคนนี้
ได้ทราบว่าชาวแพไม่ได้ว่ายน้ำเป็นกันทุกคนหรอกนะ สมัยก่อนอาจจะใช่ แต่ปัจจุบัน หากเป็นเขยหรือสะไภ้ก็อาจจะว่ายไม่เป็น ส่วนพี่ยุทธนั้น “ใครจะท้าแข่งว่ายข้ามฝั่ง” ก็ขอให้บอกมา
“ผมเป็นเด็กชาวแพที่นี่ เกิดที่นี่ แพที่เราเห็นปัจจุบันเหลือน้อยมาก ในมัยก่อนชุมชนเรือนแพมีเป็นพัน ๆ หลังคาแพ มีทั้งมีทะเบียนแพและไม่มีทะเบียนแพ สมัยก่อนการอยู่เกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน มีของกินของใช้อะไรก็แบ่งปันกัน เป็นชุมชนที่มีความผาสุก มีความรัก ความสามัคคีกัน พอโตมาแล้ว ลักษณะการเวลาเปลี่ยนแปลงไป เรือนแพก็เหลือน้อยลง ที่เราเห็นทุกวันนี้ เรือนแพที่มี โดยประมาณ 391 หลังคาครัวเรือน ส่วนประชากรประมาณ 646 คน เป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี มีทั้งหมด 15 ชุมชน ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ 7 ชื่อว่าชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรัง ปัจจุบันอาศัยอยู่จริงประมาณ 165 หลังคาแพเท่านั้น
แม่น้ำสะแกกรัง เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาโมโกจู อุทยานแม่วงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นธารน้ำไหลมา จนมาเป็นแม่น้ำสะแกกรัง ความยาวประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเขตอำเภอเมือง ใช้ทำการเกษตร อุปโภค บริโภค น้ำประปา และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเรือนแพ
แม่น้ำนี้แห่งยังเป็นสายธารแห่งประเพณี ในสมัยตอนเป็นเด็กจะมีประเพณีลอยกระทง การแข่งขันเรือพื้นบ้าน แข่งขันเรือยาว มาสมัยหลังก็จะมีการจัดการแข่งขันในช่วงประเพณีออกพรรษา หรือประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ”
“ยงยุทธ ภาครัตณี” เริ่มต้นเล่าอย่างฉะฉาน ทำให้เราเห็นถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยว
“ชาวแพปัจจุบันมีอาชีพแตกต่างกันไป ทั้งรับจ้าง เลี้ยงปลา หาปลา ทำประมง ค้าขาย และหนึ่งอย่างที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาวิถีชาวแพ คือ การทำเกษตรลอยน้ำ หรือ การปลูกผักลอยน้ำ ประกอบด้วย ผักบุ้ง ผักกระเฉด เตยหอม ไม้ดอกไม้ประดับ
เช่น การปลูกผักบุ้ง ปลูก 1 อย่าง จะได้ประโยชน์ถึง 3 อย่าง ตั้งแต่นำไปขายเป็นรายได้ นำมาทำอาหาร และการใช้ผักบุ้งเป็นอาหารปลา ปลาที่เลี้ยงไว้ก็เช่นปลาแรด ปลาสวาย ปลาเทโพ
แม่น้ำสะแกกรังยังมีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแม่น้ำสะแกกรังจะไหลแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไหลมาบรรจบกันอีกครั้ง ทำให้เกิดเป็นเกาะน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชื่อว่าเกาะเทโพ มีเนื้อที่ประมาณ 14,625 ไร่ ในเกาะแห่งนี้ มีการทำเการเกษตรกันมาก ทั้งการปลูกข้าว พืชผักสวนครัว ส่งไปยังตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง”
เตยหอมลอยน้ำ ความต่างที่สร้างมูลค่า
