Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เปิดเส้นทาง GI ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ก่อนจะไปถึงลูกละแสน

“ผมมีแนวความคิดว่าจะผลักดันทุเรียนปากช่องให้โด่งดังเหมือนทางนนทบุรี  ที่ครั้งหนึ่งเคยประมูลกันลูกละ 8 แสนบาท”

พี่มาโนช “มาโนช รูปสมดี” เจ้าของสวนอัมพร  เล่าให้ meetThinks ฟัง นับเป็นความท้าทายก้าวต่อไป หลังจากใช้เวลา 2 ปีในการขอรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI กับเส้นทางที่ยังต้องต่อสู้กับปัญหาอีกมากมาย เพราะทุเรียนเป็นพืชที่ดูแลยาก ว่ากันว่าต้องเอาใจกันเหมือนเด็กแบเบาะ เป็นผลไม้ที่ปลูกแล้วก็ต้องปลูกซ่อมกันแทบทุกปี ไม่มีคำว่ากินยาว เหมือนไม้ผลอื่น ๆ แถมราคายังนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการควบคุมต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น

มาโนช รูปสมดี

40 ปี ทุเรียนปากช่อง สู่การขึ้นทะเบียน GI

ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน อ.ปากช่อง พี่มาโนชได้ทุ่มเทในการปลุกปั้นฟันฝ่า โดยอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน อำเภอปากช่อง และวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคลองม่วง ปากช่อง พร้อมด้วยอาจารย์ และนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งทางจังหวัดที่ช่วยผลักดัน จนทำให้ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indications: GI) ภายใต้ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ว่า “เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง” จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ปลูก

กรมทรัพย์สินทางปัญญา   นิยาม “ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” (Pakchong-Khaoyai Durian) หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน ๆ รสชาติหวาน มัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ลักษณะที่โดดเด่นของทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ “เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง”  ประกอบด้วย

  • รูป เนื้อแห้งฟู สีเหลืองสดสวย ปลูกในพื้นที่ดินแดง แร่ธาตุสมบูรณ์ ท่ามกลางสภาพอากาศเย็น ปริมาณน้ำฝนไม่มาก ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของเขาใหญ่ แหล่งโอโซนอันดับต้น ๆ ของโลก
  • รส ไม่หวานเกินไป สัมผัสนุ่ม ละมุนลิ้น น้ำที่ใช้รดมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ บ่มจนเต็มรสชาติ ท่ามกลางอากาศเย็น ๆ บนเทือกเขา
  • กลิ่น กลิ่นไม่แรง หอมถูกใจ เนื่องจากได้น้ำพอเหมาะ ไม่แฉะจนเกินไป เนื้อจึงแห้ง กลิ่นไม่แรง

ทุเรียนต้นแรก ที่ไร่วงศ์เกษตร

ไร่วงศ์เกษตร ต้นกำเนิดทุเรียนปากช่อง

หากย้อนไปราว 40 ปี ทุเรียนต้นแรกของปากช่องถือกำเนิดขึ้น ณ ไร่วงศ์เกษตร โดย “นายวิชัย วงศ์วิชัย” (ซ้ง) ซึ่งสมัยนั้นนับว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เพราะเดิมทีจะปลูกกันแต่พืชล้มลุกอย่างไร่มันไร่อ้อย คุณลุงวิชัยท่านมองหาโอกาสที่จะทำให้อาชีพเกษตรกรมีความยั่งยืน จึงเดินทางไปนำพันธุ์ทุเรียนและเงาะจากชุมพร มาทดลองปลูกในพื้นที่ปากช่อง ใช้เวลาถึง 7 ปี ในการเรียนรู้ จนได้ผลผลิต

