ขอบคุณที่รักกัน
เมื่อดอกเตอร์ชาวอเมริกันผู้หวงความโสดไว้จนอายุใกล้ 80 ปี มาเจอกับสาวไทยที่อายุอ่อนกว่าเขาครึ่งหนึ่งที่ร้านอาหารเกาหลีในเมืองบอสตัน เขาก็บอกกับตัวเองทันทีว่า She is MINE!
แล้วแค่ 1 เดือน คนสองคนก็ยูเทิร์นชีวิต ทิ้งคำว่า “เป็นโสด” ไว้ข้างหลัง
อรวรรณสาวไทยผู้มัดใจดอกเตอร์สตีฟแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเล่าถึงเหตุการณ์ที่เจอกันครั้งแรกว่าในตอนนั้นเธอทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารเกาหลีในเมืองบอสตันครั้งนั้นเธอก็ดูแลเทคแคร์สตีฟและเพื่อนที่มาด้วยเช่นลูกค้ารายอื่นๆ
ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ
แต่สตีฟซึ่งเห็นเธอในครั้งแรกกลับบอกตัวเองว่า “She is MINE”
“รอยยิ้ม ความใส่ใจ และความอบอุ่นของอรวรรณ เป็นสิ่งที่ทำให้ประทับใจมาก” เขาเล่า
แต่ถึงจะบอกกับตัวเองเช่นนั้นสตีฟยัง “ไม่หลุด” ท่าทีอะไรพิเศษกับอรวรรณหากเขาได้แวะเวียนมากินอาหารที่ร้านนี้อีกครั้งกับเพื่อนคนเดิม
เจอสาวเสิร์ฟคนเดิมคราวนี้เขาจึงเอ่ยปากถามถึงอายุของเธอเพราะคิดว่าตนเองก็อายุเยอะหากจะคบหากันถ้าอรวรรณยังมีอายุน้อยมากก็ต้องคิดหนักหน่อย
ปรากฏว่าเจอลายกนกของสาวไทยเข้าอรวรรณไม่ยอมบอกอายุง่ายๆแต่ก็พูดคุยกับเขาด้วยดีเพราะครั้งเมื่อทำงานที่เมืองไทยเธอเคยเป็นพีอาร์ในองค์กรใหญ่มาก่อนจึงถนัดกับการดูแลเทคแคร์ผู้อื่น
“ตอนนั้นพอเขาถามอายุ ก็ร้องเฮ้ย ทำเป็นเคืองๆ ที่จริงไม่อยากบอก เพราะเราก็อายุเยอะแล้วเหมือนกัน ไม่ใช่เด็กๆ แล้ว” อรวรรณแอบเล่าไต๋
ฝ่ายชายเกรงว่าถ้าฝ่ายหญิงอายุน้อยจะเดินหน้ากันยากข้างฝ่ายหญิงก็ไม่อยากบอกอายุเพราะเกรงว่าตัวเลขจะดูเยอะ
เลิฟสตอรี่แทบจะไปต่อไม่เป็นทว่าบังเอิญบทสนทนาของคนทั้งสองในตอนหนึ่งเกี่ยวกับภาพที่ประดับอยู่ในร้านซึ่งสตีฟบอกว่าภาพของจริงน่าจะอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองวอชิงตันดี.ซี.
