เล่าเรื่องเมืองลอง “ตัวตน” ในทัศนะของ อาจารย์โกมล พานิชพันธ์
ราว 40 กิโลเมตรจากตัวเมืองแพร่ เส้นทางบนเนินเขาที่คดเคี้ยว มองเห็นทัศนียภาพอันสวยงาม ดินแดนแห่งนี้มีชื่อสั้น ๆ ว่า “ลอง” เดิมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำปาง หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ในปี 2475 ทางการจึงได้โอนเมืองลองมาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแพร่
เอกลักษณ์ของเมืองลอง จึงมีความแตกต่างจากเมืองแพร่ แม้จะใช้ภาษาเดียวกัน แต่หากวิเคราะห์ถึงรายละเอียดที่ลึกลงไป คนเมืองลอง มีตัวตนที่แตกต่างจากคนแพร่ และนี่คือเรื่องราวของเมืองลอง ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมืองลอง เจ้าของพิพิธภัณฑ์กมลผ้าโบราณ อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ที่ Meetthinks มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยถึงความเป็นไปของเมืองลองในปัจจุบัน
ท่องเที่ยวเมืองลองในทัศนะของคนเมืองลอง
“อยากให้การท่องเที่ยวเมืองลองไปในแนวของเชิงวัฒนธรรม เพราะเราอาจจะไม่มีวิวที่สวยที่สุด แต่เรามีสิ่งหนึ่งคือ ตัวตน ของตัวเอง ก็คือวัฒนธรรมความเป็นคนเมืองลอง ถามว่าคนเมืองลองกับแพร่เหมือนกันหรือเปล่า ภาษาเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ต่างกัน เพราะอดีตเมืองลองเคยอยู่กับลำปางมาก่อน เพิ่งมาเป็นส่วนหนึ่งของแพร่ประมาณ 80 ปีนี่เอง
ตั้งแต่อาหารการกิน การแต่งกาย อาจจะต้องใช้คำว่า ขัดแย้ง กับทางเมืองแพร่ คนเมืองลองก็จะมีตัวตนอีกแบบหนึ่ง เสื้อผ้าประจำจังหวัดแพร่เป็นหม้อห้อม แต่ทางเมืองลองจะเป็นผ้าจก เป็นผ้าแบบพื้นเมืองล้านนา ถือเป็นเสน่ห์ของเมืองลอง ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน มาเที่ยวแล้วมีความสุขกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนเมืองลอง”
ขนมจีนน้ำย้อย เมนูเมืองลอง ที่ต้องลอง
“อาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลอง คือ ขนมจีนน้ำย้อย ที่ผ่านมาเราพยายามปรับปรุงเมนูดั้งเดิมนี้ให้มีหน้าตาและ รสชาติที่ดีขึ้น อยากทำให้มีเสน่ห์ขึ้น เพราะเมื่อก่อนเป็นขนมจีนที่กินกับน้ำปลาและพริกป่นเท่านั้นเอง ตอนหลังก็มีการพัฒนาน้ำพริกขึ้นมา ทำให้ขนมจีนน้ำย้อยมีมูลค่าขึ้น เคยเชิญ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ไปชิมขนมจีนน้ำย้อยบ้านคุณธงชัย (ร้านธงชัยน้ำย้อยแม่ลาน) จนตอนหลังคนแน่นมาก เที่ยงครึ่งถึงบ่ายโมงก็จะหมดแล้ว ก็ไปพัฒนาอีกร้านหนึ่ง ซึ่งเจ้านี้เขาก็เก่งเรื่องการพัฒนาสินค้า จนทำให้มียอดขายเจ็ดหลักต่อเดือน
ในเมืองลองมีร้านขนมจีนน้ำย้อยกว่าสองร้อยเจ้า ถามว่าเจ้าไหนอร่อยสุด ต้องบอกว่ามาตรฐานเดียวกัน แต่รสชาติขึ้นอยู่กับคนชอบ”
วัฒนธรรมการรับแขก จุดกำเนิด “โฮมสเตย์”