นายวิชัย วงศ์วิชัย (ซ้ง) ไร่วงส์เกษตร ผู้นำทุเรียนต้นแรกมาปลูกที่ปากช่อง

นางรัตนา สิทธิวนกุล เจ้าของไร่วงศ์เกษตร ลูกสาวของคุณลุงวิชัย เล่าว่า เริ่มต้นปลูกทุเรียนต้นแรกประมาณปี พ.ศ.2517 ซึ่งขณะนั้นมีความยากลำบากมาก เนื่องจากลักษณะของพื้นที่ปากช่องเป็นพื้นที่แห้ง ประกอบกับสมัยก่อนยังไม่มีน้ำบาดาล การดูแลรักษาต้นทุเรียนจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ด้วยความมานะของคุณพ่อวินัย 7 ปีผ่านไปจึงได้ผลผลิต และรับรู้ได้ว่า ด้วยเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทำให้ปลูกทุเรียนได้ผลผลิตที่แตกต่าง รสชาติอร่อย เนื้อแห้ง ไม่เหมือนใคร

หลังจากมีรายได้จากสวนทุเรียน ไร่วงศ์เกษตร จึงลงทุนเจาะน้ำบาดาล และขยายพื้นที่ปลูกจาก 100 ต้นในอดีต ปัจจุบันเป็น 2,000 ต้น อย่างไรก็ตาม ทุเรียนเป็นพืชที่ดูแลยาก 40 ปีที่ผ่านมาจึงต้องมีการปลูกซ่อมทุกปี 

พี่รัตนา เล่าว่า หลังจากที่นำทุเรียนไปขายในตัวอำเภอปากช่อง ลูกค้าทั้งทั้งต่างถิ่นและในพื้นที่ ต่างสอบถามกันว่าทุเรียนเหล่านี้มาจากแหล่งใด เมื่อทราบว่าเป็นทุเรียนปากช่อง จึงเกิดกระแสตามมาดูถึงสวน จากนั้นชาวสวนอื่น ๆ ในพื้นที่ปากช่องจึงเริ่มหันมาปลูกทุเรียน เมื่อเริ่มเป็นกลุ่มใหญ่ จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจ และช่วยกันยกระดับมาตรฐานการปลูกทุเรียนที่มีคุณภาพ จนมาสู่การจดขอทะเบียน GI

“ปากช่อง เป็นเมืองใกล้กรุงเทพ มีคนมาเที่ยวเขาใหญ่เยอะมาก เราก็เลยคิดว่าทำไงให้ปากช่องมีจุดขายเพิ่มขึ้น ปากช่องมีผลไม้อร่อยหลายอย่าง  รวมทั้งทุเรียน เพราะดินตรงปากช่องปลูกทุเรียนได้อร่อยมาก  ทางกรมชลประทานมาตรวจก็บอกว่าน้ำบาดาลของที่นี่เป็นน้ำที่ดี ชาวสวนก็ร่วมแรงร่วมใจกัน โดยมีผู้ใหญ่ ทางราชการ เข้ามาช่วยแนะนำ ทำให้เราได้ GI”

ปัจจุบันทุเรียนต้นแรกของปากช่อง ยังคงให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปนาน จะมีรสชาติที่อร่อยขึ้น เปลือกบางลง แสดงให้เห็นถึงการดูแลบำรุงรักษาที่มาถูกทาง พร้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

สวนอัมพร ท่ามกลางบรรยากาศแห่งขุนเขา

พูดคุยกับพี่มาโนช ที่สวนอัมพร ปากช่อง

meetThinks มีโอกาสได้มาเยือนสวนอัมพร และพบกับพี่มาโนช ท่ามกลางบรรยากาศของบ้านไร่ชายเขาที่แสนสบาย ลมพัดพริ้วตลอดทั้งวัน  ไร่แห่งนี้มีการปลูกผลไม้หลายชนิด ที่เห็นโดดเด่นคือแก้วมังกร และทุเรียน ภายในยังมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีระบบจัดการน้ำ ระบบโซลาร์เซลล์ และที่นี่ก็เป็นศูนย์การเรียนรู้ รองรับการศึกษาดูงาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆของชาวสวนทุเรียนในปากช่อง

ปัจจุบันสวนอัมพรปลูกทุเรียนไว้ 15 ไร่ รวม 350 ต้น มีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ คือ หมอนทอง, หลงลับแล, หลินลับแล, มูซังคิง, หนามดำ, ก้านยาว, เม็ดในยายปราง และทองหลินจง โดยปีนี้เก็บผลผลิตได้แล้ว 2 สายพันธุ์ คือหมอนทอง และหลงลับแล

