ไป “ละลุ” ทะลุถึงไหน
คนเราไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ แม้ส่วนใหญ่ชอบออกมาตะโกนว่า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะแม้แค่การปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวัน เราก็รู้สึกขัดหูขัดตาเสียกระบวนท่าการใช้ชีวิตไปเสียแล้ว
“แปรงสีฟันฉันอยู่ไหน” รับรองว่าคุณจะเป็นอีกคนที่มึนงงหน้ากระจก หากวันใดวันหนึ่ง อุปกรณ์ยามเช้าของคุณได้ย้ายที่อยู่ออกไปตั้งรกรากใหม่ แม้จะเป็นเพียงฝั่งซ้ายไปฝั่งขวา ก็เขม่นลูกกะตาแล้วว่า ฝีมือใคร!
ความรู้สึกพอๆ กับแม่มาเยี่ยมที่หอพัก พอกลับไปแล้ว อะไรที่เคยอยู่ (ไม่เป็นที่) ก็กลายเป็นหายไปตามระเบียบ (เรียบร้อย)
คนอยากผอม จึงอยากได้ความเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ก็ยังอยากฟินกินสุโก้ยโซ้ยแหลกอยู่นี่นา จะย้ายร่างออกไปตุเลงเต๊งชึ่งในฟิตเนสก็แหม ไม่มีมีเวลามากหรอกนะ คนทำงานมาเหนื่อยๆ มันต้องพักบ้างรู้รึเปล่า…
ข้ามเรื่องความเปลี่ยนแปลง มายังอีกความเปลี่ยนแปลง เพราะธรรมชาติสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของหลากสรรพสิ่งในหลายมุมมอง เช่นประติมากรรมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในหลายที่ รวมทั้ง “ละลุ” ที่มาจากภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” เป็นการบรรยายลักษณะของชั้นดินที่ถูกกัดกร่อน เป็นร่องเป็นรอย บ้างก็ทะลุทะลวง กลายเป็นนิทรรศการมีชีวิตขนาดใหญ่บนพื้นที่ราว 2,000 ไร่ ในหมู่บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
การไปเที่ยวชม “ละลุ” แน่นอนว่า เราคงทะลุมิติผ่านกระจกไปไม่ได้ ต้องขับรถหรืออาศัยรถโดยสารไปสระแก้ว ใช้เวลาแบบใจเย็นๆราว 3 ชั่วโมง
จุดแรกก่อนทะลุ ต้องไปรายงานตัวกันที่ศูนย์ท่องเที่ยวประจำหมู่บ้านคลองยาง คิวรถอีแต๊กจะคอยบริการนักท่องเที่ยวอยู่ตรงนั้น คันหนึ่งนั่งได้ 6 คน ราคารอบละ 200 บาท ถามพี่คนขับแล้วว่า 200 บาท เที่ยวได้กี่ชั่วโมง พี่แกบอก “แล้วแต่เลยครับ” ก็คิดนะว่าพี่เขาใจดี ซึ่งเขาก็ใจดีจริงๆ นะ ไม่ได้มีอะไรเคลือบแคลงเลย
ราวกิโลกว่าๆ ต๊อกแต๊กๆ กันไปในหมู่บ้าน ผ่านไร่นา จนทะลุมาถึงดินแดนทะลุที่ว่า ซึ่งวันนี้แม้จะอยู่ในช่วงหน้าฝน ก็แสบร้อนทะลุทะลวงจากแสงแดดที่ร่วมมาทะลุด้วยกันโดยไม่ได้นัดหมาย แต่พอให้อภัยได้ เพราะความแปลกตาตรงหน้า หันมองไปมา มีอยู่หลากหลายกลุ่มแนวดิน ที่สร้างตัวจากลมจากฝน จนเป็นประติมากรรมที่มีลักษณะคล้ายกำแพง มองอีกทีก็เหมือนภูเขาเล็กๆในรูปแบบ 2 มิติ เพราะจะเป็นภูเขาบางๆ หน่อย มองให้ดีก็เหมือนปราสาทในเทพนิยายอยู่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกจินตนาการแบบวัยไหน
ข้อดีอีกอย่างของฟ้าที่เปิดกว้างในวันนี้ คือ แสงที่ตกกระทบ สร้างน้ำหนักแรงเงาของวัตถุ ที่หมายถึงตัวเนินดิน หากเป็นวันฟ้าปิด แสงเงาก็อาจจะไม่ครบองค์ประกอบศิลป์ก็เป็นได้
ยอมรับว่า ก็ร้อนนะ ซึ่งไม่มากเท่าไหร่หรอก แต่จะให้อยู่นานแค่ไหนกันล่ะ…นั่นไง …นึกถึงหน้าพี่อีแต๊กได้แล้ว
เขาผู้นั่งตะคุ่มๆ จอดรอใต้ร่มไม้อย่างสบายใจ ก็ใช่สินะ จะมานานเท่าไหร่ก็ได้ ที่ร่มในบริเวณนี้ก็ค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก เป็นการเดินชมนิทรรศการประติมากรรมแนวไตรกีฬา อาบเหงื่อชุ่มน้ำเดินไปมาขาพันวัน
ก็เห็นว่าตรงนั้นก็ดี ตรงนี้ก็สวย แล้วเราก็ไม่ใช่พี่อีแต๊กที่นั่งอมยิ้มอยู่ที่นี่ เขาแค่เปิดประตูบ้านแล้วทะลุมาละลุได้ทันที อารมณ์ตื่นเต้นจึงได้ทลายหายไปหมดแล้ว คนที่นานๆ มาทีก็ขอชื่นชมกันอย่างอดทนนานๆ หน่อยนะ
กลายเป็นเรื่องสนุกจนได้ กับการมาเที่ยว “ละลุ” ซึ่งไม่คิดว่า ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ จะสร้างภาพความน่าประหลาดใจเกิดขึ้นได้เพียงนี้ ชาวบ้านมองเห็นแค่ดิน แต่คนมาเห็นบอกนี่ละถิ่นประติมากรรมทางธรรมชาติ จนกลายเป็นที่สนใจ มาแล้วก็ยอมรับว่าชอบใจอยู่ไม่น้อย ใครจะมาก็เตรียมหมวก แว่นตา เน็กไท แล้วแต่จะคิดว่าอะไรจะกันแดดได้ จริงๆ ร่มอันเดียวคือคำตอบ แต่คนสะพายกล้องอาจจะไม่ถนัดนัก
กลับมายืนอีกที ป่าเขียวขจีก็ชอุ่มรอบกาย เสียงสาดซ่าของน้ำตกอยู่ใกล้ๆ แต่ที่นี่ไม่ได้ใกล้กับละลุ ต้องขับรถออกมากันไกลอีกเป็นชั่วโมง ถึงจะมาหลบซบแนวขุนเขากันที่ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” วันนี้มาเดินป่าหลักสูตรเบื้องต้น เลาะริมลำธารสายเล็กๆ ในเขตอุทยาน เดินสบายไม่เหนื่อยนัก โดยมีพี่เจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ออกจากป่ามายัง “น้ำตกปางสีดา” ซึ่งอยู่บริเวณใกล้กับทางเข้าอุทยานฯ นับเป็นน้ำตกอีกจุดที่เข้าชมได้ง่าย แค่ลงเดินไปนิดเดียวก็ได้ชมความอลังการ รับความชุ่มฉ่ำให้ลืมความร้อนฉ่ากันไปเลย แต่การมาเที่ยวน้ำตก ก็ต้องบอกกล่าวย้ำเตือนกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ที่กลุ่มก้อนหินจะมีความลื่นเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าตรงไหนเห็นว่าเสี่ยงเกินไปก็ไม่ควรย่างเข้าไป โดยเฉพาะตรงไหนที่มีป้ายห้ามป้ายเตือนให้ระวัง
