Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

อินดี้โบราณ แรงบันดาลใจ ใน “เฮือนคำมุ”

หลายคนเคยเห็นควาย เคยเห็นมูลควาย เคยเห็นตอนที่พวกมันกำลังขับถ่าย แต่คงไม่ได้สังเกตอาการของมัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่น่าดูชมนัก 

แต่สำหรับชาวบ้านในสมัยก่อน โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่กับควาย พวกเขาเป็นดังมิตรสหายที่ช่วยกันทำมาหากิน เป็นสัตว์ผู้มีพระคุณของคนไทยมาช้านาน

คนโบราณสังเกตว่า เวลาควายจะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย พวกมันจะไม่ยืนเฉยๆ หรือนั่ง แต่จะเดินไปด้วยขับถ่ายไปด้วย ระหว่างนั้นอวัยวะเพศของมันก็ส่ายไปส่ายมา ภาษาอีสานเรียกว่า “เอี้ยวไปเอี้ยวมา” เป็นทางยาว

จากพฤติกรรมของควายซึ่งดูเป็นเรื่องทะลึ่งทะเล้น แต่คนอีสานสมัยก่อนเขาช่างคิดช่างจินตนาการ นำเอามาปรับเป็นลวดลายผ้ามัดหมี่ เรียกว่า “ลายหมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย”

แค่ 1 Story ก็กินขาด ได้ใจชัยภูมิไปเต็มๆ

“พิพิธภัณฑ์ ผ้าโบราณชัยภูมิ KOMGRISH

ลวดลายผ้าของคนโบราณมาจากการหยิบจับเรื่องราวใกล้ตัวมาเป็นไอเดีย เราได้เรียนรู้เรื่องนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ “พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ KOMGRISH หรือ “เฮือนคำมุ” ก่อตั้งโดย อาจารย์เอ๋-คมกฤช ฤทธิ์ขจร ศิลปินร่วมสมัยแห่งชาติ ทายาทพระยาแล จังหวัดชัยภูมิ นักอนุรักษ์ผ้าไทยที่มีความชื่นชอบด้านผ้าไทย ท่านเป็นลูกหลานเจ้าพ่อพญาแลโดยตรง จึงมีมรดกทางประวัติศาสตร์เป็นผ้าทอโบราณสะสมมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น

อาจารย์คมกฤชเคยเขียนเล่าไว้ว่า “เมืองชัยภูมิเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวชัยภูมิเป็นชนเผ่าที่เดินทางมาจาก เมืองเวียงจันทร์ โดยการนำของ นายแล (พระยาภักดีชุมพล) ซึ่งในอดีตท่านเป็นข้าราชการในวังหลวงแห่งนครเวียงจันทร์และนางบุญมี (ท่านท้าวบุญมี) ภรรยาของท่าน สตรีที่อยู่ในคุ้มหลวง (คุ้มเจ้าเมือง)จะเรียกขนานนามว่า “ผู้ดีหลวง” เนื่องจากสตรีที่อยู่ในคุ้มหลวง จะเป็นสตรีที่มีความเพียบพร้อมทั้งกริยามารยาท ความเป็นแม่ศรีเรือน” (อ้างอิงจากบล็อก OK Nation)

อาจารย์คมกฤช  เป็นทายาทของคุณยายแล พระญาติของพระยาแล และคุณแม่คำมุ (ที่มาของเฮือนคำมุ โดย “เฮือน” แปลว่า บ้านเรือน ในภาษาเหนือและอีสาน) ซึ่งได้รวบรวมผ้าทอของจังหวัดชัยภูมิ อายุ 50-300 ปี มาเพื่อจัดแสดงถึงความงดงามและเรื่องราวอันเป็นรากเหง้าของชาวชัยภูมิ

อาจารย์คมกฤช เล่าว่า ลวดลายผ้าของคนชัยภูมิ  มีแรงบันดาลใจมาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย จินตนาการ วิถีชีวิต และความเชื่อ ในโอกาสที่ได้ฟังท่านบรรยายให้ฟัง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เราก็พบถึงความงดงามอันล้ำค่า คู่ควรกับการรักษาและต่อยอด อีกทั้งยังสนุกกับเรื่องราวของความเชื่อที่น่าสนใจ

คนหลับคือคนตาย หมอนขิดช่วยได้

หมอนขิดโบราณอายุราว 100 ปี จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวของจินตนาการและความเชื่อ เพราะเชื่อกันว่า “ผ้าขิด” เป็นผ้ามงคล เป็นของสูงที่ใช้ห่อพระคัมภีร์ คนโบราณจึงเชื่อว่า เวลาที่เรานอนหลับซึ่งไม่รู้สึกตัวเหมือนคนตาย  ต้องหาอะไรมาป้องกันสิ่งชั่วร้าย จึงนำผ้าขิดมาทำเป็นหมอน ให้ทุกคนนอนฝันดี

ผ้าปรก ให้ “นาค” ปกป้อง

ผ้าปรก หรือ ผ้าคลุมหัวนาค เป็นผ้าที่ใช้ในพิธีการบวชของชาวชัยภูมิในอดีต ลวดลายที่ปรากฏเป็นไปตามคติความเชื่อของชาวอีสาน ที่เห็นเด่นชัดคือลายพญานาค