ให้บังเอิญอีกที่อรวรรณกำลังวางแผนไปเที่ยวดี.ซี. เขาเลยได้จังหวะอาสาส่งข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในดี.ซี.มาให้
อีเมล์กันไปอีเมล์กันมาไม่รู้พระพรหมหรือคิวปิดแผลงฤทธิ์เร่งปิดจ๊อบภายในไม่กี่วันสตีฟเลยเชิญอรวรรณไปกินอาหารที่บ้านเขาขณะที่เพื่อนๆพากันเตือนอรวรรณให้ระวังตัวเพราะเกรงอันตรายเนื่องจากตอนนั้นสตีฟยังเป็นแค่คนแปลกหน้า
แต่อรวรรณไม่คิดเช่นนั้นเธอบอกว่าคุยกับเขาแล้วมันคลิกพื้นฐานของเธอก็จบโทจากไทยอยู่ในวงการที่มีผู้บริหารเก่งๆจึงแอบชอบใจคนเก่งๆเป็นทุนเดิม
สตีฟก็มีคุณสมบัติที่ว่า
“ตอนนั้นเขาส่งข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ให้เยอะมาก เลยถามเขาว่า ทำงานอะไร เพราะรู้เยอะจัง เขาก็บอกว่าทำงานด้าน research เราก็ไปหาชื่อเขาในกูเกิล พบว่าเขาเขียนหนังสือด้วย เราก็เลยรู้สึกเขาเก่งดี เออคุยกับเขาก็ดี ได้ภาษาด้วย”
เที่ยวบ้านสตีฟครั้งแรกเขาก็ทำให้เธอทึ่งไปอีกเพราะบ้านของสตีฟเป็นเหมือนกึ่งพิพิธภัณฑ์ดีๆนี่เองเนื่องจากเขาเป็นนักสะสมตัวยงทั้งรูปปั้นภาพวาดหนังสือจากหลายมุมของโลกรวมถึงงานศิลปะเกี่ยวกับจีนซึ่งเขาชื่นชอบเป็นพิเศษ
แถมยังสามารถจดจำรายละเอียดได้ทุกชิ้นขนาดผู้เขียนแอบถามว่าถ้าของหายไปสักชิ้นสตีฟจะรู้ไหมภรรยาเลยแอบเมาท์ว่านอกจากจะรู้แล้วยังจำพ.ศ.ของแต่ละชิ้นได้อีกด้วย!!
ที่สตีฟสนใจและผูกพันกับจีนเป็นพิเศษก็เพราะพ่อของเขาเกิดที่เมืองจีนสมัยปู่ย่าไปทำงานที่นั่น
อรวรรณเองเป็นสาวเหนือมีเชื้อสายจีนพ่อแม่มาจากเมืองจีนเธอจึงเดาว่าลึกๆที่เขาถูกใจเธอก็เพราะเสน่ห์ “สาวหมวย” ผมดำ ตาดำนั่นเอง
ความชื่นชอบเรื่องจีนของสตีฟถึงขั้นที่ว่าในตอนหลังเขาทำสร้อยคอให้อรวรรณในวันเกิดโดยสลักชื่อของเขาที่เป็นภาษาจีนซึ่งเขาตั้งเองว่า “ไท่ซรื้อ” ประมาณว่า “ผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์” แถมแอบโยงเองว่าชีวิตเขาและเธอคล้ายกันเพราะพ่อแม่มาจากเมืองจีนเหมือนกัน
ผู้เขียนก็แอบคิดไม่ได้ว่าถ้าอรวรรณไปทำผมสีปีกแมลงสาบอัพจมูกโมลด์หน้าแบบผ่านเกาหลีมาคงไม่โดนใจสตีฟเป็นแน่
ถึงไม่ใช่วัยรุ่นแต่ความสัมพันธ์ก็เดินหน้าแบบฟาส์แทร็คสตีฟเสนอให้เธอมาพักบ้านเขาได้โดยบอกว่าเห็นใจที่อรวรรณต้องเดินทางไกลมาทำงานที่ร้านอาหารซึ่งอยู่ใกล้บ้านเขาขณะที่ที่พักของเธออยู่ไกลออกไป
“ตอนนั้นเรารู้แค่เขาอยู่คนเดียวมันคงเหงานะเราก็สงสารและคุยกันก็โอเคดีเหมือนเวลาเราคุยกับเพื่อนๆเขาก็ทำตัวเหมือนวัยรุ่นไม่ได้ทำตัวแก่อะไร
แล้วเขาพยายามเข้าใจเรามันรู้สึกดีไม่เหมือนเวลาคุยกับคนอื่นที่เหมือนคนละโลกน่ะ” อรวรรณเล่า
อือม์โลกของคนที่รักกันเขาย่อมพูดภาษาเดียวกันเนอะ
เธอเลยคืบคลานเข้ามาอยู่ในชีวิตของเขามากขึ้นบางวันเธอก็มาค้างที่บ้านเขาเขาเองก็พาเธอไปแนะนำกับเพื่อนฝูงไปเข้าสังคมของเขา
“ตอนนั้น เขาให้ดูหนังเรื่อง My Fair Lady ด้วย ก็รู้แล้วล่ะว่าเขาชอบเรา” อรวรรณเล่าหัวเราะๆ ถึงวิธีการจีบสาวของหนุ่มใหญ่
ขณะที่สตีฟออกตัวว่าที่ให้ดูหนังเรื่องนั้นเพราะเห็นว่ามันเป็นหนังดีสนุกแค่นั้นเอ๊ง
