Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ซือดะห์ ณ สตูล Gastronomy Tourism

ด้วยประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีกับเพื่อนๆ ชาวไทยมุสลิม จึงทำให้เราได้รู้จักภาษามลายูท้องถิ่นที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาบ้าง ที่เรียกกันว่าภาษา “ยาวี”  ซึ่งเป็นภาษามลายูที่ไม่เป็นทางการ ใช้พูด แต่ไม่ใช้เขียน  มีคำง่ายๆ พื้นฐานให้เรียนรู้ จำได้ไม่ยาก

เช่นเดียวกับคำที่จำได้ดีอย่างคำว่า “ซือดะห์” (ออกเสียงว่า ซือ-ด๊ะ) ที่แปลว่า “อร่อย” ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน และได้ยินบ่อยๆ ในโฆษณาอาหารของมุสลิม ที่บอกว่า “ซือดะห์ ซูโงะ” หรือ  อร่อยจริงๆ  อร่อยมากๆ

ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในแถบจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ในบางพื้นที่เท่านั้นที่จะพูดยาวี ขณะที่จังหวัดสตูล ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ก็ไม่ได้ใช้ภาษานี้ แต่มาถึงสตูลในครั้งนี้ ได้คลุกคลีกับชุมชนชาวไทยมุสลิมจนเกิดความประทับใจ จากเอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นที่น่าสนใจ  ทำให้คิดถึงเพื่อนๆ ที่เคยรู้จักและผูกพัน จึงอยากใช้คำว่า “ซือดะห์ ซูโงะ” อีกครั้ง

นี่คือ “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” (Gastronomy Tourism) ที่ ททท. นำมาเป็นกิจกรรมหนึ่งสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ คน ขณะที่เรา ซึ่งคลุกคลีกับเพื่อนพ้องชาวไทยมุสลิมมานาน ก็เคยมีโอกาสลิ้มลองมาแล้วในหลายเมนู และรู้ว่า แต่ละเมนูยังมีความพิเศษ เพราะไม่ได้ทำกินกันบ่อยๆ บางเมนูจะทำขึ้นในงานสำคัญๆ เท่านั้น

ขนมบุหงาบูดะ

เราเดินทางมายังสตูลด้วยสายการบินไทยสมายล์ ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเศษก็แตะรันเวย์ ก่อนจะขึ้นรถตู้เดินทางต่อไปยังจังหวัดสตูลอีกราว 1 ชั่วโมง ไปถึงก็ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง มุ่งตรงเข้าไปยังชุมชนบ้านควน ชุมชนเก่าแก่ของเจ้าเมืองสตูลในอดีต มีคนถามว่าบ้านควนคืออะไร ได้คำตอบว่า “ควน” ก็คือเนิน นั่นเอง

มาถึงบ้านควน เราเจอพี่ป้าน้าอารอคอยต้อนรับ พร้อมสาธิตการทำขนม “ขนมบุหงาบูดะ” ในภาษาอิสลาม “บุหงา” แปลว่า ดอกไม้ “บูดะ” แปลว่า ดอกลำเจียก จึงเรียกได้ว่า “ขนมดอกลำเจียก” ที่ไม่มีความเป็นดอกไม้  แต่ไปละม้ายคล้ายหมอนใบน้อยๆ ทำจากมะพร้าวทึนทึกและแป้งข้าวเหนียวผสมด้วยน้ำตาลทราย เกลือ น้ำ กะทิ  นิยมทำขึ้นในเทศกาลฮิดิลรัฎฮา และพิธีแต่งงาน  ซึ่งมีความหมายให้คู่บ่าวสาวร่วมเรียงเคียงหมอนรักกันหวานชื่น แอบซ่อนนัยไว้อย่างลึกซึ้ง แต่จะหากินขนมบุหงาบูดะได้ยากแล้ว ปัจจุบันทำเป็นขนมพื้นเมืองของอำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น

