
เรื่องเล่ายาวไกล สายน้ำคดเคี้ยว ชวนไปพายเรือเที่ยวหินซ้อน แบบโลว์คาร์บอน
เรื่องเล่าที่ส่งผ่านเป็นบทเพลง ทำให้หลายคนรู้จักอำเภอ “แก่งคอย” จากเพลง “แร้งคอย” โดยคาราบาว
แต่ “แร้งคอย” ในบทกวีที่ขับขาน จะเป็นเพียงตำนาน หรือเรื่องจริงที่เล่าต่อกันมาเนิ่นนาน
หากพิจารณาถึงสภาพพื้นซึ่งเป็นกลุ่มป่าขนาดใหญ่ ในสมัยก่อนการเดินทางผ่าน “ดงพญาไฟ” (ดงพญาเย็น) จากภาคกลางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ จะด้วยสภาพป่า การเผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายหรือโจรที่ดักปล้นฆ่า ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นสุสานที่มีฝูงอีแร้งมาเฝ้าคอยมื้ออาหารตามสัญชาติญาน ชวนให้จินตนาการถึงนาทีที่เวิ้งว้างในวันที่สงครามจบลง

แม่น้ำป่าสัก บริเวณ ต.หินซ้อน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ส่วนชื่อของ “แก่งคอย” ก็มีการอ้างอิงถึงที่มาคล้าย ๆ กัน แต่สาเหตุที่ต้องคอยนั้น เนื่องจากเกาะแก่งในแม่น้ำป่าสักช่วงฤดูแล้ง ทำให้การแล่นเรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องจอดคอยกันที่แก่งจนเป็นชื่อ “แก่งคอย”
ภายหลังการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้มีการควบคุมระดับน้ำ หน้าแล้งก็ไม่แห้งเหือดจนต้องคอยกันอยู่ที่แก่งอีกต่อไป
จากอดีตมาถึงปัจจุบัน ภาพของแก่งคอยค่อยข้างคอนทราสต์สูง นี่คือเมืองอุตสาหกรรมการผลิตปูนซิเมนต์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นดินแดนของขุนเขาและสายน้ำ ที่ยิ่งใหญ่และงดงาม
เป็นอีกหนึ่งประเด็นความท้าทายเมื่อได้ข่าวว่า จังหวัดสระบุรีกำลังก้าวสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอน ถึงระดับขั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใต้นโยบาย “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” (Saraburi Sandbox)
แน่นอนว่าเป้าหมายขนาดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ไปจนถึงคนตัวเล็ก ๆ ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งต้องฟันฝ่ากันอีกยาวนาน
แต่สิ่งที่ได้ยินแล้วชื่นใจ โดยไม่ต้องคิดไปไกล คือการได้ทราบว่า บัดนี้พลังของชุมชนในจังหวัดสระบุรี ได้เริ่มความเคลื่อนไหวบ้างแล้ว
ไม่นานมานี้ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ต.หินซ้อน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เปิดเส้นทางท่องเที่ยวหินซ้อน “ล่องลำน้ำป่าสัก ด้วยการพายแคนนู และคายัก” ภายใต้แนวคิด “แหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรักสุขภาพและการผจญภัย” (Hin-Sorn – Wellness Adventures & Ecotourism Destination) ชวนไปสัมผัส Unseen in Saraburi “ผาหมีเหนือ เสือใต้” ที่เข้าชมได้เฉพาะเส้นทางน้ำเท่านั้น
วันเปิดงานมีผู้นำระดับอำเภอและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม ล่องเรือแคนนูและคายัก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ต.หินซ้อน และ ต.ท่าคล้อ อ.แก่งคอย ให้เป็นที่รู้จัก ในนามของเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อสุขภาพและการผจญภัย
ไฮไลต์ที่สำคัญของเส้นทางนี้คือ “ผาหมีเหนือ เสือใต้” ประติมากรรมทางธรรมชาติบนหน้าผาหินปูนอันยิ่งใหญ่อลังการ ภาพแห่งจินตนาการท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำป่าสัก เป็นอีกหนึ่งในความงดงามที่เข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากต้องใช้การเดินทางด้วยเรือเท่านั้น
“ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลหินซ้อน” มีที่มาจากการรวมของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความตั้งใจสร้างสรรค์ ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอีกเป้าหมายแห่งความความเพลิดเพลินใจของเจ้าบ้านและผู้มาเยือน เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน บนพื้นที่ฐานของความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
“กิตินันท์ แม้นเลขา” หรือ “พี่เอก” ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลหินซ้อน เล่าว่า แม้จะเป็นชมรมเล็ก ๆ แต่ทุกคนก็ตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ของจังหวัดสระบุรี ซึ่งแต่เดิมที่ไม่เคยปรากฏบนแผนที่ท่องเที่ยวมาก่อน
ต.หินซ้อน อ.แก่งคอย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน และมีแหล่งอารยธรรมโบราณนับพันปี โดย “ผาหมีเหนือ เสือใต้” เป็นหน้าผาหินปูนขนาดใหญ่ และถ้ำ ซึ่งเป็นจุดไฮไลต์ของการท่องเที่ยวในเส้นทางนี้
พี่เอก เล่าวว่า ชาวบ้านหินซ้อนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม น้ำจากเขื่อนป่าสักจะถูกปล่อยผ่านพื้นที่เกษตรกรรมเป็นทางคดเคี้ยว พวกเขาต่างคุ้นเคยกับการสัญจรทางน้ำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกเรือไปหาปลา หรือเก็บหน่อไม้ในป่า
กลุ่มคนในชมรมฯ ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยในพื้นที่ ได้เล็งเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ ในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชมความงดงามเป็นเอกลักษณ์