ที่เล่ามาไม่ได้น่ากลัวอะไรมาก แถมยังสวยมาก แต่ก็เตือนกันไว้ก่อนมันก็ดีกว่า เพราะบางที เวลาที่เห็นอะไรสวยงามอลังการ เราก็มักจะพุ่งตัวเข้าไปหา จนลืมไปว่า สถานการณ์บางที่มันเปลี่ยนไปแล้ว
แต่ที่นี่ไม่เคยเปลี่ยน สองปีที่แล้วเคยมาเยือน “โรงเรียนกาสรกสิวิทย์” โรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตรให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงเรียนแห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น ด้วยมุ่งหวังให้ชีวิตของคนกับควาย สามารถอยู่ร่วมกันและพึ่งพากันได้ นอกจากนี้จะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย
ครั้งก่อนเราได้พบกับกระบือทรงเลี้ยง “คุณเผือก” หรือ “คุณตะเพาแก้ว” ควายเผือกเพศผู้ ผู้น่ารักน่าชัง เป็นควายงามมิตรภาพ เพราะไม่ว่าใครไปใครมา ก็กลายเป็นขวัญใจ เช่นเดียวกับครั้งนี้ แม้ว่าคุณตะเพาแก้วจะนอนพักผ่อนในอิริยาบถสบายๆ อยู่ในคอก แต่เมื่อเราเข้าไปขอรบกวนเพื่อที่จะทำการบันทึกภาพ ก็ไม่ขัด แต่อาจจะกระซิบออกมาทางสายตาว่า เร็วๆ หน่อยเถอะ ใกล้เวลาพักผ่อนแล้ว อยากนอนมากกว่า อะไรทำนองนั้น
ถึงจะทะลุไปหลายที่ แต่วันเดียวเที่ยวกันยังไม่ทะลุหรอกนะ เพราะสระแก้วเขามีมุมให้เลือกชมกันอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของชุมชนอันเข้มแข็ง มีเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาในแต่ละพื้นที่ หรือจะเป็นกิจกรรมแอดเวนเจอร์ลุยถ้ำ ซึ่งช่วงนี้ภูเขาแถบถ้ำน้ำเขาศิวะกำลังสวย ไม่เข้าถ้ำก็ไปดื่มด่ำธรรมชาติโดยรอบได้ เห็นมาว่ามีร้านอาหาร ร้านกาแฟเปิดให้นั่งเล่นกันหลายจุด
รวมทั้งที่ “ร้านกาแฟบ้านย่า” กระท่อมกาแฟปลายนาสุดชิลล์ และน่าจะเป็นอีกมุมที่คนเมืองแสวงหา เพราะได้เปลี่ยนจากรูปทรงเหลี่ยมๆ ของตึกรามและท้องถนน มาเป็นแนวโค้ง รูปทรงอิสระ ของเทือกเขาไร่นา มองเพลินตา แชะมาเพลินใจ โพสต์ไอจีกันให้กระจาย เป็นความสุขเล็กๆ ที่ไม่เดือดร้อนใคร แถมยังช่วยชุมชนให้มีอาชีพเสริม และเราเองก็ได้ที่พักก่อนเดินทางกลับ
แอบเห็นกิมมิคเล็กๆ ที่เรายังถือว่ามาไม่ถึง คือเมนูอาหารที่มีให้บริการ สั่งแล้วก็ไปรอกันปลายนา แต่ละเพิงก็ห่างกันไม่น้อย เห็นน้องเด็กเสิร์ฟหิ้วปิ่นโตชิงแชมป์เดินไวผ่านไปมา เพราะช่วงวันหยุดจะมีคนเข้ามาใช้บริการกันมาก
จากละลุ ทะลุไปไหนได้บ้าง เที่ยวสระแก้วคราวหน้า ก็ลองชะแว้บไปกัน