จากความเชื่อที่ว่า ในอดีตพญานาคท่านเลื่อมใสในพุทธศาสนา เมื่อท่านต้องการจะบวชจึงแปลงกายเป็นมนุษย์ แต่เมื่อเข้าสู่พิธี พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่า “ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่” พญานาคซึ่งเป็นผู้รักษาศีลจึงตอบว่า “ข้าเป็นนาคไม่ได้เป็นมนุษย์” ดังนั้นจึงไม่สามารถบวชได้ จากนั้นก็ได้ร้องขอกับพระพุทธเจ้าว่า หากมนุษย์ตนใดจะบวช ขอให้เรียกว่า “นาค” เพื่อขอรับอานิสงฆ์จากการบวชจะได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าจึงอนุญาต จึงเกิดเป็นผ้าปรกลายพญานาค เพื่อเป็นตัวแทนของพญานาคในการเข้าร่วมพิธีบวช

“ผ้าปรก” ของชาวชัยภูมิที่เราได้เห็น นับเป็นงานศิลปะที่ยังคงความเก๋มาถึงปัจจุบัน นอกจากเรื่องราวของพญานาคตามที่เล่ากันมาแล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่า คนที่กำลังจะบวช มักมีมารมาผจญ ก็เลยต้องมีผ้ามาคลุมศีรษะก่อนเข้าพิธี รวมทั้งนำผ้าขิดซึ่งเป็นสิ่งมงคลมาพันกายเพื่อปกป้องมารอีกด้วย

มงคลแทนใจ ผ้าคลุมหีบศพ

ชนเผ่าลาวใต้ในอดีต มีความเชื่อเรื่องผ้าคลุมหีบศพ เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพเสียชีวิต ในพิธีศพจะมีการคลุมผ้าไว้ โดยผ้าผืนนี้ถือเป็นของมงคล เป็นตัวแทนของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อมีการทำบุญก็จะนำผ้าผืนนั้นไปเป็นตัวแทน สำหรับผ้าผืนที่แสดงอยู่ที่เฮือนคำมุ  “คุณป้อม อัครเดช” แห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา เป็นผู้มอบให้กับอาจารย์คมกฤช เมื่อครั้งที่เปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

อินดี้นานมา ของป่าแลกผ้า

ฟังแล้วว่ายาก เมื่อมาพบคำสะกดแล้วก็ยิ่งยากกว่า  เสื้อของ “ยะคุ่น” (เขียนตามการออกเสียง)  หรือ “เสื้อญัฮกุร” หรือ “ไทบน” อายุกว่า 150 ปี เป็นเสื้อของชนเผ่าโบราณที่อาศัยอยู่บนเทือกเขา จ.ชัยภูมิ พวกเขาจะไม่ทอผ้าใช้เอง แต่จะใช้วิธีหาของป่าไปแลกมา แล้วมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่อินดี้โบราณ ที่เห็นจากเสื้อได้ว่ามีรูปร่างบอบบางร่างน้อย  พวกเขามีการประดิษฐ์ลวดลายใกล้ตัวลงไปบนเสื้อผ้า อาทิ ลายดอกยาง หรือลายดอกมะเขือ ซึ่งจะโชว์ให้เห็นอยู่ด้านหลังของเสื้อ  มองดูแล้วเห็นถึงจิตวิญญาณและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของผู้คน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ถ่ายทอดความงดงามในใจออกมาได้เสมอ  สำหรับ “เสื้อญัฮกุร” ที่ไม่เหมือนใครตัวนี้ อาจารย์คมกฤชบอกว่า ได้รับมาก่อนที่ทุ่งกระเจียวจะเปิดให้เข้าชมเสียอีก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ปัจจุบันที่เฮือนคำมุได้รวบรวมผ้าทอโบราณไว้กว่า 300 ลาย อายุ 50-300 ปี  เป็นมรดกตกทอดของครอบครัว และจากการรวบรวมเก็บไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวชัยภูมิ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดชัยภูมิ

อีกทั้งยังมีการขยายอาคารเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่เคยเสด็จมายังจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งส่วนแสดงงานศิลปะ และงานเกี่ยวกับผ้า ฯลฯ  ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้เข้าชมปลายปี 2563 โดยยังเปิดให้เข้าชมฟรีเหมือนเดิม

ใครที่ผ่านไปจังหวัดชัยภูมิจึงไม่ควรพลาดการเข้าชมเรื่องราวความงดงามในความเป็นมาของคนชัยภูมิ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่นี่ยังมีร้านกาแฟ “เฮือนคำมุ” มีลักษณะการออกแบบสไตล์อีสาน  ที่กลมกลืนและสวยงามท่ามกลางพันธุ์ไม้

นอกจากนั้นยังมีส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งผ้าทอ ของใช้ ของที่ระลึก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในส่วนทางเข้าพิพิธภัณฑ์

ในตอนท้ายของช่วงเวลาอันน้อยนิด อาจารย์คมกฤช ฝากไว้ว่า “เราเป็นคนไทย จึงอยากให้ทุกคนรักความเป็นไทย และเห็นคุณค่าของสิ่งดีงามในอดีต ไม่อยากให้เอาสิ่งดีงามนี้ไปโคลนนิ่ง แต่อยากให้เอามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะสิ่งดีงามในอดีตเป็นสิ่งสวยงาม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จากลวดลายต่าง ๆ ผ้าจะบอกถึงตัวตน และประวัติศาสตร์ในหลายมิติ”

บอกได้เลยว่า หากหลายคนรู้จักชัยภูมิ ในนามของทุ่งดอกกระเจียว แต่หากมาชัยภูมิแล้ว แค่ได้แวะ “เฮือนคำมุ” เพียงประเดี๋ยว ก็จะชื่นใจได้อีกมากเลย

Post a comment

1 × one =