คุณจิ๋ง ปนัดดา มาศศรีไสย เหรัญญิกชมรมฯ ผู้ที่นำเรามาเจอกับช่วงเวลาแห่งความสุขใจในครั้งนี้
แต่การท่องเที่ยวในชุมชน นอกจากการอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่แล้ว หัวใจสำคัญและไม่อาจจะมองข้ามได้ คือการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดด้านการท่องเที่ยวของที่นี่ จึงมุ่งเน้นไปที่ กลุ่มผู้รักสุขภาพและการผจญภัย ภายใต้แนวคิด Wellness Adventures & Ecotourism Destination

อ้อยทิพย์ ปานสะอาด นายอำเภอมวกเหล็ก มาร่วมพายรักษ์โลก
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวหินซ้อน “ล่องลำน้ำป่าสัก ด้วยการพายแคนนู และคายัก” จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยในช่วงเริ่มต้น สามารถให้บริการได้รอบละ 30 คน
ทางชมรมฯ ได้ออกแบบเส้นทางพายเรือล่องแม่น้ำป่าสักระยะทาง 20.48 กิโลเมตร แต่ในช่วงแรกจะเปิดเส้นทางระยะสั้น 6.5 กิโลเมตร โดยมีจุดแวะเที่ยวชมหลักที่ผาหมีเหนือ เสือใต้ เส้นทางนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยเป็นการพายเรือล่องไปตามน้ำ และขึ้นฝั่งที่วัดท่าบก จากนั้นจะมีรถรับส่งพานักท่องเที่ยวกลับมายังจุดลงเรือ

ในช่วงนี้ มีบางช่วงเท่านั้นที่กระแสน้ำเชี่ยวพอให้ลุ้นกันเบา ๆ
เส้นทางท่องเที่ยวหินซ้อน “ล่องลำน้ำป่าสัก ด้วยการพายแคนนู และคายัก” จะใช้เรือพายทั้งหมด โดยมีทีมดูแลความปลอดภัยประกบทั้งต้นและท้ายขบวน นักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพ และปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
พี่เอก กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นอาจจะยังเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไม่มากนัก หากมีผู้สนใจเข้ามาเป็นจำนวนมาก สามารถเปิดได้ 2 ช่วงต่อวัน คือเช้าและบ่าย ส่วนในอนาคตหากมีการขยายเพิ่มเติม ก็จะคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อการรองรับของเจ้าหน้าที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง

จุดชมวิวผาหมีเหนือเสือใต้ รอให้ทุกท่านตามไปจินตนาการ
นอกจากนี้ทางชมรมยังมีแผนการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น เช่น การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัย การอบรมมัคคุเทศก์เยาวชน การเชื่อมโยงตลาดชุมชนเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของคนในพื้นที่ ฯลฯ
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าชมความงดงามบนผืนน้ำป่าสักอย่างใกล้ชิด ระยะทางที่คดเคี้ยวโอบล้อมเราไว้ด้วยสีเขียวของผืนป่า มีแนวหินและผาสลับภาพมาให้ชม เรียกได้ว่าสวยตลอดทาง
หน้าฝนเป็นช่วงที่เราได้พบกับความชื่นตาเย็นใจ แต่ไม่ว่าช่วงเวลาไหน สายน้ำแห่งนี้ก็มีลมพัดเย็นสบาย มีหาดทรายให้เราแวะนั่งเล่นหรือลงเล่นน้ำอีกด้วย
เราใช้เวลาอยู่ที่บ้านหินซ้อน 2 คืน ไม่ว่าจะลงเรือล่องไป หรือจะเดินเล่นอยู่ริมชายฝั่ง ก็ได้ยินเสียงนกน้อยร้องระงมไปทั่ว หลักฐานสำคัญคือรังนกที่กระจายตัวอยู่เต็มตลิ่ง พี่เอกบอกว่า ช่วงหน้าฝนจะเห็นรังนกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับเส้นทางระยะยาว กว่า 20 กิโลเมตร อาจจะต้องใช้เวลาในการพายเรือตามน้ำประมาณ 4 ชั่วโมง เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในชุมชนได้อีกหลายจุด รวมทั้งการสำรวจถ้ำ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ในเส้นทางปฐมฤกษ์ วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เราอาจจะเห็นเรือยนต์ของชาวบ้านมาคอยบริการร่วมด้วย เนื่องจากเป็นวันที่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสำรวจความพร้อม และมีหลายท่านที่ไม่สามารถพายเรือได้ แต่เมื่อถึงวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นทริปต้นแบบของจริง ก็จะไม่พบเรือยนต์เข้ามาร่วมเส้นทางอีกแล้ว

มีเสื้อเท่ ๆ ของทางชมรมให้อุดหนุนเพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้วยนะ
สำหรับการบริหารจัดการชมรม พี่เอกย้ำชัดว่า การจัดตั้งขึ้นมาไม่ได้มุ่งเพื่อแสวงหากำไร แต่จะเป็นมีโมเดลแบบ “วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม” ซึ่งมีรายได้ให้กับผู้เข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาเรือหรือค่าแรงเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีเป้าหมายในการกระจายรายได้ในยังชุมชนในส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคการเกษตร หรืองานหัตถกรรมในท้องถิ่น นอกจากนั้นแผนงานต่อไปจะก่อตั้งกองทุนเพื่อสังคมสำหรับใช้ในชุมชนอีกด้วย

“มนตรี ปรีดา” นายอำเภอแก่งคอย พร้อมครอบครัวมาร่วมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวหินซ้อนด้วยความเพลิดเพลิน
เส้นทางท่องเที่ยวหินซ้อน “ล่องลำน้ำป่าสัก ด้วยการพายแคนนู และคายัก”
(กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
Facebook: ท่องเที่ยว ตำบลหินซ้อน
ลงทะเบียนการจองออนไลน์ได้ที่ลิงก์นี้>>