ข้าวเหนียวหน้าปลาเค็ม

ข้าวยำป่า กับส่วนผสมต่างๆ

แกงบอน แปลกมาก แต่อร่อยดี

ถัดจากขนม ไปเรียกน้ำย่อยกันต่อกับ “ข้าวเหนียวหน้าปลาเค็ม” ห่อน้อยๆ แต่อร่อยเหาะ พร้อมด้วยอาหารประจำถิ่นที่ทำกินกันเป็นเรื่องปกติ  นั่นคือ “ข้าวยำโบราณ” หรือ “ข้าวยำป่า” ซึ่งจะแตกต่างจากข้าวยำที่เราเห็นโดยทั่วไป ตรงที่คลุกสมุนไพรแบบแห้ง แต่รสชาติไม่ได้ด้อยกว่าเลย รวมทั้งแกงบอน ลักษณะคล้ายแกงเลียง ซึ่งเมนูนี้ไม่เคยเห็นและไม่เคยชิมมาก่อน

สาธิตทำแกงตอแมะห์

แกงตอแมะห์และเครื่องปรุง

เดินทางต่อเข้าไปในหมู่บ้านกันอีกนิดหนึ่ง กลุ่มสตรีชาวไทยมุสลิมรวมตัวรอเราอยู่ เพื่อโชว์เมนูพิเศษอีกหลายอย่าง ทั้งที่ทำเตรียมไว้แล้ว และสาธิตกันสดๆ เพื่อมื้อเที่ยงนี้ กับ “แกงตอแมะห์” อาหารที่ใช้รับแขกบ้านแขกเมืองของชาวสตูล ด้วยความครบของเครื่องแกงที่มาจากสมุนไพรหลากชนิด เคล้ากะทิสดๆและใส่เนื้อปลาลงไป กินกับข้าวมันที่หุงด้วยกะทิได้อย่างลงตัว หอมกรุ่น  ทานกับเครื่องเคียงอย่างอาจาดแตงกวา ก็ตัดเลี่ยนได้ดี

ส่วนผสมแกงตอแมะห์

แกงปัจรี หรือ แกงสับปะรด

อีกเมนูที่ไม่ค่อยเห็นได้ง่ายๆ คือ “แกงปัจรี” หรือ แกงสับปะรด เป็นแกงพื้นเมืองของคนสตูล ซึ่งอดีตมาจากเชื้อสาย Pajri Nemas แหลมมลายู หรือมาเลเซีย รสชาติออกหวานนำ แต่ก็หอมกรุ่นจากเครื่องเทศนานาชนิด หัวใจหลักคือสับปะรด ไม่มีเนื้อสัตว์  นิยมทำในงานเลี้ยงรับรองในเทศกาลสำคัญต่างๆ

แกงกรุหม่าไก่

กรุหม่าไก่

ส่วนเมนู ที่คุ้นหูคุ้นตามากคือ  “แกงกรุหม่า” หรือ “แกงมัสลา” ซึ่งมีต้นตำรับจากอาหารอินเดีย รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิโมกุล เป็นแกงที่ใช้เครื่องเทศเข้มข้น แต่ไม่เผ็ด น้ำขลุกขลิก หอมเครื่องเทศนำ รสชาติคล้ายๆ มัสมั่น นิยมปรุงด้วยเนื้อสัตว์อย่าง ไก่ เนื้อ แพะ แกะ และ เป็ด นิยมปรุงในงานสำคัญหรือวันสำคัญทางศาสนา

ขนมผูกรัก

แต่นอกจากนั้นยังได้ชิม “ขนมผูกรัก” ที่มีลักษณะตามชื่อ  รสชาติหวานเค็มปะแล่มๆ เคี้ยวเพลิน โดยจะใช้ปลามาทำเป็นไส้

เด็กๆ และชาวบ้านบากันใหญ่ คอยต้อนรับ

รุ่งอีกวันในสตูล เราเดินทางไปที่ชุมชนบ้านบากันใหญ่ บนเกาะสาหร่าย ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก คำว่า “บากัน” หมายถึง สถานที่ทำไม้เผาถ่าน  คำว่า “บากันใหญ่” จึงหมายถึงที่เผาถ่านขนาดใหญ่  ที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมที่มีวิถีชีวิตชาวประมง และมีการเปิดให้ท่องเที่ยวและพักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งแพ็กเกจจะรวมการเข้าพัก พาไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล  และการกินอาหารจากฝีมือของคนในท้องถิ่น

 

เตรียมเครื่องปรุงแกงกะทิปู

แกงปูรสชาติเด็ด

มื้อเที่ยงวันนี้ เราได้ชมการสาธิตทำ “แกงปู” หรือแกงกะทิปู ดูขั้นตอนแสนจะธรรมดาเหมือนแกงกะทิทั่วไป แต่ความเข้มข้นครบเครื่องของพริกแกง ปูทะเลสดๆ กะทิสดๆ มันช่างหอมฟุ้ง เคี่ยวให้ถึงที่ก็พร้อมเสิร์ฟ

วันนี้ยังมีเมนูท้องถิ่นอีกหลายอย่าง ทั้งน้ำพริกกะปิผักสด ปลากะพงทอด หอยชักตีนกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด ปูนึ่งที่ยกโขยงกันมา ปลาต้มส้มรสจี้ดถึงใจ ด้วยความสด ท่ามกลางบรรยากาศที่แจ่มใสริมทะเล ทำให้มื้อนี้เป็นอีกมื้อที่หลายคนกินกันแบบไม่ยอมใคร ดังว่าใครลุกก่อนต้องแพ้ อย่างไรอย่างนั้น

อาหารท้องถิ่นในสตูล ยังมีอีกหลากหลาย จากที่เข้าออกร้านอาหารหลายๆ ร้าน ทั้งบริเวณท่าเรือปากบารา หรือในเมือง ก็อร่อยกันได้ตั้งแต่เช้าจดค่ำ ทั้งติ่มซำ ข้าวยำ ข้าวหมก ยามเช้า ไปถึง โรตี น้ำชา ยามค่ำ อาหารทะเลก็สดและไม่แพง ถูกใจสายกินเป็นแน่แท้

ก่อนกลับเรายังได้แวะกินข้าวที่ร้านน้องณี ซึ่งอยู่ในเมือง  ไปตบท้ายกันด้วยอาหารใต้ ที่ถูกใจสายโหดอย่างเรา ไล่เรียงมาทั้ง “แกงเหลืองปลากะพงยอดมะพร้าว” รสชาติเด็ดดวง จนหลายคนที่กินเผ็ดไม่ได้ ต้องสละสิทธิ์ และสิทธ์นั้นก็ตกเป็นของเราไปโดยบัดดล “สะตอผัดกะปิกุ้ง” อยากบรรยายความเด้งดึ๋งของกุ้งตัวใหญ่ที่ได้จัดว่ามาเต็ม “ยำถั่วพู” ที่มีความแปลกตรงใส่มะพร้าวคั่ว  แถมยังมีผักกูดผสมมาด้วย รวมทั้งน้ำพริกกะปิผักสด ที่นับเป็นเมนูหลักที่ร้านอาหารใต้ต้องพร้อมเสิร์ฟ และบางร้านก็ฟรีด้วย

กินกันจนอิ่มแปล้ กับทริปสั้นๆ เพียง 2 วันในสตูล การเดินทางเพื่อการกินโดยเฉพาะแบบนี้ ทำให้เราได้รู้ได้เห็นรายละเอียดในเส้นทางอาหารที่ชัดเจนขึ้น กลับมายังคงนึกถึง จนอยากกลับไปชิมอีกครั้ง

จริงๆ แล้ว ทั่วประเทศไทย มีอาหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยคุณค่าของที่มาและที่ไป เพราะอาหารก็คือการเล่าเรื่อง หากจะบอกว่า นอกจากความสดและอร่อยของเส้นทางสายกินถิ่นสตูลแล้ว ในเนื้อหาสาระของเมนูต่างๆ ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ ทั้งความใส่ใจสุขภาพ และความใส่ใจจากผู้ปรุง ที่ยิ้มกริ่มด้วยความยินดี เมื่อเห็นเราตั้งใจชิมกันแบบไม่วางมือ อาจจะมีวางช้อนบ้างก็ตอนแกะหอยแกะปูนี่แหละ บอกเลยว่า

ประทับไว้ในใจ และจำไว้เลยนะคำว่า อร่อยจริงๆ “ซือดะห์ ซูโงะ”

Post a comment

seventeen + fifteen =