Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เส้นทาง “เกลือหวาน” Art of Salt

“เพราะไม่เรียนศิลปะมา เลยกล้าคิดที่จะเอาเกลือมาปั้น”

ฟังแล้วชวนคิดตาม เพราะความรู้หรือเปล่า ที่ล้อมเราเอาไว้

และความไม่รู้ใช่หรือไม่ ที่นำทางเราให้ไปได้ไกลกว่าที่คาด

ย้อนไปเมื่อปี 2555 การท่องเที่ยวเพชรบุรีมีความคิดว่าจะหาจุดเด่นใหม่ ๆ มาสร้างจุดขายให้กับจังหวัด ซึ่งตอนนั้นมีไอเดียในการนำเกลือมาสร้างเป็นงานประติมากรรม เพื่อสะท้อนให้เห็นแหล่งทำนาเกลือที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อมต่อมาตั้งแต่ย่านคลองโคลน จ.สมุทรสงคราม ลากยาวมาถึงบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ใครผ่านไปผ่านมาก็จะรู้ว่านี่คือ “ถนนสายเกลือ” ที่สวยงาม

ผศ.พูลสวัสดิ์ มุมบ้านเช่า ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมจากเกลือ เป็นผู้ที่เล่าย้อนเรื่องนี้ให้เราฟัง หลังจากการจัดงาน Art of Salt จุดชมวิวบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เดินทางมาถึงปีที่ 10

“ในตอนนั้นผมไม่กล้าคิด เพราะผมเรียนจบศิลปะมา และรู้ว่าเกลือไม่สามารถนำมาสร้างงานประติมากรรมได้”

แต่ที่บอกว่าไม่ได้ ๆ ผศ.พูลสวัสดิ์ ก็ไม่ยอมหยุดแค่นั้น และพยายามคิดหาวิธีก้าวข้ามข้อจำกัดที่เคยเรียนรู้มา เริ่มตั้งแต่ทดลองใช้ภูมิปัญญางานช่างปูนปั้นซึ่งมีชื่อเสียงมากในจังหวัดเพชรบุรี โดยใช้โครงสร้างเหล็ก พอกด้วยปูนซิเมนต์ พยายามเอาเกลือมาผสมฉาบพื้นผิว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

จากนั้นก็ลองใช้กาว ใช้เรซิ่นผสม ผลออกมาว่าอยู่ได้เพียงวันเดียวเกลือก็ละลาย เหลือแค่กาวกับเรซิ่น

ไอเดียข้าวเหนียวปิ้งของแม่

ที่บอกว่าคิดแล้ว ก็ยังต้องคิดอีก ความท้าทายนี้ย้อนไกลไปถึงวัยเยาว์ ผศ.พูลสวัสดิ์ นึกได้ว่า ในตอนเด็ก ๆ แม่เคยนำข้าวเหนียวมาปั้นแล้วเอาเกลือทา เมื่อนำไปปิ้ง เกลือมันก็ยังอยู่ เลยลองเอาข้าวเหนียวมาผสมกับเกลือ ติดไว้บนเข่ง แล้วนำไปตากแดด ปรากฏว่าแข็งดี แต่อีกวันข้าวเหนียวก็บูด โครงสร้างคืนตัว ไม่ได้ผลเหมือนเดิม

คิดแล้ว คิดอีก คิดต่อไป เพราะศาสตร์ของงานศิลป์กับวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงถึงกันได้ จากข้าวเหนียว เปลี่ยนเป็นข้าวเจ้า รอบนี้ได้ผลตอบรับที่น่าสนใจ เพราะอยู่ได้นานเป็นเดือนก็ไม่ละลาย จนทำให้เกิดสูตรงานปั้นเกลือผสมข้าวเจ้าขึ้นมา โดยยังคงใช้โครงสร้างเหล็กเสริมไม้ไผ่ หุ้มด้วยตาข่าย และใช้ปูนฉาบ

ในปี 2555 หลังจากทดลองมาหลายวิธี ก็ได้ผลงานออกมา โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ร่วมกับนักศึกษาศิลปะนับร้อยคน โดยได้โชว์ผลงานในปี 2556 ถือเป็นประติมากรรมเกลือครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีการจัดงาน Art of Salt ในวันที่ 15 -17 มีนาคม 2556 จากนั้นก็มีการจัดงานเรื่อยมา

