ป้องกันอย่างเข้าใจด้วยหน้ากากผ้าแบบใส จาก พม.
ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการประมาณ 2.2 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีผู้พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย (คนหูหนวก) ประมาณ 3.8 แสนคน
หลายคนคงทราบดีว่าพวกเขาไม่สามารถได้ยินเสียงหรือไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูด แต่จะใช้ภาษามือในการสื่อสาร โดยการทำท่าทางที่บ่งบอกถึงความหมาย แต่นอกจากนั้นยังต้องอาศัยการอ่านปาก การเคลื่อนไหวรวมทั้งการแสดงความรู้สึกทางใบหน้าตามไปด้วย
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้แต่คนธรรมดาทั่วไปที่ใส่หน้ากากผ้า ยังสื่อสารกันยาก เพราะเสียงอุดอู้ที่อยู่ใต้หน้ากาก ยิ่งในสถานที่ที่มีเสียงดัง ต้องพูดซ้ำกันอยู่หลายครั้งหลายครา สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน อาจจะมีอุปสรรคมากกว่า เพราะแม้จะเห็นท่าทางแต่ก็ไม่สามารถอ่านรูปปากเพื่อประกอบความหมายที่ชัดเจนได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน รวมทั้งคนพิการ จึงได้นำเสนอหน้ากากผ้าแบบใสเพื่อคนพิการทางการได้ยิน เพื่อช่วยให้การสื่อสารของพวกเขาเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมส่งเสริมการป้องกันการแพร่ระบาดให้กับผู้พิการทางการได้ยินในช่วงเวลานี้
นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า หน้ากากผ้าสำหรับคนพิการทางการได้ยิน เป็นหน้ากากผ้าที่มีพลาสติกใสอยู่ตรงกลาง เพื่อช่วยให้การพูดสื่อสารมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยการมองเห็นรูปปากที่ชัดเจน และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
“ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนพิการเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงวิธีการป้องกันตนเองและการดูแลสุขอนามัยที่ดีได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้มีมาตรการดูแลคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดสอนการเย็บหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ (โรงงานปีคนพิการสากล) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด พก. เพื่อฝึกสอนประชาชนและจิตอาสา รวมทั้งผลิตหน้ากากผ้าโดยคนพิการ และจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ มีเอกลักษณ์เป็นลายผ้าขาวม้า ด้วยลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ สามารถใส่ได้ 2 ด้าน ซักรีดได้ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่”
ทั้งนี้หน้ากากผ้าแบบมีช่องใส มีคุณสมบัติเด่นเทียบเท่ากับหน้ากากผ้า 3 ชั้น ได้มาตรฐาน และป้องกันละอองฝอยจากน้ำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายจองเชื้อโรค อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือช่วยในการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก ล่ามภาษามือ คู่สนทนาทั้งคนปกติและคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายด้วยกัน ทำให้คนพิการมีความสุขในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้ภายในเดือนเมษายนนี้ และจะมีการสอนทำหน้ากากดังกล่าวฟรีทางสื่อโซเชียลมีเดียในเร็วๆ นี้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ทาง พม. มีมาตรการดูแลคนพิการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองและการปฏิบัติตัวในสถานการณ์โรคระบาด การฝึกอบรมการทำหน้ากากให้กับผู้พิการได้ไว้ใช้เอง และนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนั้น ยังมีมาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา จำนวน 1,000 บาทในเดือนเมษายน
การพักชำระหนี้สำหรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่กู้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ถึงเดือน มี.ค. 2564
การกู้ยืมเงินกองทุนฯ เพื่อประกอบอาชีพในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ใช้เวลาผ่อนชำระภายใน 5 ปี และปลอดชำระหนี้ในปีแรก โดยสามารถยื่นกู้ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางออนไลน์ www.dep.go.th และศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563.
ด้านการส่งเสริมรายได้ ยังได้เปิดให้ผู้พิการนำสินค้ามาจำหน่ายได้ฟรีทางเพจเฟซบุ๊ก “ฝากร้านคนพิการ” ซึ่งผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปร่วมอุดหนุนกันได้
ส่วนใครที่อยากแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับสังคม สามารถบริจาคอุปกรณ์ทำหน้ากากผ้าแบบใส สามารถบริจาคได้ที่ อาคาร 60 ปี กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ ซึ่งอุปกรณ์ที่ประชาชนนำมาบริจาค เจ้าหน้าที่จะนำไปผลิตหน้ากากแบบใสเพื่อนำไปส่งมอบให้กับล่ามและคนพิการทางการได้ยินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในสื่อสาร
นับเป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกต่อ เพราะการดูแลตัวเองยังคงมีความสำคัญเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน วัยใด ก็สามารถร่วมเป็นหนึ่งในพลังของสังคมในการฝ่าฟันวิกฤตของโรคระบาดในครั้งนี้ไปได้