“ที่เมืองลองจะมีงานประเพณีดั้งเดิม คือ งานนมัสการพระธาตุศรีดอนคำ (จัดประมาณเดือน พ.ย.ของทุกปี) สมัยก่อนคนทั้งในอำเภอและจากอำเภอใกล้เคียง จะเดินทางมานอนที่เมืองลองคืนหนึ่ง เพื่อมากราบพระธาตุศรีดอนคำ เพราะสมัยก่อนไม่มีรถ ต้องเดินกันมาเป็นวัน ๆ แล้วมานอนที่วัด แต่ในวัดก็ไม่มีที่เพียงพอ จึงต้องไปนอนกับชาวบ้านในชุมชนใกล้วัด แต่ละบ้านก็จะต้องมีที่นอนไว้ 7-8 ที่ไว้รองรับ นี่ก็เป็นอีกจุดแข็งที่ผลักดันเป็นโฮมสเตย์ เพราะเรามีวัฒนธรรมการรับแขกมาก่อน แต่เปลี่ยนให้หน้าตาดีขึ้น ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร”
ผ้าจก
เมืองลอง เอกลักษณ์ที่ไม่มีสิ้นสุด
“อาจกล่าวได้ว่าทักษะการทอผ้าจกที่ดีที่สุดอยู่ที่เมืองลอง เพราะช่างสามารถจินตนาการได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่สมัยโบราณมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นจุดแข็งของการทำผ้าที่เมืองลอง และเป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดัน การรู้จักตัวตนของเราให้ชัดเจนขึ้น
ลวดลายที่ไม่ซ้ำกัน คือ จุดเด่นของผ้าตีนจกเมืองลอง ผ้าจกเมืองลองมีเทคนิคเฉพาะตัว จะมีฝีมือที่บอกถึงที่มาได้ หากเดินไปตลาดก็ดูออกว่าร้านนี้เอาผ้าเราไปขาย แต่คนทั่วไปจะไม่รู้
สิ่งสำคัญในการผลักดันผ้าจกเมืองลอง คือ การตลาด เพราะการผลิตเพื่อสวมใส่ถือว่าเต็มอัตราแล้ว แต่จะทำยังไงให้ได้ขาย เมื่อก่อนผมไปเปิดตลาดที่กรุงเทพ เพราะถ้าเปิดตลาดที่นี่ยังไงผมก็ไม่ดัง มันก็จะเป็นตลาดเล็ก ๆ อยู่ในวงแคบ ๆ พ่อผมเป็นคนจีนเคยสอนว่า ต้องขึ้นไปบนยอดเขาแล้วรินน้ำลงมา น้ำก็จะไหลมาทั่ว ผมก็เลยไปกรุงเทพ ไปเปิดตลาดที่เอ็มโพเรียม แล้วก็ไปคิงพาวเวอร์ ตอนยุคแรก ๆ เราทำผ้าราคาไม่แพงไปขายให้ห้างคาร์ฟูด้วย กระจายไป 45 สาขาทั่วประเทศ ถือเป็นการขยายตลาด ที่ผ่านมาก็มีการนำผ้าไปให้ใช้ในเวทีประกวดนางสาวไทยบ้าง ทำให้ผ้าจกเมืองลองเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
อนาคตผ้าจกเมืองลอง มรดกจากรุ่นสู่รุ่น
“การทอผ้าถือได้ว่าเป็นอาชีพที่สองของคนเมืองลอง เด็ก ๆ เริ่มทอผ้าเป็นตั้งแต่ ป.4 เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในลักษณะของแม่สอนลูก เพื่อนบ้านสอนเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าที่นี่ไม่มีป้ายห้ามถ่ายรูป เราจะหวงยังไงก็ไม่ได้ เพราะยังไงเขาก็อยู่ข้างบ้านกัน เขาดูกันได้ มันเป็นวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง แล้วลายผ้ามันมาจากจินตนาการ สวยงามยังไงก็แล้วแต่ฝีมือของใคร มันจะเกิดการพัฒนาในตัวเอง ดูแล้วก็คุยกันว่า ใครสวยกว่ากัน ฉันต้องสวยกว่าเธอ อะไรทำนองนี้ เป็นแนวทางที่เราจูงใจให้คนอยากทอผ้า”
รู้จักตัวตนคนเมืองลอง ในพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
“พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ เปิดปีเมื่อปี 2535 แต่เก็บสะสมมาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณอาที่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อาจารย์วิถี พานิชพันธ์) ท่านเป็นนักสะสม ประกอบกับผมเป็นคนชอบเที่ยว เวลาไปต่างประเทศก็เห็นคนเข้าคิวดูพิพิธภัณฑ์กันเยอะ เลยคิดว่าบ้านเราก็น่าจะมีนะ ก็เลยลองจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ขึ้นมา ก็มีคนสนใจ นโยบายของที่นี่คือ ไม่มีป้ายห้ามแม้แต่อย่างเดียว ใส่รองเท้าเข้าไปได้ ถ่ายรูปได้ เพราะผมใช้ตัวเองเป็นมาตรฐาน เคยไปดูงานที่หนึ่ง ต้องถอดรองตั้งแต่บันใดขั้นแรก ถอดแล้วยังไงล่ะ พื้นมันก็ไม่สะอาด แล้วภาพที่ไม่สวยคือ รองเท้ากองกันเป็นไปหมด เราก็เลยทำอะไรให้มันสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น จะได้มีความสุขในการเยี่ยมชมมากขึ้น
ปัจจุบันเรามีพิพิธภัณฑ์ 3 แห่ง คือที่นี่ (พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ) ที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ และที่ร้านถ่ายรูปของคุณพ่อ (พิพิธภัณฑ์ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์) ซึ่งมีรูปแบบพิพิธภัณฑ์นัดหมายชม หรืออยากจะชมก็ต้องมาที่นี่ก่อน แล้วค่อยมีคนพาไป”
จิตรกรรมฝาหนัง ยืนยันประวัติศาสตร์ผ้า 200 ปี
“ที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณตรง มีการจัดแสดงเป็นโซน เช่น ห้องแรก ด้วยความที่คุณพ่อเคยเป็นช่างภาพ ท่านเคยถ่ายภาพจิตรกรรมฝาหนังที่สื่อถึงการแต่งกายของคนที่นี่ เป็นผลงานจิตรกรรมของศิลปินท่านเดียวกันกับที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ก็จะเห็นได้ว่าชุดในภาพที่น่านก็จะเป็นไทลื้อ ที่เมืองลองก็จะเป็นไทยโยนกกับผ้าตีนจก ท่อนบนเปลือยอกแบบโบราณ มันก็เป็นเห็นภาพชัดเจนว่าผ้าของเรามีที่มาที่ไป มีตัวตน เพราะภาพเขียนมีอายุกว่า 200 ปี เพราะฉะนั้นผ้าเก่าต้องไม่ต่ำกว่า 200 ปีแน่นอน ในห้องก็จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ามีอะไรอีกบ้าง ก็ไปหาของพวกนั้นมาจัดแสดงร่วมด้วย”
หม้อห้อม หรือ ผ้าจก กับเส้นทางของลายประจำจังหวัด
“ทุกจังหวัดจะต้องมีการพัฒนาเรื่องลายผ้า อันที่จริงลายประจำจังหวัดแพร่ก็น่าจะเป็นผ้าจกเมืองลอง แต่มันไม่ได้ เพราะแพร่มีหม้อห้อมอยู่แล้ว คำขวัญเมืองแพร่ก็ไม่มีผ้าจกแม้แต่คำเดียว มีแต่หม้อห้อม ไม้สัก เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะออกลายผ้าจก ทางแพร่ก็ไม่ยอม หม้อห้อมก็ไม่มีลายเพราะเป็นผ้าพื้น เขาก็เลยต้องทำเป็นหม้อห้อมลายดอกสักขึ้นมา เพราะเมืองแพร่มีไม้สักเยอะ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นความหายนะของวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวบ้านเบลอไปหมด เราก็ต้องตามใจระบบราชการเดี๋ยวงานเขาไม่จบ ดอกสักก็ดอกสักไป แต่คราวนี้จะทำยังไงให้ดอกสักเข้ามาอยู่ในผ้าจกได้อย่างลงตัว อันที่จริงก็เคยทำออกมาแล้วคือลายดอกผักแว่นของบ้านเรา ทุกคนเห็นปุ๊บก็จะรู้จักว่าดอกผักแว่น เขาจะไม่รู้จักดอกสัก ตอนนี้ผมเลยใช้เทคนิคผสม โดยให้แนวคิดว่า ผ้าจะต้องไม่มีการกำหนดเทคนิค ทำยังไงก็ได้ให้มี 6 กลีบ 6 เกสร ก็ถือว่าเป็นดอกสัก จะปัก จะทอจก ก็ได้หมด