“การขอจด GI มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ต้องผ่านกรรมการระดับจังหวัด ผมต้องตอบคำถามเยอะพอสมควรว่า มันดียังไง อะไรยังไง กว่าจะผ่านได้ ต้องแก้ไขข้อความ เข้าไปทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็กลับมาแก้ไขอีก มันไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้เวลาประมาณ 2 ปี รวม ๆ แล้วกลุ่มทุเรียนปากช่องใช้เวลาในการรวมกลุ่มและขอ GI ประมาณ 3 ปี”

ปัจจุบันมีชาวสวนทุเรียน 39 รายในปากช่องได้รับการขึ้นทะเบียน GI รวมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ จากชาวสวนทุเรียนในอำเภอปากช่องกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งพี่มาโนชก็อยากเชิญชวนให้ชาวสวนทุกท่านในปากช่องดำเนินการขอ GI พร้อมด้วยมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice ) ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับสินค้าเกษตร ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการส่งออก

“ทุเรียนในเขตจังหวัดนครราชสีมา มีไม่น้อยกว่า 6 อำเภอ เราต้องเน้นตลาดส่งออกเท่านั้น เราถึงจะไปรอด ถ้าไม่มีมาตรฐาน GAP ก็ส่งออกไม่ได้ เบื้องต้นจึงขอมาตรฐาน GAP ก่อนแล้วขอ GI หรือจะขอพร้อมกันได้เลย หากท่านเป็นชาวสวนทุเรียนในเขตอำเภอปากช่อง ขอให้ไปปรึกษากับเกษตรอำเภอ หรือ เกษตรตำบลที่ท่านใกล้ชิด แล้วไปเขียนยื่นคำร้องไว้นะครับ เราจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดำเนินการให้”

ทุเรียน เรียนไม่จบ?

ทุเรียนเป็นพืชที่เอาใจยาก ได้ฟังจากปากของเกษตรกรหลาย ๆ ท่าน ก็ลงความเห็นตรงกัน แอบได้ยินภาษาของชาวสวนทุเรียนเขาคุยกันว่า “ทุเรียนเรียนไม่จบ” เลยต้องร้องขอให้พี่มาโนชช่วยอธิบาย

“ที่เขาพูดว่าทุเรียน เรียนไม่จบ เพราะอะไร บางคนที่เป็นครูทางภาคตะวันออกบอกว่า ถ้าตั้งใจจริง มันต้องจบ แต่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มันเป็นไม่ได้เป็นแหล่งทุเรียน  มันเป็นทุเรียนนอกเขต แหล่งทุเรียนจริง ๆ มันต้องได้ความชิ้นสัมพัทธ์ที่สูง ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำต้องดี แต่เขตพื้นที่ปากช่องเป็นพื้นที่ร้อน และความแห้งมากกว่า ทุเรียนก็ต้องปรับสภาพ  กว่าจะอยู่ตัวได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นจุดเด่นว่า เนื้อจะแห้งกว่าภาคตะวันออก แล้วสภาพของดินบางส่วน ความเป็นกรดเป็นด่างก็มีผลกับการเติบโตของทุเรียน องค์ความรู้สมาชิกต้องมี เกิดการอบรม เบื้องต้น ค่าดินเท่าไหร่ น้ำที่รดเป็นยังไง โรคแมลง ต้องใช้ยาตัวไหน เพลี้ยจักจั่นฝอย ต้องทำยังไง

การทำสวนทุเรียนต้องรู้น้ำ รู้ดิน รู้ศัตรูของทุเรียนว่ามีอะไรบ้าง รู้จักสารเคมี ตัวยาไหนที่ต้องใช้ รู้จักวิธีสลับกลุ่มยา เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการดื้อยา รู้เรื่องของโรค ว่าเกิดแล้วมันจะแสดงอาการยังไง เป็นพื้นฐานที่สมาชิกต้องรู้

ดังนั้นผมต้องจัดอบรมสมาชิกมาเรื่อย ๆ และก็ยังไม่จบ ยังคงต้องจัดเสริมองค์ความรู้เรื่อย ๆ บางคนยังไม่ประสบปัญหาก็ไม่สนใจ พอเจอปัญหาก็เริ่มมาถามกัน ดังนั้นเราจะโตไปด้วยกัน องค์ความรู้ต้องเสริมตลอดเวลา ต้องเข้มข้น อย่าอ่อนซ้อม”

