เรียนออนไลน์-ออฟไลน์ ยังไงให้รอด
โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ สูญเสียทั้งชีวิตมนุษย์ สร้างผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม พลิกชีวิตและความเป็นอยู่ของเราจนกลายเป็นหนังอีกเรื่อง
ทุกวันนี้เราเดินออกจากบ้านพร้อมหน้ากาก และเว้นระยะห่างจากผู้คน โลกออนไลน์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กลายเป็นดวงตาคู่ใหม่ที่ติดตัวเราไปทุกที่และแทบจะทุกเวลา รวมทั้งเรื่องราวของการศึกษา ซึ่งหมายถึงอนาคตของประเทศชาติ การเรียนออนไลน์ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ในช่วงเริ่มต้นอาจจะมีสะดุดหรือหยุดชะงักไปบ้าง แต่คาดว่าหลังจากนี้ไป บทบาทของการเรียนออนไลน์ จะเป็นหนทางใหม่ของการศึกษาทั่วโลก
นายธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด (Globish) สตาร์ทอัพ EdTech ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียน Live English Classroom ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกเป็นเวลายาวนานกว่า 5 เดือน ได้ส่งผลให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่า “Offline ดีกว่า” อาจไม่ใช่อีกแล้ว เพราะแต่ก่อนหลายคนคิดว่าการมาเจอหน้ากันดีกว่า และ Online กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การประชุมล่าสุดมติของคณะรัฐมนตรี สนองนโยบายของ WTO ให้การประชุมผู้ถือหุ้น หรือการประชุมแบบลงมติทั้งหมด สามารถดำเนินการผ่านรูปแบบออนไลน์ได้หมดแล้ว แต่ในข้อดี ย่อมต้องมีข้อเสียในภาวะ Social distancing เพราะทำให้ความสัมพันธ์คนในสังคม หรือหน่วยงานเริ่มห่างกัน เพราะว่าคนยิ่งแคร์กัน ยิ่งใกล้ชิดกันน้อยลง ซึ่งอาจมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต
ขณะที่ “การเรียนออนไลน์ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของการศึกษาไทย” และได้กลาย New Normal ของศึกษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ จากสถิติล่าสุดช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดการสอนชั่วคราว ขณะเดียวกันด้านอัตราการเติบโตของห้องเรียนของ Globish เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 35% จากเดือนมีนาคม โดยเติบโตถึง 125% ซึ่งเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และจำนวนของนักเรียนใหม่ยังเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 207% ทำให้ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน มีห้องเรียน One-on-One เกิดขึ้นมากกว่า 500 ห้องเรียนต่อวันและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีโรงเรียนต่าง ๆ กำลังกำหนดแนวการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถดำเนินการเรียนการสอนต่อไปได้ โดยในมุมมองของ Globish รูปแบบการเรียนการสอนหลังโควิด-19 จะมี 4 รูปแบบ ที่สอดคล้องกับ New normal ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมรวมถึงความเหมาะสมกับขนาดของแต่ละโรงเรียน ได้แก่
- การเรียนผ่านระบบออนไลน์ 100% เหมาะกับโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งด้านระบบการเรียนการสอนและหลักสูตรสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ และผู้ปกครองต่างมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน รวมทั้งมีเครื่องมือสนับสนุนการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บแลต สมาร์ทโฟน และ อินเทอร์เน็ต โดยการเรียนการสอนจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการเรียนให้มีความน่าสนใจ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเรียนแบบออนไลน์ที่ผ่านมามีหลายโรงเรียนนำร่องเปิดการเรียนแล้ว เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครองและครูสามารถปรับตัว
- การเรียนในห้องเรียน เหมาะสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนไม่มาก และพื้นที่มากพอให้สามารถปฏิบัติตามนโยบาย Social distancing เพื่อรักษาระยะห่าง และการดูแลสุขอนามัยของนักเรียนได้อย่างเข้มข้นและเคร่งครัด ควบคู่กับการให้นักเรียนทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนต้องหมั่นฆ่าเชื้อโรคทุกจุดในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดซ้ำ
- การเรียนแบบผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ เหมาะสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก และไม่มีประสบการณ์จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาก่อน ในมุมของ Globish แนะนำให้แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสลับวันให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน กลุ่มละ 2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 3 วันที่เหลือให้นักเรียนเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อให้วันที่นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน ทางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบรักษาระยะห่างได้ รวมทั้งสามารถดูแลสุขอนามัยของนักเรียนอย่างเข้มข้น และเพื่อการเรียนรู้ที่ได้ประสิทธิผล แนะนำให้โรงเรียนเลือกวิชาที่มีการปฏิบัติหรือต้องทำงานร่วมกันมาจัดการเรียนในห้องเรียน ในขณะที่วิชาอื่นให้จัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
- การเรียน Home School คาดว่าการเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะมีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากผู้ปกครองอาจจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานจากโรคภัยไข้เจ็บ มลพิษมลภาวะ และภัยคุกคามอื่น โดยผู้ปกครองจะมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนคอร์สออนไลน์ควบคู่กับการจัดครูเฉพาะวิชาเข้ามาสอนบ้านที่ตอบโจทย์รูปแบบการเรียนรู้ของลูกมาประยุกต์กับหลักสูตรของกระทรวงการศึกษา ทั้งนี้ การเรียน Home School เหมาะกับกลุ่มเด็กมีความต้องการพิเศษ และเด็กที่มีปัญหาโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงหากต้องออกไปเรียนที่โรงเรียน
“โควิด-19 คือตัวแปรสำคัญ ในการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้คนในทุกเพศทุกวัย และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการเรียนรู้ เนื่องจากในวิกฤตครั้งนี้ได้นำพาผู้คนเข้าถึงโลกออนไลน์มากขึ้น เกิดการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรองรับการทำงานและการเรียนจากที่บ้าน ส่งผลให้องค์ความรู้ต่างถูกพัฒนาขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของคน ส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้นในทุกที่ทุกเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนาการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพโดยการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอ็คทีฟ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับผู้สอนเสมือนหรือดีกว่าการเรียนในชั้นเรียน” นายธกานต์ กล่าวทิ้งท้าย