ชมรมนิสิตเก่า ม.เกษตรศาสตร์ เพชรบุรี เชิดชูสองนักสู้ “รักษ์” โลก
ชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จังหวัดเพชรบุรี (KU.เพชรบุรี) มอบรางวัลบุคคลดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนประจำปี 2567 ให้กับ 2 นักอนุรักษ์หัวใจสีเขียวได้แก่ เสรี มานิช ในรางวัลประเภทบุคคลทั่วไป และชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในรางวัลประเภทสมาชิกชมรม
พิธีการมอบรางวัลได้ถูกจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล ไดมอน จ.เพชรบุรี ท่ามกลางศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เข้าร่วมงานกันอย่างอบอุ่น โดยมี ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ประธานชมรม KU.เพชรบุรี เป็นประธานเปิดงาน
ดร.กรัณย์ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการมอบรางวัลครั้งนี้ก็เพื่อเชิดชูบุคลากรที่ทำงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมของชมรม KU. เพชรบุรี ที่มีจุดประสงค์ของการก่อตั้งชมรมไม่เพียงต้องการให้เป็นที่ที่รวมตัวกันสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวเกษตรศาสตร์เท่านั้น แต่ยังต้องการส่งเสริมให้ชาวเกษตรศาสตร์ในจังหวัดเพชรบุรีมุ่งทำประโยชน์ให้กับสังคมในพื้นที่อีกด้วย โดยนำวิชาความรู้จากการร่ำเรียนมาบูรณาการปรับใช้ ในเวลาเดียวกัน ชมรมยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ทั้งสองท่านที่ได้รับรางวัลเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ไม่เพียงในจังหวัดเพชรบุรี แต่ยังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยรวมของประเทศ เป็นบุคคลแบบอย่างในงานด้านอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อสานงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป” ดร.กรัณย์ กล่าว
เสรี เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างในแวดวงนักอนุรักษ์ มีทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนเข้าหาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์อยู่เสมอ เขาเป็นนักอนุรักษ์นกชายเลนในพื้นที่ ต.แหลมผักเบี้ย-ปากทะเล จ.เพชรบุรี กว่า 20 ปี ปัจจุบันดูแลพื้นที่ทำรังวางไข่นกหัวโตมลายูในพื้นที่ ต.แหลมผักเบี้ย และเขายังมีบทบาทสำคัญในการสำรวจและรายงานข้อมูลนกชายเลนในพื้นที่ ต.แหลมผักเบี้ย ต.บางแก้ว และ ต.ปากทะเลให้กับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์นกท้องถิ่น และนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้สนใจการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
อย่างในปีที่ผ่านมา เขายังได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และมุมมองการอนุรักษ์นกกับตัวแทนจาก International Conservation Fund of Canada (ICFC) โดยมีสมาคมอนุรักษ์และธรรมชาติแห่งประเทศไทยเป็นหัวหอกนำคณะตัวแทนดังกล่าวเข้าดูงานในพื้นที่โครงการพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล (Pak Thale Nature Reserve) เรียนรู้ระบบนิเวศชายฝั่ง
“ผมรู้สึกดีใจที่ได้รางวัลนี้ มีคนเห็นในคุณค่าของงานอนุรักษ์ที่ทำ” เสรี กล่าวและย้ำว่า “การมีนกเป็นหนึ่งตัวชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่” เมื่อถามถึงอนาคตงานด้านอนุรักษ์ เขาวาดฝันว่า “อยากให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของนกและสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมหล่อเลี้ยงชีวิตคนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารักษาไว้ได้ เราก็จะมีชีวิตที่ผาสุกต่อไป”
ขณะที่ ชัยวัฒน์ เป็นชาวอำเภอท่ายาง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสาขาการบริหารทรัพยากรป่าไม้ ตามลำดับ สำหรับหน้าที่การงาน เขาทำงานในแวดวงป่าไม้มาทั้งชีวิต โยกย้ายไปจังหวัดต่างๆตามบทบาทที่ได้รับ ค่อยๆไต่เต้าจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จากปี 2551 ถึง 2557 และผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เขามีผลงานโดดเด่นในการพิทักษ์ผืนป่า ทำงานด้วยความกล้าหาญ ป้องกันการบุกรุกจากการทำลายผืนป่าในรูปแบบต่างๆมาอย่างยาวนาน เขาถือเป็นนักสู้อีกคนหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ เนื่องจากที่ไม่หวั่นกับอำนาจและอิทธิพลใดๆจากทางการเมือง กล้าที่จะออกมาเปิดโปงความจริงเพื่อรักษาผืนป่าของประเทศ ไม่ให้ตกไปเป็นของนายทุน