“เชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้” ก้าวต่อไปของ Phuket Sandbox
ใครที่มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดที่มีมาตรการควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน จะพบว่าปัจจุบันยังพบขั้นตอนที่ซับซ้อน นอกจากมาตรการที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดแล้ว แต่ละหน่วยงานยังมีภารกิจต่างกัน เอกสารสำคัญที่ใช้สำหรับการเดินทางยังคงแยกกันอยู่คนละที่ รวมทั้งบางจังหวัดมีแอปพลิเคชันแยกออกไปต่างหาก
ภายใต้มาตรการที่เคร่งครัดในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเดินทางยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในการควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับนักท่องเที่ยวไทยอาจจะต้องปรับตัวกับขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งต้องพบกับมาตรการควบคุมที่เคร่งครัดยิ่งกว่า
โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นโครงการนำร่องในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตแบบมีเงื่อนไข นอกจากเอกสารการรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องใช้ผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ RT-PCR เท่านั้น รวมทั้งต้องมีการทำประกันโรคโควิด-19 มีระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชันหมอชนะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางเข้ามาในโครงการนี้
หลังจากการเปิดตัวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) หรือการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตแบบมีเงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีการขยับตัว ข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2564 ระบุว่า โครงการดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2,330 ล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 จำนวน 43,026 คน
แม้ว่าผลของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มต้นได้สวย แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องทบทวน เพื่อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพร้อมสำหรับการขยายผลโมเดล “แซนด์บ็อกซ์” ไปจังหวัดอื่นต่อไป ขณะที่เสียงจากทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวเที่ยวให้ได้ 10,000 คนต่อวัน จึงจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตยังยืนหยัดอยู่ได้ เนื่องจากก่อนสถานการณ์โควิด-19 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 30,000-40,000 คนต่อวัน โดยหลังจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาไม่ถึง 1,000 คนต่อวัน
กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board ที่ใช้สำหรับรายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox, ระบบ Shaba Plus และระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการกักตัว เป็นต้น
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต และเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว และการควบคุมโควิด ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เริ่มจากภูเก็ต ก่อนใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป
หลังจากการประชุม รมว.ดีอีเอส ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พร้อมแนวทางการพัฒนาเพื่อขยายผลสู่จังหวัดอื่นต่อไป
ปลื้ม! ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เดินมาถูกทาง
“หลังจากได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว ตัวเลขต่าง ๆ ที่ได้รับ พบว่าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และจะขยายผลไปยังจังหวัดข้างเคียง คือ พังงา และกระบี่ โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัล และไอทีสมัยใหม่ มาใช้ในการติดตามตัวนักท่องเที่ยว และการควบคุมมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถให้ความมั่นใจกับทุกคนได้ว่า เราสามารถเปิดประเทศได้ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้”
เล็งลดค่าใช้จ่ายตรวจคัดกรองโควิด-19
“วันนี้เรายังคงต้องระมัดระวัง ควบคุมมาตรการการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักเดินทางชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทย ยังต้องเอกสารรับรองผลการตรวจโรคโควิด-19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ แต่สุดท้ายก็ต้องมีมาตรการผ่อนปรนมาตรการเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางจังหวัด ต้องหารือกันว่าจะผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างไร
ที่สำคัญคือ การใช้ RT-PCR (Polymerase chain reaction) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าภูเก็ต ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรือ 2,600 บาทต่อครั้ง รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 5,200 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นภาระของนักท่องเที่ยว และอาจจะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจไม่อยากมาเที่ยวเมืองไทย ในส่วนนี้จึงต้องมีการทบทวนว่า จะสามารถใช้ ATK (Antigen test kit) แทน RT-PCR ได้หรือไม่ เนื่องจาก ATK มีราคาที่ถูกกว่ามาก เพียง 100-200 บาทต่อครั้ง ขณะที่ RT-PCR มีราคาแพงกว่ามาก และใช้เวลาในการทราบผลนานกว่าด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเป็นมาตรการที่ต้องนำเสนอกับทาง ศบค. ต่อไป”
เสนอจัดตั้ง Command Center เชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวทุกจังหวัด
“หากเราขยายผลโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ไปอีกหลายจังหวัด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องมี Command Center หรือศูนย์บัญชาการหลักที่คอยดูแลเรื่องการท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล และไอซีทีเช้ามาใช้ในการเชื่อมโยง”
One Country One Platform รับก้าวต่อไปของ Sand Box
“ในระยะต่อไปวางเป้าหมายการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัด ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (Phuket Smart City) จากการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบว่า โดยมาตรการไม่ได้มีปัญหามาก แต่จะเป็นเรื่องของเทคนิคมากกว่า เช่น การใช้ ATK แทน RT-PCR เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการเชื่อมโยงด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ใช้มากยิ่งขึ้น อยากให้ประเทศไทยเป็น One Country One Platform หรือ One Country One Application เพราะวันนี้มีแอปพลิเคชันจำนวนมากที่นักท่องเที่ยวต้องดาวน์โหลด แต่ละกรม แต่ละกระทรวง ก็มีแอปพลิเคชันของตัวเอง แต่ข้อมูลกลับไม่ได้เชื่อมโยงกัน ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นแม่งานในการเชื่อมโยงข้อมูล และพยายามทำให้ แอปพลิเคชันรวมเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ เพื่อลดความซับซ้อน ความยุ่งยากของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว”
เชื่อมั่นต่างชาติเข้าภูเก็ตได้ตามเป้าหมาย 10,000 คนต่อวัน
“เชื่อว่าหากมีการโปรโมทการท่องเที่ยว พร้อมทั้งการผ่อนปรนมาตรการบางเรื่อง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมทั้ง หากสามารถขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวไปยังพังงาและกระบี่ได้สะดวกขึ้น ก็จะช่วยให้กิจการด้านการท่องเที่ยว โรงแรมต่าง ๆ มีรายได้ที่ดีขึ้น”
ก้าวต่อไปของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการขยายผลความสำเร็จไปยังจังหวัดอื่น ๆ ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความสะดวกให้กับนักเดินทาง อันหมายถึง Big Data ด้านการท่องเที่ยว นับเป็นการเดินหน้าตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่คนไทยหรือผู้ที่เข้ามาในเมืองไทย จะใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัวเท่าทันยุคสมัยมากยิ่งขึ้น