คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ ตามหลักสูตร STEM Education ในงานแข่งขันหุ่นยนต์ NeoBot
หุ่นยนต์ในสายตาของเด็กๆ หรือคนทั่วไป มันคือเรื่องสนุก ที่สร้างจินตนาการและความเพลิดเพลินใจ แต่ในปัจจุบัน หุ่นยนต์คือ สิ่งประดิษฐ์ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ทั้งด้านการผลิตและบริการ หรือที่รู้จักกันในนาม ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (AI) ที่หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีชีวิตแต่มีความเฉลียวฉลาดด้วยนั่นเอง
ล่าสุดได้อ่านข่าวงานประกวดหุ่นยนต์ และสะดุดกับคำว่า “หลักสูตร STEM Education” ที่ว่ากันว่ามีการใช้ในการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนโต ก็สามารถพัฒนาหลักสูตรนี้เข้าไปใช้ในการศึกษาได้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ การประดิษฐ์หุ่นยนต์ และโครงงานนวัตกรรมต่างๆ
แล้วเจ้า STEM Education หมายถึงอะไร ค้นหาไปเรื่อยก็เจอกับบทความในเว็บไซต์ http://www.se-edlearning.com ซึ่งอธิบายเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างกระจ่าง
โดยระบุว่า STEM Education เป็นหลักสูตรที่เน้นการ “ลงมือประดิษฐ์ (Hands on)” ภายใต้แนวคิด STEM Education หรือสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่าง S = Science (วิทยาศาสตร์) T = Technology (เทคโนโลยี) E = Engineering (วิศวกรรม) และ M = Mathematics (คณิตศาสตร์)
ในบทความยังเท้าความว่า STEM Education มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดให้ STEM Education เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อใช้ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในศตวรรษที่ 21 นี้
เรียกได้ว่าในหลักสูตร STEM Education เต็มไปด้วยการรวมศาสตร์และศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน ทักษะต่างๆ ของเด็กๆ จะถูกดึงออกมาอย่างใช้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ จนเกิดผลงานที่สามารถต่อยอดให้ใช้งานได้จริงในอนาคต
ล่าสุดได้ยินข่าวของการประกวดหุ่นยนต์ในโครงการ การแข่งขัน Robotics Workshop Competition ซึ่งตอนนี้อยู่ในรอบคัดเลือกแล้ว
น้องๆ จะต้องต่อหุ่นยนตร์ตามโจทย์ให้ทันเวลาตามกำหนด เมื่อต่อหุ่นยนต์เสร็จแล้ว ต้องพาหุ่นยนต์ของตนมาทดสอบ ด้วยการบังคับหุ่นยนต์ให้ไปในทิศทางที่ต้องการ โดยไม่โดนสิ่งกีดขวางใดๆ เด็กๆเดินถือหุ่นยนต์มาเข้าแถวทดสอบด้วยแววตาที่มุ่งมั่น ใครที่ทำเวลาได้รวดเร็วที่สุด ก็จะเป็นผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศต่อไป
อลิษา พลมาตย์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ประจำ โรงเรียนจันทศิริวิทยา เล่าว่า ได้พาตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ NeoBot เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การพัฒนาศักยภาพ พัฒนาทางความคิดให้เป็นระบบ ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นจากการประกอบหุ่นยนต์ไฟฟ้าสามารถสอดแทรกแนวความคิด ระบบการวิเคราะห์ให้กับเด็กๆ ได้ และแน่นอนว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาในการเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมีเรื่องของวงจรไฟฟ้าในบทเรียนขณะที่การร่วมกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ NeoBot ครั้งนี้จึงสามารถทำให้เด็กๆ เข้าถึง เข้าใจและเห็นภาพ เรียนรู้ถึงวิธีการลำดับความคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มากกว่าการเรียนแค่ในตำราเท่านั้น
ด.ช. อบอุ่น พงศ์ธนารักษ์ โรงเรียนสาธิตบางนา ชั้น ป.5 หรือ น้องอุ่น วัย 10 ขวบ ผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เล่าว่า รู้สึกสนุกกับกิจกรรมนี้มากเพราะชอบที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วันนี้พี่วิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์ก่อนที่เริ่มการแข่งขันหุ่นยนต์ ที่ตนได้ต่อและบังคับด้วยตัวเอง ทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตอนนี้ผมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแล้วและรอไปแข่งขันรอบต่อไป
“ผมชอบหุ่นยนต์ NeoBot มากเพราะได้สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง และการแข่งหุ่นยนต์ในวันนี้ก็สนุกมากๆ ได้มาเจอเพื่อนใหม่และได้รู้สิ่งใหม่เพราะผมไม่เคยต่อหุ่นยนต์มาก่อน พอได้ลองแล้วก็รู้สึกชอบมาก อยากให้เพื่อนๆโรงเรียนได้มีโอกาสลองต่อหุ่นยนต์บ้าง และขอให้พี่ๆจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์แบบนี้ทุกๆวันเลยครับ” น้องอุ่นกล่าว
ด้านนายวิทยา แสงสุริโยทัย ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) ในฐานะผู้จัดงาน EdTeX 2018 งานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษา ครั้งที่ 2 กล่าวว่า การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ถ้าการศึกษามีศักยภาพก็สามารถสร้างคนเก่ง คนดี ทำให้ประเทศพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเป็นการเรียนแบบบูรณาการความรู้ ไม่เน้นเพียงการท่องจำ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจ ปฏิบัติให้เห็นภาพจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา การหาข้อมูลวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆและนำไปปรับใช้ ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ผู้จัดงาน EdTeX 2018 และ บริษัท ฐิโอกะ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่หวังจะช่วยสร้างโอกาศให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนสนุก เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น เมื่อเรียนด้วยความสนุกก็จะทำให้เด็กๆเปิดรับความรู้อย่างเต็มที่
นายรังสฤษฎ์ ไตรโลกา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิโอกะ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า หุ่นยนต์ NeoBot พัฒนาและการออกแบบเทคโนโลยีด้วยการนำความรู้ทางกลศาสตร์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตร STEM Education (สะเต็มศึกษา) เพื่อเป็นสื่อและเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนการสอน ช่วยฝึกพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ โดยประเทศเกาหลีใต้นิยมใช้ในการเรียนการสอนทุกระดับ สถานศึกษา จึงเห็นโอกาสที่จะนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนมีศักยภาพ พัฒนาความรู้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการแข่งขั้น Robotics Workshop Competition รอบชิงขนะเลิศ จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน EdTex 2018 งานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษา งานที่รวบรวมเทคโนโลยีของการศึกษายุคใหม่ไว้แบบครบถ้วน
นับเป็นเส้นทางที่น่าสนใจ เพราะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตมากขึ้น แม้วันนี้จะยังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ คงได้เห็นได้ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบ