“ประดับ” จากอัตลักษณ์
อัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของคนในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งในโลกนี้มีเอกลักษณ์แห่งตัวตนอยู่อย่างมหาศาล มากจนน่าประหลาดใจว่า เราสามารถสร้างสรรค์ตัวเองที่แตกต่างได้แบบที่แทบจะไม่ซ้ำกัน
หากสิ่งใดที่ถูกสะท้อนออกไปจนได้รับการชื่นชม ติดตาม และสร้างมูลค่าทั้งในแง่ของกระแสนิยมหรือเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ Soft Power ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติในปัจจุบัน
ในแวดวงอัญมณีเครื่องประดับ การสะท้อนพลังละมุนจากเอกลักษณ์ท้องถิ่นก็ถือเป็นอีกแนวทางขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีช่างฝีมือและแรงงานในระดับกว่า 800,000 ราย
เมื่อไม่นานมานี้ Meetthinks มีโอกาสได้ร่วมงาน Bangkok Jewelry Week 2024 ซึ่งจัดโดย GIT หรือ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมีโอกาสเดินสายเที่ยวชมถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับในเขตบางรัก สัมพันธวงศ์ และพระนคร
หนึ่งในสถานที่แวะชมก็คือ สถาบัน GIT ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบางรัก ซึ่งที่นี่มีพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องประดับและอัญมณีไว้ได้อย่างน่าสนใจ สามารถแวะไปชมกันได้
เข้าไปชมแล้วก็เกิดสะดุดตากับนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่องาน Bangkok Jewelry Week 2024 ชื่อนิทรรศการ “ประดับ by GIT” โชว์ผลงานจากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับไทยในภูมิภาค เพื่อยกระดับเครื่องประดับ ภาคเหนือ และภาคกลาง ประกอบด้วยผลงานจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แพร่ สุโขทัย กาญจนบุรี และ เพชรบุรี
เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันให้ชื่นใจ ว่าฝีมือและไอเดียของแบรนด์ไทยก็เก๋ไก๋ไม่เบา โดยเฉพาะการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาประยุกต์
ผลงานทั้งหมดมาจากหลากหลายแบรนด์ ประกอบด้วย ธันย์ชีวา, บ้านทองป้าฉิว, บ้าน ณ ทัย, ร้านเงินนันทกานต์, เฮียเม้งนครน่านเครื่องเงิน, CHANIDAPHA, GHOMLANNA, JIIRA, JINDAPITAK, N’MARINE 168, RATTIYA, SABUDCHAI, SINPINTA STUDIO X HARI JEWEL IPRES และ 1.618CRAFTSMAN
เหยวด่ม หม่าวหน่อม
คอลเลกชันจาก “เฮียเม้งนครน่านเครื่องเงิน” ออกแบบโดย “สมพงษ์ แซ่เติ้น” ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู กำไล วัสดุที่ใช้ คือ เครื่องเงิน ทองแดง เนื้อเงิน สียาเย็น
คอลเลกชันนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายของเสื้อผ้าปักมือแบบชาวเขาเผ่าเย้า จากกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าเมี่ยน
อันมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตั้งเดิมมาแต่โบราณ แต่ละลาย ล้วนมีความหมายและความเชื่อของชนเผ่า
ทั้งยังมีความประณีต สวยงาม จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจ นำลวดลายของผ้าผ้าปักมาประยุกต์ออกแบบ เป็นลวดลาย
เครื่องประดับร่วมสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เครื่องประดับ ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้สวมใส่ทุกเพศวัย
Immortal Love
ดอกไม้ที่หายาก เสมือนรักอมตะ
ผลงานจากแบรนด์ “Rattiya” ออกแบบโดย “รัตติยา เพาะเจาะ” ประกอบด้วยสร้อยคอ เข็มกลัด เครื่องประดับหู (คล้องหู และตุ้มหู) วัสดุที่ใช้ ประกอบด้วย ผ้าทอ ไหมปัก โลหะสำหรับทำโครงสร้าง และอุปกรณ์
“ดอกยมหิน” เป็นไม้ยืนต้นขึ้นอยูู่บนดอยสูง ในพื้นที่ของ “แก่งเสื้อเต้น” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสอง จ.แพร่ น้อยคนที่จะรู้ว่า ดอกยมหิน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดแพร่ และยิ่งน้อยกว่านั้น แทบจะไม่มีใครได้เห็น “ดอกยมหิน” เลย แม้หลายๆคนจะพยายามนำต้นยมหินมาปลูกที่พื้นราบ ต้นก็เติบโตสวยงาม ใบสะพรั่งแต่ไม่เคยออกดอก และด้วยอำเภอสอง เป็นถิ่นกำเนิดตำนาน “พระลอ พระเพื่อนพระแพง”ตำนานรักอมตะที่แม้แต่ความตายก็พรากไปไม่ได้ ดอกยมหิน จึงเปรียบเสมือน ความรักที่อมตะ ที่น้อยคนนักที่จะได้พบเจอและสัมผัสในชีวิต…
จึงเกิดแรงบันดาลใจ นำดอกยมหิน มาทำเครื่องประดับ โดยนำดอกยมหินมาปัก เรียงร้อยประดับกาย ให้ทุกคนที่สวมใส่ได้พบเจอความรักที่เป็นนิรันดร์
พิกุล
ผลงานจากลวดลายผ้าทอชั้นสูงเมืองหละปูน
สร้างสรรค์โดย ผู้ออกแบบ คือ “ณฐพล สินประเสริฐ”ประกอบไปด้วย สร้อยคอโชเคอร์ ต่างหู เข็มกลัด วัสดุที่ใช้ คือ เงิน ทองเหลือง แผ่นโลหะ 316
ออกแบบภายใต้แนวคิด “เพิ่มคุณค่า ผ้ายกดอกลำพูน” ผ้ายกดอกลำพูนเป็นหนึ่งในผลิตผลทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ที่สะท้อนถึงเรื่องราวภูมิปัญญาของชาวจังหวัดลำพูนที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 110 ปี
ด้วยลวดลายที่อ่อนช้อย เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญชาญของช่างทอลำพูน จึงได้ออกมาเป็นผ้าทอยกดอกลำพูนที่สวยงาม วิจิตร เป็นที่นิยมในราชสำนัก สำหรับตัดเป็นฉลองพระองค์ของเจ้านายฝ่ายหญิง นับตั้งแต่อดีตวบจนปัจจุบัน
โดยได้เลือกถอดแบบจากลวดลายผ้ายกดอกลำพูน “ลายดอกพิกุลโบราณ” ซึ่งเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ที่นิยมทอกันอย่างแพร่หลายของช่างทอลำพูน
PERSPECTIVE
ไผ่บง ราชาแห่งไม้ไผ่
ผลงานจากแบรนด์ “โกมล้านนา” ออกแบบโดย “วีรศิษฏ์ ภู่สุวรรณ์” ประกอบด้วย สร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ โดยมีไม้ไผ่บงเป็นวัสดุท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการออกแบบผลงาน
โคมม่านแปดเหลียม หนึ่งในอัตลักษณ์ใคมล้านนาจังหวัดลำปาง คือ โคมต้นแบบแห่งแรงบ่นดาลใจ ในการต่อยอด
ผลงานทั้ง 3 ชิ้นนี้ ลักษณะโครงสร้างไม้ไผ่ของโคมม่านแปดเหลี่ยม มีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือเหลี่ยมมุมทั้งแปดที่เท่ากัน
“เหลี่ยมมุ”” และ “เส้น” คือ ที่มาของแนวคิดในการออกแบบชิ้นงาน โดยได้คัดสรรวัสดุที่หาได้ง่าย และดีที่สุดในท้องถิ่น
ใช้ในการออกแบบ ได้แก่ ไม้ไผ่บง ซึ่งถือเป็นราชาแห่งไม้ไผ่ นำมาผ่านกระบวนการอบแห้งด้วยแสงแดด ทำให้งานมีความสวย เงางาม มีความเป็นธรรมชาติ
Beauty That Transcends Time
ดินเผาแห่งเวียงกาหลง ความวิจิตรบรรจงแห่งล้านนา
ผลงานจากแบรนด์ “CHANIDAPHA” ออกแบบโดย “ชนิดาภา พวงพิโล” ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู เข็มกลัด
วัสดุที่ใช้ คือ เซรามิกผสมงานทองเหลือง
เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง คือ ความวิจิตรบรรจงแห่งล้านนา เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาหลายร้อยปี ด้วยความพิเศษของดินดำคุณภาพเยี่ยม ที่มีเฉพาะเวียงกาหลงแห่งเดียว การเขียนลายใต้เคลือบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงเป็นที่ นิยมสะสมของชาวต่างชาติ
ปัจจุบันช่างฝีมือในชุมชนได้เปลี่ยนไปทำอาชีพเกษตรกรรมกันมากขึ้น ทางแบรนด์จึงมีแนวคิดต่อยอด นำเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงมาทำเครื่องประดับเพื่ออนุรักษ์สืบสานความงดงามไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
ในสมัยโบราณ การทำเครื่องเคลือบดินเผานั้น ต้องขุดดินจากแหล่งธรรมชาตินำมาตากแห้ง แล้วทุบเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปแช่น้ำ และกรอง จากนั้นเกรอะดินให้หมาด นำมานวด นำเนื้อดินที่ได้ มาปั้นเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ
แบรนด์จึงนำรูปทรงที่ได้จากการทุบดิบดินเป็นก้อนเล็ก ๆ มาถ่ายทอดความงดงาม โดยใช้ AI ช่วยเสริมให้ไอเดียได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ง่ายต่อการทำงาน เขียนลายใต้เคลือบด้วยพู่กันจีน ใช้ดินเวียงกาหลงมาขึ้นรูป เพื่อถ่ายทอดความบางและเบาของชิ้นงาน การรานของเคลือบเป็นไปตามวิธีโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้งานออกมามีความน่าสนใจทันสมัย เหมาะกับการสวมใส่ในยุคปัจจุบัน
จักระ
สุขที่สมดุลด้วย “จักระ”
ผลงานจากแบรนด์ “1.618craftsman” ออกแบบโดย “วนาประภา ปาลทะวงศ์ ณ อยุธยา” ประกอบด้วย สร้อยคอ ต่างหู ข้อมือ เครื่องประดับศีรษะ วัสดุจากหินแท้ ตัวเรือนทองเหลือง
จักระ คือ แกนกลางทางจิตวิญญาณมนุษย์ คำว่าว่า “จักระ” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “วงล้อ”หรือ “ศูนย์กลางพลังงาน”
ซึ่งจักระในร่างกายมนุษย์นั้น จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพลังงาน ที่ควบคุมการไหลเวียนของพลังงานต่าง ๆ ในร่างกาย
มีจักระทั้งหมด7 จุด เรียงตามแนวกระดูกสันหลังจากฐานจนถึงยอดศีรษะ และแต่ละจักระจะส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ
และจิตวิญญาณในรูปแบบที่แตกต่างกัน
เมื่อจักระทำงานได้สมดุล เราจะรู้สึกถึงความสุข ความสงบ และมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่หากจักระถูกปิดกั้น หรือไม่สมดุล พลังงานในร่างกายจะไหลเวียนได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านจิตใจหรือร่างกาย
Loving Blooming Curves
เพื่อให้ทุกวันเป็นวันที่แสนพิเศษ
ผลงานจากแบรนด์ “ธันย์ชีวา” ออกแบบโดย “ยงยุทธ มาขันธ์” ประกอบด้วย สร้อยคอ ทำโล ต่างหู แหวน
วัสดุที่ใช้ คือ เหรียญเงินตราโบราณไทย ได้แก่ เหรียญบาทครุฑ พ.ศ. 2517 เหรียญบาทตราแผ่นดิน พ.ศ. 2505 เหรียญ 50 สตางค์รวงข้าวทอง พ.ศ. 2523 เหรียญบาทเรือสุพรรณหงส์ พศ. 2520เหรียญบาท พ.ศ. 2525 และเหรียญเงินตราโบราณต่างประเทศ
คอลเลกชันนี้สะท้อนถึงความงามที่เกิดจากธรรมชาติและความรักอันอบอุ่น ในขณะที่ดอกไม้ผลิบานในช่วงฤดูฝนแสดงถึงความสดชื่นและการเริ่มต้นใหม่ พร้อมกับการโค้งโอบของกิ่งก้านใบต้นไม้ใหญ่ ที่ตีขึ้นจากเหรียญเงินตราโบราณของไทย และต่างประเทศ
นอกจากแสดงถึงความอ่อนโยนอ่อนหวานด้วยลวดลายของดอกไม้แล้ว ก็ยังคงไว้ซึ่งความทรงพลังของเหรียญรูปทรงเรขาคณิต โดยใช้ความสามารถของช่างฝีมือ บรรจงร้อยเรียง ถ่ายทอดความสวยงามและความประณีตอย่างลงตัว
คอลเลกชันนี้ออกแบบให้เป็นเครื่องประดับที่สวมใส่ได้ทุกเพศ สวมใส่ได้ง่าย ผสมผสานกับเครื่องแต่งกายได้หลายลุค
เพื่อให้ทุกวันเป็นวันที่แสนพิเศษ สนุกสนาน และสดใสยิ่งขึ้น เป็นเครื่องประดับที่เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่น่าจดจำ และมีความหมาย ใช้สวมใส่ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือมอบเป็นของขวัญขวัญให้คนรักในโอกาสพิเศษ
Begin Again
เยียวยาหัวใจที่แตกสลาย
ผลงานจากแบรนด์ “Jindapitak” ออกแบบโดย “อัญรัตน์ คุณากรประพันธ์” ประกอบไปด้วย แหวน สร้อยคอ ต่างหู วัสดุที่ใช้ คือ นิลและเส้นเงิน
จุดเริ่มต้นในการออกแบบคอลเลกชันนี้เกิดจาก งานซ่อมแหวนนิลวงหนึ่ง ซึ่งลูกค้าได้ทำตกแตก ทางแบรนด์จึงนำแหวนวงที่แตกมาเชื่อมด้วยเส้นเงิน ทำให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ขึ้นด้วยวัสดุที่มีค่าถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความงามในอีกมิติ เช่นเดียวกับคนที่ใจที่แตกสลาย แต่สามารถเยียวยาตัวเองให้มีพลังขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ หรือมุมมองต่อเรื่องนั้น ๆ
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะพบว่า การเดินออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ทำให้มีมุมมองที่เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น
ดอกบัว ความเบิกบานในจิตใจ
ความหมายของการมีสติ
คอลเลกชันจากแบรนด์ “สะบัดชัย” (Sabudchai) ออกแบบโดย “ธนกิต พรหมอยู่” ประกอบไปด้วย สร้อยคอ แหวน ต่างหู กำไลวั สดุที่ใช้ คือ ไม้พยุง (1 ในไม้มงคล 9 ชนิดของไทย), เงินแท้ 92.5%, พิงค์ โอปอล (Pink Opal), พรีไนต์ (Prehnite)
เนื่องจากผู้ออกแบบสนใจในการทำสมาธิ ซึ่งการทำสมาธินั้นมีประโยชน์ในทุกช่วงเวลาของใครหลายคน เช่นการทำงาน การนิ่งสงบ
ในทางพระพุทธศาสนา ดอกบัว คือ หนึ่งในสัญลักษณ์ของการทำสมาธิ คือความหมายของการมีสติ การปล่อยวาง การดับซึ่งความทุกข์ในจิตใจทั้งหลายทั้งปวง ชำระจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ นำไปสู่การเกิดใหม่ แบ่งบานและงดงาม เบิกบานใจ เปรียบเสมือนบัวที่อยู่ในตมรอการเจริญเติบโตขึ้นมาแบ่งบานบนพื้นผิวน้ำ
พุตะไล ไฟพะเนียง
แสงพลุอันแสนสวยงามในยามค่ำคืน
ผลงานจากแบรนด์ “บ้าน ณ ทัย” ออกแบบโดย “ธีระกิจ เมณร์กูล” ประกอบไปด้วย ผ้าคลุมไหล่ ต่างหู สร้อยข้อมือ
วัสดุที่ใช้ คือ โลหะทองเหลือง ชุบทอง ลงดำ และลงยา
ชุดห่มเงินได้แรงบันดาลใจจากการสวมใส่ผ้าสไบของสตรีไทยในอดีต เพื่อบ่งบอกฐานะ โดยออกแบบลายชิ้นงานโดย
ใช้อัตลักษณ์งานเครื่องเงินสุโขทัย คือ ลวดพันเกลียว มาขึ้นรูปเป็นดอกพิกุล ที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และ
ขึ้นรูปต่อกันเป็นผ้าผืนเช่นเดียวกับผ้าสไบ ให้ความรู้สึกพริ้วไหวเหมือนผืนผ้า และการจุดดอกไม้ไฟในงานลอยกระทง
เพื่อสื่อถึงอารมณ์การกระจายของแสงพลุอันแสนสวยงามในยามค่ำคืน
เปลวไฟในป่าใหญ่
อัตลักษณ์เชียงใหม่ที่คนยังไม่คุ้นเคย
ผลงานจากแบรนด์ “N’marine168” ออกแบบโดย “พัสวี มีอนันต์” ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู กำไลข้อมือ
วัสดุที่ใช้ คือ เงิน 92.5% และซิทริน
การออกแบบคอลเลกชันนี้ ต้องการดึงจุดเด่นจากอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ในด้านที่หลายคนยังไม่คุ้นเคย มานำเสนอใน
รูปแบบเครื่องประดับ โดยใช้ดอกทองกวาว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดที่อยู่คู่กับเชียงใหม่มานานกว่า 60 ปี เก่าแก่
พอ ๆ กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด้วยความที่เป็นดอกไม้ที่คนนิยมปลูกกับมาก จึงเปรียบเหมือนกับมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในบ้านทุกหลัง สีทอง สว่างของดอกไม้ เปรียบเสมือนความร้อนแรงของเปลวไฟ
เมื่อมองทอดลงไปจากที่สูง บริเวณที่มีดอกทองกวาวขึ้นหนาแน่น จะเห็นสีส้มทอง แซมไปทั่วพื้นหลังภูเขาสูงสีเขียว
ทั่วเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น ดอกทองกวาวจึงเปรียบเสมือนชีวิตของคนเชียงใหม่ ที่มีพื้นหลังสีเขียว คือ ความสงบ
และมีสีสันร้อนแรงในเวลาเดียวกัน
ในยามค่ำคืน สถานที่ท่องเที่ยว ไฟประดับ แสง สีตามร้านอาหาร สวยงามน่าประทับใจ ครบทุกรสชาติ
นิทรรศการ “ประดับ by GIT”
พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 2 ถนนสีลม
ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม
พิพิธภัณฑ์เปิดทำการวันจันทร์ – ศุกร์ (หยุดวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์)
ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
โทร 02 634 4999 #201
สถานีรถไฟฟ้า BTS : สถานีศาลาแดง หรือ สถานีช่องนนทรี
สถานีรถไฟฟ้า MRT : สถานีสีลม
ทำความรู้จัก ความเป็นมาเป็นไปของถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ 3 เขตในกรุงเทพฯ click>> https://www.meetthinks.com/bangkok-jewery-road/