Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เรื่องของหลอดไฟ มะยงชิดและมะปราง

นอกจากคำถามยอดฮิตว่ามะยงชิดแตกต่างจากมะปรางอย่างไร สิ่งหนึ่งเมื่อเข้ามายังสวนนพรัตน์ คือการถามถึงเรื่องราวของหลอดไฟ

ถ้าใครยังไม่รู้ ก็คงสงสัยว่า มีเหตุผลอะไรที่เจ้าของสวนต้องผลิตหลอดไฟเอง….

รตต.อำนวย หงส์ทอง นายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก เจ้าของสวนนพรัตน์ สวนมะปรางและมะยงชิด ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก หรือ “ดาบนวย”​  ท่านเล่าว่า ได้เริ่มทำสวนมะปราง-มะยงชิดมากว่า 30 ปีแล้ว ถือเป็นเจ้าแรก ๆ ที่มีสวนขนาดใหญ่ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40 ไร่ จนมาถึงปัจจุบันมะยงชิดและมะปรางได้รับความนิยมมากจึงปลูกกันอย่างแพร่หลาย สวนนพรัตน์จึงไม่ใช่สวนใหญ่เพียงรายเดียว

ของดี GI นครนายก

หากเล่าย้อนไปในสมัยที่มีต้นพันธุ์เข้ามาใหม่ ๆ ราคาสูงถึงต้นละ 1,000 บาท ยังเป็นช่วงที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยงสักเท่าไหร่  จนมาถึงปัจจุบันใครไปใครมานครนายกในช่วงปลายหนาวต้นร้อน (กพ. –  เม.ย.) ก็จะต้องถามหามะยงชิดและมะปรางหวาน ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับขึ้นทะเบียน GI  เรียกว่ามองไปทางไหนก็มีมะยงชิด ขนาดเข้าวัดพระท่านยังบอกว่าโยมนำมาถวายไม่มีขาด

สัมผัสแรกเมื่อเข้าไปยังสวนนพรัตน์ ยามสายของวันนั้นอากาศค่อนข้างเป็นใจ แดดไม่แรงจนเกินไป เหมาะกับการเดิมอยู่ในร่มครึ้มของต้นมะยงชิดน้อยใหญ่เรียงรายเป็นระเบียบ ถือเป็นสวนสวยแปลกตา  กลุ่มที่อยู่มานานก็เป็นต้นใหญ่ ๆ ส่วนที่ปลูกเพิ่มใหม่ก็มีขนาดเล็กน่ารัก

วันนี้มีการสาธิตการเก็บมะยงชิด ใช้บันไดไม้ไผ่ขนาดยาวพาดกับกิ่งที่ต้องการ แล้วก็ไต่ขึ้นไปเก็บ ดูง่าย ๆ แต่ก็ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญพอสมควร เพราะเท่าที่ดูแล้ว ผลของมะยงชิดจะอยู่ปลายกิ่ง การพาดบันไดจึงต้องเล็งให้ดี หากเจอกิ่งที่ไม่แข็งแรงสถานการณ์เปลี่ยนทันที

เมื่อมีมะยงชิด ก็ต้องมีมะยงห่าง

จากมะยงชิดเดินลัดเข้าไปในสวนมะปราง เป็นมะปรางหวานลูกโต คนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่เป็นประจำก็คงแยกไม่ออกว่าต้นไหนมะยงชิด ต้นไหนมะปราง แต่ชาวสวนเขาดูออก จากผลและใบที่แตกต่างกัน ส่วนรสชาตินั้น คาดว่าคงจะถูกตั้งคำถามมาเป็นร้อยเป็นพันครั้งแล้ว

มะยงชิด

มะปรางหวาน

มะปราง เป็นผลไม้ฤดูร้อน ที่ให้ความสดชื่น ทั้งมองด้วยสายตา จากความเขียวครึ้มของต้นที่มีใบดก แซมด้วยสีเหลืองอมส้มของผล ถ้าเป็นมะยงชิดลูกก็จะมน ๆ เหมือนไข่ไก่ และมีสีส้มสดกว่า เนื้อจะกรอบกว่า มีรสหวาน เปรี้ยวเล็กน้อยประมาณ 5 -10 % ส่วนมะปรางจะมีรสหวาน 100%

ในตระกูลมะปราง มีทั้งมะยงชิด มะยงห่าง และกาวาง สำหรับ “มะยงห่าง” แม้จะมองว่าเหมือนมะยงชิด แต่รสชาติเปรี้ยวกว่า ขณะที่ “กาวาง” ขนาดอีกายังวางทิ้งไว้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าจะเปรี้ยวขนาดไหน ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้จึงไม่เป็นที่นิยม ส่วนที่พูดถึง “มะปราง” ก็ต้องเป็นมะปรางหวานผลใหญ่เท่านั้น

เดินชมสวนกันแก้มตุ่ย เพลิดเพลินเป็นนกกา สังเกตได้ว่าในสวนมีนกอาศัยอยู่มาก “ดาบนวย” บอกว่า  สวนนพรัตน์เป็นมิตรกับพวกมัน อยากกินเท่าไหร่ก็กินไป ไม่ถือว่าเสียหายมาก ถ้าเทียบกับการหาทางป้องกันคงต้องลงทุนมากกว่า

รตต.อำนวย หงส์ทอง

ภูมิปัญญาที่มาจากความบังเอิญ

ส่วนเรื่องของหลอดไฟ ต้องย้อนไปเมื่อปี 2559 สมัยนั้นดาบนวยได้จ้างคนงานชาย 1 คน พร้อมให้บ้านพักในสวน ฝั่งภรรยาของคนงานซึ่งไม่มีหน้าที่ใด ก็อาศัยทำอาหารไปขาย ใช้เวลาเตรียมของ 2 รอบ ตั้งแต่หกโมงถึงสามทุ่ม และ ตีสามถึงหกโมงเช้า

ท่ามกลางความมืดก็ต้องอาศัยแสงไฟจากหลอดนีออน (หลอดฟลูออเรสเซนส์) ทำอยู่อย่างนั้นหมุนเวียนอยู่ระยะใหญ่ วันดีคืนดีก็มาบอกกับดาบนวยว่า “มะปรางออกลูก” ซึ่งตอนนั้นดาบนวยไม่เชื่อและไม่ได้สนใจ เพราะยังอยู่ในเดือนตุลาคม ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลของมัน แต่ผ่านไปจนเธอมาบอกอีกครั้งว่ามะปรางสุกแล้วนะ จึงได้ตัดสินใจไปดู

ดาบนวยจึงเชื่อว่า แสงของหลอดไฟน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ จากนั้นก็ลองนำหลอดไฟมาติดตามต้น ซึ่งตอนนั้นเริ่มทดลองเพียง 10 ต้น หลังจาก 8 วันก็พบว่ามะปรางออกช่อจริง ๆ จึงลองพิสูจน์อีกครั้งจนมั่นใจ

แสงสว่างที่มิอาจซ่อนไว้

เรื่องที่น่าจะเป็นความลับกลับสว่างไสวเหมือนหลอดไฟที่ส่องแสงไปทั่วสวน มันไม่ใช่ปุ๋ยสูตรพิเศษที่จะแอบคิดค้นกันแบบเงียบ ๆ เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นแสงไฟ ก็เต็มไปด้วยคำถาม จากนั้นก็รั้วแทบพังเพราะคนแห่กันมาชม จนถึงปัจจุบันดาบนวยก็ใช้วิธีการนี้ พร้อมด้วยการผลิตหลอดไฟไว้ใช้เองด้วย

แต่ฤดูกาลของมะปรางหรือมะยงชิดก็ยังอยู่ในฤดูร้อน หลังจากหมดหนาวและมีอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ผลผลิตก็จะเริ่มออก ดาบนวยจึงทำการติดไฟบนต้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน พอเข้ากุมภาพันธ์ก็เริ่มเก็บผลได้แล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงต้นฤดูกาล มะยงชิดจะทำราคาได้กิโลกรัมละ 350 – 400 บาท แต่ดาบนวยก็บอกว่าไม่กล้าขายถึงขนาดนั้นหรอกนะ

มาเที่ยวก็เพลิน ได้คุยกับเจ้าของสวนก็ยิ่งเพลินกว่า ปัจจุบันจึงมีผู้ที่สนใจหมุนเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย จนมะยงชิดและมะปรางหวานไม่พอขาย เพราะมาแล้วออเดอร์ทะลัก จองไว้ 1 มาถึงแล้วทะลุไปหลายเท่าตัวทุกครั้ง ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวสวนมะปราง รวมทั้งเศรษฐกิจของจังหวัด เพราะมาแล้วคงไม่ดิ่งมากินมะยงชิดแล้วกลับ ต้องพักค้างหรือกินเที่ยวนครนายกกันต่อ

โดยปกติแล้วทุกคนก็จะชอบความหวาน แต่กลายเป็นว่ามะยงชิดกลับต้องใจหลาย ๆ คนมากกว่า เพราะแม้ว่ามะปรางจะหวานนุ่มละมุนละไม แต่ความสดใสแบบชีวิตจริง ก็ต้องมีอมเปรี้ยวกันบ้าง 

 

15 สวนชวนชิดใกล้ 

ททท. จัดโปรปัง “เส้นทางอร่อยสุดฟิน กินมะยงชิด มะปรางหวาน@นครนายก” นำเสนอ 15 สวนมะยงชิด/มะปราง ที่จังหวัดนครนายก เมื่อซื้อมะยงชิด/มะปราง Scan Qrcode ลงทะเบียนรับสิทธิที่หน้าสวน รับส่วนลดทันที 100 บาท เมื่อซื้อครบ 300 บาท ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2568 รวมจำนวน 1,500 สิทธิ์ (กำหนดสวนละ 100 สิทธิ์) เฉพาะผู้ที่มีบัตรประชาชนนอกเขตจังหวัดนครนายกเท่านั้น

รายชื่อสวนที่เข้าร่วมกิจกรรมและรายละเอียดต่าง ๆ ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/1BTuAP1UJL/

Post a comment

5 × five =