ใครที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในแม่น้ำสะแกกรังจะมีการปลูกเตยหอมเป็นแพใหญ่ บ้างก็วางแพหน้าบ้านตัวเอง บ้างก็ลากไปวางในที่ว่าง ๆ ริมน้ำ เป็นการเกษตรที่หลายคนคงไม่รู้ว่า เป็นของดีที่มีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอขาย
“วิถีของชาวแพ เป็นวิถีที่พึ่งพาธรรมชาติ ลำน้ำที่เราเห็นนอกจากเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นกระชังเลี้ยงปลา และแปลงเกษตร ปัจจุบันที่เห็นเป็นล่ำเป็นสัน คือ การปลูกต้นเตยหอม ความพิเศษของเตยหอมที่ปลูกบนน้ำได้ เนื่องจากเวลาจะทำให้แพลอยจะใช้ไม้ไผ่ มีอายุการใช้งาน 4-6 ปี เมื่อถึงเวลาเราจะนำไม้ไผ่ใหม่เข้าไปแทนที่ และนำไม้ไผ่เก่ามาทำเป็นแพเตยหอม โดยไม่ต้องใช้ดิน พอรากเขาขยายแล้ว จะเปล่งกอขึ้นไป ชาวแพก็จะนำเตยหอมมาตัดไปขาย ตอนนี้กิโลกรัมละ 40 บาท
เตยหอมยังมีคุณสมบัติพิเศษ เป็นระบบนิเวศของน้ำ หรือปลา ใต้น้ำจะมีราก ปลาแรดก็จะอาศัยรากฝอยของเตยหอมเป็นรังเพื่อวางไข่ ส่วนด้านบนที่เป็นกอ จะมีนกน้ำต่าง ๆ เช่น นกเป็ดน้ำ มาวางไข่
ความพิเศษกว่าการปลูกบนดิน แม้ว่าบนดินนั้นใบเตยหอมจะใหญ่กว่า มีสีเขียวเข้ม แต่การปลูกในน้ำ สีเขียวจะไม่เข้มมากนัก ใบไม่ใหญ่เท่า แต่มีกลิ่นหอมมากกว่าบนดิน”
ปัจจุบันใบเตยจะมีออเดอร์จากแม่ค้าในจังหวัด เฉพาะในอุทัยก็ถือว่าไม่พอขายแล้ว เพราะใช้ได้ทั้งไหว้พระ ทำอาหาร นำไปหุงข้าวให้หอม ที่นิยมมากตอนนื้คือนำไปทำลอดช่อง นอกจากนั้นยังมีร้านดอกไม้มาสั่งให้จัดเป็นเตยหอมช่อเล็กสำหรับตกแต่ช่อดอกไม้ด้วย
เส้นทางของเตยหอม จึงไปได้สวย
สะแกกรัง แหล่งกำเนิดกระชัง
พี่ยุทธ ยังเล่าต่อว่า ชาวแพจะมีการเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการเลี้ยงทั่วประเทศ แต่จุดกำเนิดจริง ๆ เกิดจากชนชนลุ่มน้ำสะแกกรังนี่เอง
“ลุงสมโภช ส่องศรี ชาวประมงน้ำจืดสะแกกรัง ได้จดบันทึกไว้ว่า ชาวแพในสมัยก่อนมีอาชีพหาปลาเป็นส่วนใหญ่ ปลาที่ได้จะนำไปขายและนำมาทำอาหาร แต่มีวันหนึ่งปลาที่จับได้มีขนาดเล็ก จะปล่อยไปก็เสียดาย จึงได้มีแนวความคิดนำมาเลี้ยง ครั้งแรกเอาไม้ไผ่มาสานเป็นตะกร้าใบใหญ่แล้วหย่อนลงไป จนมีการพัฒนาการใช้ฝาบ้านมาตอกเป็นกล่องหรือลัง หย่อนลงไป เว้นช่องว่างให้น้ำได้ถ่ายเท ใช้ไม้ไผ่มามัดรวมกันให้ลอยได้ แล้วปล่อยปลาลงไป จนถึงปัจจุบันนี้การเลี้ยงปลากระชังมีทั่วประเทศ
ชาวแพยังมีอีกอาชีพคืออาชีพหาปลา กุ้ง หอย ยังถือว่าเป็นแม่น้ำที่ยังมีความอุดสมบูรณ์ สามารถหาสิ่งมีชีวิตในน้ำไปขายเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นรายได้ เป็นอาหาร มีให้กินทั้งปี”
หลังจากที่ฝนขาดสาย เราก็ได้เวลาขยับขยายไปยังจุดอื่นกันต่อ แพที่เราขึ้นมาพักนี้เป็นแพของพี่ยุทธและพี่สาว ซึ่งอยู่ใกล้กัน 3 หลัง เป็นมรดกที่พ่อแม่แบ่งให้มา ซึ่งแต่เดิมพี่ยุทธแกเกิดบนแพบริเวณหน้าพญาไม้รีสอร์ตในปัจจุบัน สำหรับแพ 3 หลังนี้ในอนาคตตั้งใจว่าจะทำโฮมเสตย์ ถึงตอนนี้เราอาจจะได้ไปนั่งคุยกับพี่ยุทธกันยาว ๆ อีกครั้ง
ป้าแต๋ว ปลาย่างลอยน้ำ
สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้พบหลังจากล่องเรือชมความงามท่ามกลางวิถีชีวิตชาวแพแล้ว คือการแวะขึ้นไปช้อปที่ “แพป้าแต๋ว”
ในแพเล็ก ๆ มีควันขาว ๆ เล็ดลอดออกมาจากแผงปลาที่ถูกปิดไว้ ข้างล่างเป็นกองไฟจากขี้เลื่อย ป้าแต๋ว “ศรีวภา วิบูลย์รัตน์” แกย่างปลาบนแพอยู่ทุกวัน ยกเว้นว่าวันไหนไม่มีปลาหรือไม่มีแดด แกก็ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมทั้งปลาที่ย่างไว้แล้ว รอคอยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอุดหนุน
ป้าแต๋วเล่าว่า สมัยเด็ก ๆ สนุกมาก
“อยู่มาตั้งแต่เกิดในแม่น้ำ สมัยรถขนส่งไม่มี เรือข้าวยังวิ่งพาข้าวเปลือก ข้าวโพดล่องไปกรุงเทพ ตอนเด็ก ๆ สนุก เดี๋ยวนี้ไม่สนุก มันแก่…แต่ก่อนมีหมอนไม้ซุงท่อนเต็มไปหมด เด็ก ๆ ก็ไปวิ่งเล่นกันสนุกสนาน เต็มไปถึงสะพาน 1 สะพาน 2 โน่น แพนี้ไม่ใช่บ้านที่อยู่มาตั้งแต่แรก เพราะไฟไหม้ไปครั้งหนึ่ง เลยต้องทำหมดทั้งแพ”
ป้าแต๋วเล่าต่อว่า ปลาที่กำลังย่างวันนี้เป็นปลาสร้อยจากธรรมชาติในแม่น้ำสะแกกรัง ชาวบ้านจะจับแล้วนำมาขาย ซื้อมา 3 กิโลกรัม ต้องนำมาตากให้แห้งก่อน แล้วนำมาย่าง เสียบเป็นไม้ ๆ ไม้ละ 35 บาท 3 ไม้ 100 บาท นักท่องเที่ยวทั่วไปก็อุดหนุนกันคนละสองสามไม้ แต่จะมีร้านอาหารหรือลูกค้าบางคนที่เหมาเป็น 100 ไม้เพื่อไปทำน้ำพริกขาย เพราะปลาสร้อยไม่ค่อยมีเนื้อ ย่างแล้วก้างจะกรอบ ตำเป็นน้ำพริกได้หอมอร่อย
ปลาย่างที่เป็นไฮไลต์อย่างปลาแดง หรือปลาเนื้ออ่อน ช่วงนี้ไม่มีของ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าแม้ราคาจะแพงกว่า เช่นปลาเนื้ออ่อนสดรับซื้อมากิกรัมละ 500 บาท ย่างไป 10 กิโลกรัม เหลือน้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัม ราคาขายปลาเนื้ออ่อนย่างจึงอยู่ที่ 3,000 บาทต่อกิโลกรัม ป้าบอกว่ามันไม่มีของให้ซื้อ ทางเชียงใหม่เสนอขายแต่ป้าไม่เอา เพราะเนื้อไม่เหมือนกัน
ก่อนจะกลับขึ้นฝั่ง ทุกคนก็ได้อุดหนุนสินค้าของป้าแต๋ว ซึ่งวันนี้เราเห็นวนเวียนอยู่บนแพเพียงลำพัง ป้าทำมานานแล้วต่อไปใครจะสืบทอด แกก็ยิ้มตอบ
“ลูกเขาก็ไม่ทำ เขาไม่ชอบ สงสัยหมดป้าก็คงไม่ย่างกันแล้ว แต่พวกเด็ก ๆ เขาก็เอาของที่แพไปขายตลาด เพียงแต่เขาไม่ย่างเอง”
เรือมุ่งหน้ากลับสู่ท่าน้ำวัดโบสถ์ สายตาทุกคนยังจดจ้องกับภาพของเรือนแพที่มีความเรียบง่าย แต่มีสไตล์ แต่ละหลังมีชีวิตไม่ต่างจากเราทั่วไป จำนวนน้อยที่ลดน้อยลงไป อาจจะมาจากหน้าที่การงานที่ขึ้นไปอยู่บนฝั่งมากขึ้น และอาจจะมีการก่อสร้างบ้านบนดินมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ชุมชนชาวแพสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
การล่องเรือชมวิถีชาวแพสะแกกรัง เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. กรณีฝนตกจะงดออกเรือ
โทร.09 4632 6661 (ยงยุทธ ภาครัตณี)
อุทัยธานี ยังมีของดีอีกมาก กับหลากมุมมองสดใส ท่ามกลางความเขียวขจีทั้งด้านพื้นที่และในใจผู้คน
ติดตามชมเรื่องราวของชาวแพสะแกกรัง และหลากหลายจุดท่องเที่ยว ในเส้นทาง “อยู่ดี Green ดี เที่ยวอุทัยธานี” ได้ที่