พลังแห่งแบรนด์ อานุภาพแห่งแพ็กเกจ “ฟุมิ ซาซาดะ”
ใครเคยไปญี่ปุ่น หรือเคยได้รับของฝากจากญี่ปุ่น คงทราบดีถึงความพิถีพิถันของงานบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเรียกได้ว่า แทบทุกอย่างล้วนเป็นของขวัญชิ้นพิเศษ ขนมชิ้นเล็กๆ เพียงไม่กี่ชิ้น วางเรียงในกล่องสีขาว บ้างก็มีกระดาษรองอีกชั้น ห่อหุ้มด้วยกระดาษสีสวยที่ปิดกล่องจนสนิท หุ้มด้วยกระดาษชิ้นเล็กอีกรอบเพื่อเพิ่มความเรียบหรู แสดงออกถึงความตั้งใจจริง
เพราะชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนภายใต้ความพิถีพิถันในการดำเนินชีวิต เขามองของทุกชิ้นคือความใส่ใจ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาโดยไม่ได้รู้สึกว่ายากลำบากอะไร โดยมีเป้าหมายให้ผู้รับรู้สึกดี ประทับใจ และนั่นก็อาจจะทำให้แบรนด์สินค้าหรือร้านค้านั้นๆ ตราตรึงอยู่ในใจผู้บริโภค
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบแพ็กเกจจิ้งในญี่ปุ่น หลังจากที่ MeetThinks ได้พูดคุยกับ คุณฟุมิ ซาซาดะ ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บราวิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Bravis International) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน Branding Consultant และ Branding Design เรายังได้รับทราบเรื่องราวของการออกแบบ Packaging อีกหลากหลายแง่มุม
“ฟุมิ” กับเส้นทางนักออกแบบ
คุณฟุมิ ซาซาดะ เกิดที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ไปศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยที่เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2518 จากวิทยาลัยศูนย์การออกแบบศิลปะที่พาซาเดนา สาขาวิชากราฟฟิกและบรรจุภัณฑ์ เขาเริ่มทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทแลนดอร์ แอสโซซิเอทส์ (Landor Associates) ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยในปี พ.ศ.2526 เขาได้กลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้อำนวยการด้านการออกแบบของบริษัทสาขาในประเทศญี่ปุ่น และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการออกแบบให้กับองค์กรใหญ่ๆ มากมาย อาทิเช่น สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ธนาคารมิซูโฮะ บริษัทโตเกียวแก๊ส บริษัทเอ็นอีซี รวมไปถึงงานโอลิมปิคฤดูหนาวที่เมืองนางาโน่ เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2535 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนและรักษาการตำแหน่งประธานบริษัทแลนดอร์ แอสโซซิเอทส์ (Landor Associates) ในกรุงโตเกียว จนกระทั่ง ในปีพ.ศ.2539 คุณซาซาดะ ได้ก่อตั้ง บริษัท บราวิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขึ้น
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ถึง ปีพ.ศ.2557 ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ประเทศญี่ปุ่น (JPDA) และในปี พ.ศ 2558 ท่านยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินเพื่อคัดเลือก “ตราสัญลักษณ์ประจำงานโตเกียวโอลิมปิค และ งานพาราลิมปิค ปี 2020 ” อีกด้วย
เล่าถึงผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจ
หนึ่งในตัวอย่างผลงานอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของ BRAVIS คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาพร้อมดื่ม “เชามิน” ของบริษัท Uni-President ในประเทศจีน โดยได้รับโจทย์การออกแบบบรรจุภัณฑ์จากตัวละครในตำราเรียนของเด็กๆ (หากจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ กับ มานี มานะ ชูใจ ที่คนไทยคุ้นเคย) จนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในจีน สร้างยอดขายดีเป็นอันดับ 1 ในปีที่ทำการวางตลาด พร้อมทั้งรางวัล Gold Pentaward 2015 ทางด้านการดีไซน์ยอดเยี่ยม และทำให้ชื่อของ BRAVIS มีชื่อเสียงมาก จนมีลูกค้าอีกมากอยากให้ออกแบบแพ็กเกจให้
ในครั้งนั้น BRAVIS ได้พลิกภาพลักษณ์ของสินค้าชาพร้อมดื่ม ซึ่งไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับวัยรุ่นในจีน ให้กลับมาเป็นสินค้าขายดีอีกครั้ง ด้วยการออกแบบแพ็กเกจมีลักษณะสดใส ผ่านตัวละครที่ผูกพันในวัยเยาว์ และมุขตลกที่เพิ่มเติมลงไป
3 ปี BRAVIS ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย BRAVIS ได้เข้ามาเปิดตลาดราว 3 ปี ที่ผ่านมามีลูกค้าให้ความสนใจใช้บริการแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์ประเภทชีส ของฟาร์มโชคชัย, Malee Jelijoop และ BSC Cornsoy โดยต่อจากนี้ไปยังคงขยายตลาดสู่สินค้าระดับพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง
พฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดที่แตกต่าง
พฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน เช่น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น จะไม่ชอบแพ็กเกจที่มีความหวือหวามากนัก ขณะที่ผู้บริโภคชาวจีน ชื่นชอบความแปลกใหม่ ดีไซน์หวือหวา และผู้บริโภคชาวไทย เท่าที่ได้สัมผัส พบว่ามีความใกล้เคียงกับจีนอยู่มาก
ตลาดแพ็กเกจจิ้งในญี่ปุ่นคึกคักมาก
การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในประเทศญี่ปุ่น มีคู่แข่งอยู่มากมาย โดยมีบริษัทที่ให้บริการด้านนี้มากกว่า 4,000 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมีพนักงานเพียง 2-10 คน โดยมีบริษัทใหญ่อยู่ประมาณ 10 แห่ง
สินค้าญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนแพ็กเกจกันมากน้อยแค่ไหน
ในประเทศญี่ปุ่น การปรับโฉมแพ็กเกจเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ เรียกได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ปี สำหรับสินค้าบางตัว หรือ 5-10 ปีสำหรับสินค้าอีกหลายชนิด เนื่องจากเจ้าของสินค้าต้องการความแปลกใหม่อยู่เสมอ
BRAVIS กับเบื้องหลังแบรนด์ดังในญี่ปุ่น
BRAVIS ก็คือผู้ออกแบบให้กับแพ็กเกจให้กับ แบรนด์ KitKat ราว 90% จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในญีปุ่น ความกระตือรือร้นและไอเดียอันบรรเจิดของผู้บริหารของ Nestle Japan ทำให้เราได้เห็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ KitKat มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก จนทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดว่า KitKat เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นแบรนด์อังกฤษ
แพ็กเกจมีส่วนแค่ไหนกับยอดขาย
แพ็กเกจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ และการเปลี่ยนแพ็กเกจก็มีความสำคัญมากต่อยอดขาย มีกรณีศึกษาจากสินค้าอาหารเด็กของเมจิ ที่หันมาปรับดีไซน์และแพ็กเกจ ด้วยการเปลี่ยนรูป ขยายขนาดตัวอักษร 2.5 เท่า จนทำให้สินค้าขายดีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนแพ็กเกจที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าเดิมไม่ได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย และเคยมีกรณีให้เห็นมาแล้ว ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับ BRAVIS
ความมั่นใจในการทำตลาดในเมืองไทย
จุดเด่นของ BRAVIS คือ การเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบให้กับแบรนด์สินค้าระดับสากลมาถึง 22 ปี อีกทั้งยังมีเครือข่ายสำนักงานและนักออกแบบในหลายประเทศ พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์ เพื่อผลักดันความสำเร็จทางด้านการตลาดให้กับลูกค้า ซึ่งถือว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีความพร้อมทั้งสองด้าน โดยคู่แข่งหลักของ BRAVIS คือบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับพรีเมียม
เกี่ยวกับบริษัท
บริษัท บราวิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 โดยเริ่มจากทีมงานเพียง 5 ท่าน ก่อนจะขยายมาเป็น 108 ท่านในปัจจุบัน โดยมีธุรกิจหลักทางด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) และการสร้างแบรนด์ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และสาขาในอีกหลายประเทศ ประกอบด้วย เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน,โซล เกาหลี, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์, บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา และ ไทเป ไต้หวัน
มีอะไรในคำว่า BRAVIS
BRAVIS มาจากคำว่า BRAND บวกกับ Vision ซึ่งคุณฟุมิ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “Vis” ยังเป็นภาษาลาติน ที่มีความหมายว่า “พลัง”
สัมมนาฟรีกับ BRAVIS
บริษัท บราวิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้กำหนดจัดงาน “Bravis Branding Seminar” ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 13.00-18.00 น. ณ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า สุขุมวิท 27 นำโดย “ฟุมิ ซาซาดะ” พร้อมแขกรับเชิญจากแบรนด์ชั้นนำอย่าง AJINOMOTO และ Meiji งานสัมมนานี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถลงทะเบียนได้ทาง e-mail : bbs.bravis@gmail.com tel. : 081-822-0646 ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 5 สิงหาคม 2561
โดยคุณฟุมิ เผยว่า งานนี้เขาจะเล่าถึงกรณีศึกษาของการทำแพ็กเกจจิ้งสินค้าในญี่ปุ่นให้ทุกคนได้ฟัง