สำหรับลายที่ผมออกแบบไว้จะเปิดตัวในงานเล่าขานตำนานเมืองลอง ประมาณกรกฎาคมนี้ เป็นงานจัดขึ้นมา 14 ปีแล้ว กิจกรรมภายในงานคือการเล่าเรื่องเก่าให้คนเมืองลองได้ฟัง ปีแรก ๆ มีคนดูหลักร้อย หลัง ๆ มีคนดูเป็นหมื่น ถือว่าเป็นอีกงานที่น่าสนใจ”
ท่องเที่ยวเมืองลอง ลองแล้วจะรัก
“ในสถานการณ์โควิดผมไม่รู้สึกว่าอำเภอลองเดือดร้อนนะ เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยมีนักท่องเที่ยวเลย แต่พอช่วงโควิด คนกลับมาเที่ยวที่นี่เยอะขึ้น กลุ่มคนไทยเที่ยวไทย และผู้สูงอายุเข้ามาเที่ยวเมืองลองมากขึ้น ถือว่าตรงกับแนวทางของท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นเมืองที่อาจจะยังสด ปลอดภัย วิถีชีวิตเรียบง่าย นักท่องเที่ยวที่อยากจะมาเสพเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ค่อนข้างชัดเจนและเป็นตัวตน ก็ขอเชิญมาที่เมืองลอง”
เป็นช่วงการสนทนาเพียงสั้น ๆ ในโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ อาจารย์โกมลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมืองลอง จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก หากมีโอกาสไปเยือนเมืองลอง แล้วแวะไปพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่อาจารย์จะอยู่ที่นั่น เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ฟังเรื่องราวที่สะท้อนตัวตนของเมืองลอง เมืองที่ยังมีแง่มุมให้ค้นหากันไม่จบสิ้น ดังเช่นลวดลายของผ้าจกเมืองลอง
พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
เปิดให้เข้าชม 9.30-17.30 น. (เข้าชมฟรี)
ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่
โทร. 08 1807 9960
ตัวอย่างผลงานของอาจารย์โกมล พานิชพันธ์
– ออกแบบชิ้นงานเอกพระบรมสาทิศลักษณ์ของสมเด็จพระบรมราชนีนาถ โดยจัดแสดง ณ ชั้น 6 อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
– ออกแบบเครื่องแต่งกายโฆษณา คาร์โก้ การบินไทย ปี พ.ศ.2540 2541 และ 2542
-ออกแบบชุดประกวดนางสาวไทย ณ พระตำหนักดอยตุง ปี พ.ศ.2539
-ออกแบบชุดประกวดนางสาวไทย “ชุดการแต่งกาย 4 ภาค” ปี พ.ศ.2544
-ออกแบบชุดแต่งกายภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย “ชุดมหาเทวีจีรประภา” ปี พ.ศ.2543
-ผลิตเครื่องแต่งกายการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี พ.ศ.2540 2541
-ผลิตเครื่องแต่งกายบางส่วนในพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ กรุงเทพฯ