ผลงาน Art of Salt ปี 2567 ปัจจุบันยังคงติดตั้งอยู่ริมชายหาดบางแก้ว

เกลือหวานที่สุดในประเทศไทย

ผศ.พูลสวัสดิ์ เล่าย้อนกลับไปว่า ในปีแรกของการจัดงาน ยังไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก จนมาถึงปี 2557 ได้ปรึกษากับทาง ททท.สำนักงานเพชรบุรี ซึ่งตอนนั้น “อัครวิชย์ เทพาสิต”  ผอ.ททท.ภูมิภาคภาคกลาง (ซึ่งสมัยนั้นเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.ททท. สนง.เพชรบุรี) ก็ได้ลงความเห็นกันว่า จะทำให้คนสนใจงานศิลปะริมชายหาด ก็ต้องมีที่นั่ง ที่กิน มีอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ

ธีมในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่ใช้ในทุก ๆ ปี คือ “ความรัก” เพราะเชื่อว่า ความรักคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คนเราจะทำทุกอย่างให้กับสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งรักตัวเอง รักเพื่อน รักพ่อแม่ รักครอบครัว รวมทั้งรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะสอดแทรกไว้เสมอ

สำหรับผลงานในปีที่ผ่านไป เมื่อเวลาล่วงเลยก็พังทลายไปตามเวลา โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุนานประมาณ 2 ปีเท่านั้น

การเดินทางคือการเรียนรู้

ประสบการณ์ในการทำงานประติมากรรมเกลือ ทำให้มีการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติม จนปี 2566 เกิดการใช้โครงสร้างจากโฟม ซึ่งมีอายุที่ยาวนานกว่า โดยใช้โครงสร้างงานแกะสลักจากโฟมเคลือบด้วยซิเมนต์ แล้วเคลือบด้วยเกลือผสมแป้งข้าวเจ้าอีกชั้น

ในปีนี้  Art of Salt ยังคงเดินทางด้วยความรัก โดยใช้ชื่อตอนว่า “ฮักเกลือหวาน”  จากคำว่า “ฮัก” ในภาษาอีสานที่แปลว่า “รัก” และ Hug ภาษาอังกฤษ แปลว่า “กอด”

นำเสนอผลงานชื่อ “โอบกอดทะเล” จากการออกแบบของ ผศ.พูลสวัสดิ์ ที่นำเสนอความงดงามของหญิงสาว สื่อถึงความรักที่มีต่อท้องทะเล ทำแบบ (แกะโฟม) และติดตั้งโดยทีมลูกศิษย์เก่า วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช

วันที่ 2 มีนาคม 2568 เราได้มีโอกาสไปชมโครงสร้างที่ตั้งอยู่บริเวณชายหาดบางแก้ว (ตามที่ได้ภาพมา) แต่นั่นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจะมีทีมนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีอีกประมาณ 50 คน มาช่วยกันทำพื้นผิวจากแป้งข้าวเจ้าผสมเกลือ  พร้อมด้วยการติดตั้งงานปั้นแมงกะพรุนล้อมรอบผลงาน

 

เส้นทางของ Art of Salt จึงเต็มไปด้วยความคิด ความร่วมมือร่วมใจ ความท้าทาย และความไม่ยอมแพ้ แน่นอนว่าต้องอาศัย “ความรัก” ซึ่งเป็นแก่นของงานที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากมาเจอเกลือหวาน ๆ แบบนี้ในทุกเดือนมีนาคมของทุกปี

ย้อนชมงาน Art of Salt >>  Art of Salt คิดยังไงให้เกลือหวาน

เทศกาลประติมากรรมเกลือ ครั้งที่ 10

ตอน “ฮักเกลือหวาน” Art of Salt   

วันที่ 14 – 16 มี.ค. 2568

ณ จุดชมวิวบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

กิจกรรม

พบกับศิลปิน และอาหารถิ่นคัดพิเศษกว่า 60 ร้าน

14 มี.ค. มหาหิงค์

15 มี.ค. Joker Family

16 มี.ค. The Gentlemans

พร้อมโชว์จาก สุขอนันต์, หนมโหนด,

ไทยเชย, จั๊กจี๋, แบลคโรส, ดูซี่

Post a comment

twelve + 5 =