อนาคตของทุเรียน

แม้ว่าทุเรียนจะเป็นราชาแห่งผลไม้ มีผู้คนมากมายเฝ้ารอคอยฤดูกาลที่หอมหวานนี้ แต่พี่มาโนชบอกว่า ปัจจุบันการจัดการต้นทุนของชาวสวนทุเรียนก็ยังนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย

“เราจะทำยังไงให้ต้นทุนไม่เกิน 50 บาท เพื่อให้อยู่รอด เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคต จีนจะทำได้ต่ำกว่า 100 ไหม ถ้าต้นทุนการผลิตไม่เกิน 50 บาทต่อกิโลกรัม เรายังรอด ถ้าทำไม่ได้ ต้องทำยังไงให้มันได้ จึงต้องไปหาองค์ความรู้กับคนที่เขาทำสำเร็จแล้วมาให้ความรู้กับเรา ส่วนนี้ผมประสานไว้หมดแล้ว ถ้าทุเรียนต่ำกว่า 100 หรือสัก 70 บาท ชาวสวนก็ต้องอยู่ให้รอด  ตอนนี้เรามีนักวิชาการ กูรู หรือ ปราชญชาวบ้านที่จะมาช่วยผมแล้ว เรารอว่าจังหวะและโอกาส มาให้องค์ความรู้ซึ่งกันและกัน”

ทุเรียนลูกละ ….? แสน

จากความฮือฮาของทุเรียนนนท์ ที่ประมูลกันเป็นหลักแสน ทำให้พี่มาโนชอยากเห็นทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ไปถึงจุดนั้นให้ได้ เพราะหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียน GI ได้โปรโมทให้คนได้รู้ ได้ชิม ได้พิสูจน์ว่า “เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง” เป็นเช่นไร จากนั้นก็ถึงเวลาปั้นดาวดวงใหม่

“ในปีหน้า ผมจะพยายามผลักดัน ให้มีการประกวดทุเรียนคุณภาพของ GI เพื่อเฟ้นหาผลผลิตที่สวย แล้วหานายทุนมาประมูลเพื่อสร้างการรับรู้ทุเรียน GI ปากช่องเขาใหญ่ในโลกโซเชียลมากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะนำรายได้คืนสู่สังคม หรือให้กลุ่มวิสาหกิจทั้งสองกลุ่ม ใช้ในการบริหารจัดการ พัฒนาเพิ่มองค์ความรู้ให้กับสมาชิก ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้มันเกิดขึ้น ปีหน้าถ้าไม่พลาดอะไรก็จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ครับ”

ฟังเสียงให้ชื่นใจ ชาวสวนทุเรียนปากช่อง ว่ายังไง

หลังจากได้พูดคุยกับพี่มาโนช เรายังได้พบกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ปากช่องอีกหลายท่าน นับเป็นเสียงสะท้อนของชาวสวนทุเรียนปากช่อง ที่ฟังแล้วชื่นใจไปด้วย

มนิดา เคนผาพงศ์

นางสาวมนิตา เคนผาพงศ์ เจ้าของสวน Treatcher Farm (ทรีทเฌอ ฟาร์ม) กล่าวว่า ทรีทเฌอ ฟาร์ม ให้ผลผลิตทุเรียนเป็นปีที่ 3 ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เพิ่งรับรู้ว่ามีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ปากช่อง  ดังนั้นการขึ้นทะเบียน GI จึงถือเป็นการเสริมภาพลักษณ์ด้านมาตรฐานของทุเรียนปากช่อง ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเป็นของดีมีคุณภาพ

“เมื่อลูกค้าได้มาชิม อย่างแรกเขาทักเลยว่า กลิ่นไม่แรงมาก เหมาะสำหรับคนที่เริ่มทานทุเรียน หรือไม่ชอบกลิ่นแรง ๆ  เนื้อสัมผัสค่อนข้างครีม ๆ ละมุน เนียนนุ่ม ที่ลูกค้าติดใจมากคือ ระดับความหวาน ไม่หวานมากเกินไป”