เอ้า..คนอ่านเชิญกดโหวต เชื่อ ไม่เชื่อ
ทีนี้ก็เป็นตาของเธอว่าจะตัดสินใจอย่างไรสาวไทยของเราบอกว่าตอนนั้นคิดหนักเหมือนกันเพราะด้วยวัยของสตีฟที่มากแล้วและเธออยู่ในจังหวะที่ตัดสินใจจะกลับประเทศไทยหลังจากอยู่บอสตันมาระยะหนึ่ง
“ตอนนั้นถึงกับร้องไห้ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรเพราะถ้าเรากลับเมืองไทยเราก็ไม่เจอเขาแล้วนะแต่ถ้าอยู่กับเขาเราจะอยู่กับเขาได้นานไหมคนอื่นจะว่าเราคิดเอาเงินเขาไหม
แต่ที่สุดเราคิดว่าเราอยากมีครอบครัวเราอยากมีลูกเรารู้สึกว่าคนๆนี้แหละพ่อของลูกชั้นตอนนั้นถึงขั้นคิดว่าถ้าไปกันไม่ได้ก็พร้อมเป็นซิงเกิลมัมหอบลูกกลับประเทศไทยก็ได้” อรวรรณเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ
เมื่อตัดสินใจเดินหน้าสาวไทยก็จริงจังกับภารกิจมิชชั่นมีน้องเธอขวนขวายหาตำราหาสารพัดวิธีที่จะ “เมคเบบี้” ส่วนสตีฟก็คงมีเหวอๆ บ้าง แต่ก็ตามใจภรรยาสาวไทย
อยู่ด้วยกันมาระยะหนึ่งเขาจึงคุกเข่าขอแต่งงานกับเธอซึ่งทำให้อรวรรณเซอร์ไพรซ์ที่ผ่านมาเธอไม่เคยเรียกร้องเขาถึงพิธีการพิธีกรรมใดๆเพราะในความคิดของเธอถือว่าทั้งคู่แต่งงานกันเรียบร้อยแล้ว
“ที่ตัดสินใจแต่งงานทั้งที่ใช้ชีวิตคนโสดมาตลอดก็เพราะเมื่อได้ใช้ชีวิตกับอรวรรณแล้วมีความสุขมาก Life is very pleasant
ประทับใจที่เขาเป็นคนมีอีคิวสูงนะแล้วก็เป็นคนอบอุ่นกับแม่ของอรวรรณเราก็เข้ากันได้ดีผมเป็น “บิ๊กแฟน” ของมอมมี้เลย” เรียกว่าทุกอย่าง Absolutely ดีมาก สตีฟชื่นชมชีวิตแต่งงาน ภรรยา ยันแม่ยาย ให้คนโสดค้อนขวับ
อรวรรณก็บอกว่าที่เธอประทับใจสตีฟอีกอย่างนอกจากความเป็นคนเก่งและแอ๊คทีฟแล้วเขายังโรแมนติคไม่เบาขยันมีเซอร์ไพรซ์ทำอะไรเล็กๆน้อยๆให้ตลอด
“ชีวิตคู่ก็ดูแลกันและกัน สองคนดีกว่าคนเดียวนะ มันจะส่งเสริมกันและกัน เราดูแลเขา เขาดูแลเรา มันยิ่งใหญ่กว่าการดูแลตัวเอง คนอื่นๆ จะเห็นเลยว่าเรามีคำพูดแก่กันตลอด
Thank you Steve
Thank you Orawan”
แหม่ๆๆๆ..เขียนไปอิจฉาไป
……………………………………………………………………………………………………………………………………………….
เพื่อให้งานเขียนเรื่องนี้ดูมีสาระกับเขาบ้าง เลยขอมีเชิงอรรถอันเป็นโน้ตจากสตีฟ ถึงที่มาของชื่อภาษาจีนของเขา
“I wanted to note one thing which concerns my adopted Chinese name. It is “Tai Shi” (太史) which is the name assigned (first, in the Shang dynasty) the senior position in the government of “Grand Historian”. It was later made famous by Sima Quan (司馬遷) who around 92 BCE wrote a two thousand year history of the China (太史公書 ) covering the period from the Yellow emperor to Emperor Wu of the Han dynasty; he is generally considered the father of Chinese historiography. As you know, I chose this name for three reasons — because I was always interested in Chinese history, my wife’s parents were both born in Yunnan province in China, and my own father was born in Shanghai.”
Steve 太史