วัชรพงษ์ อิ่มลิ้มธาร

นายวัชรพงษ์ อิ่มลิ้มธาร เจ้าของไร่กฤติพงศ์ กล่าวว่า เป็นชาวปากช่องที่ได้เรียนรู้จากการทำเกษตรจากพ่อแม่ โดยเริ่มออกจากงานประจำมาทำสวนประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีความยินดีมากที่ทุเรียนปากช่อง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI  เนื่องจากพื้นที่ปากช่อง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีบรรยากาศที่ดี ดินที่ดี ความชื้นสัมพัทธ์ที่ดี ทำให้ทุเรียนมีรสชาติอร่อย เป็นที่ชื่นชอบของคนที่เคยชิม

“ทุเรียนที่ไร่ เมื่อลูกค้าได้ชิม ติดอกติดใจ เนื่องจากว่า มีรสชาติที่นุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง กินแล้วไม่มีกลิ่นฉุนออกมาเลย หลายท่านชิมแล้วติดใจซื้อแล้วซื้ออีก”

วาที ทองสัมฤทธิ์

นายวาที ทองสัมฤทธิ์ เจ้าของสวนทุเรียนบ้านไร่ภูฟ้าใส กล่าวว่า สวนทุเรียนบ้านไร่ภูฟ้าใส เป็นหนึ่งใน GI จาก 39 สวน ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI สร้างความภาคภูมิใจ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากทุเรียนในแหล่งอื่น สามารถการันตีว่า ทุเรียนของปากช่อง เป็นของปากช่องจริง ๆ ไม่ใช่ของถิ่นอื่นมาปลอมปน และเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน

“การทำบันทึกของ GI ต่างๆ นั้น มันสามารถระบุได้ว่า เราทำทุเรียนปลอดภัยให้กับผู้บริโภคด้วย เพราะในบันทึกจะบอกว่า เราบำรุงต้นเมื่อไหร่ ทำอะไรกับต้นนั้นบ้าง ทุกต้นมีชื่อหมด ทุกต้นมีการติดแทกติดป้ายกำกับ ทำทุเรียนปลอดภัยหมายความว่า ระยะเวลาหลังจาก 45 วันสุดท้าย มันจะปลอดสารเคมี เมื่อมี GI ผสมกับมาตรฐาน GAP  ก็สร้างความมั่นใจได้เลย”

ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ทุเรียน GI เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง ตามไปพิสูจน์ได้ในช่วงปลายมิถุนายน-ปลายกรกฎาคม ของทุกปี (บางสวนอาจจะมีผลผลิตจนถึงเดือนสิงหาคม)

GI กับมูลค่าเพิ่มของทุเรียน

สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

  • การันตีถึงของแท้ ปลูกในพื้นที่ อ.ปากช่องเท่านั้น
  • มีกฎระเบียบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน
  • มีการตรวจประเมินเพื่อขอการขึ้นทะเบียนทุก 2 ปี

สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้เกษตรกร

  • ขึ้นแท่นผลผลิตระดับพรีเมียม เพิ่มราคาได้ 10-20 บาท ต่อกิโลกรัม (ทุเรียน GI ปากช่อง ราคาประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม)
  • สร้างความภาคภูมิใจ มั่นใจ ทำตลาดได้ง่ายขึ้น
  • สร้างความแตกต่างจากทุเรียนนอกพื้นที่

เก็บทุเรียนเมื่อไหร่ (พอ) ดี

120 วันหลังออกดอก             เหมาะสำหรับทุเรียนกล่อง หรือทุเรียนที่ทำการส่งออกไปต่างประเทศ

135 วันหลังออกดอก             เหมาะสำหรับทุเรียนที่จำหน่ายในประเทศ

140 วันหลังออกดอก             เหมาะสำหรับทุเรียนหน้าสวน หรือการกินทุเรียนที่สวน

(ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในขณะนั้นด้วย)

ชมคลิปวิดีโอ ความเป็นมาของทุเรียนปากช่อง โดยทีม meetThinks

Post a comment

nine − 2 =