ตามรอยพ่อฯ ปีที่ 9 วิกฤตโควิดต้องฟัง “เสียงที่ดังกว่าคำพูด”
“การลงมือทำ เสียงดังกว่าคำพูด”
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ได้กล่าวปิดท้ายไว้ในงานแถลงข่าวรูปแบบ Live Streaming ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ปีที่ 9
ซึ่งในครั้งนี้ ว่าด้วยการเดินตามศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด 19 โดย ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า “โลกเรากำลังเปลี่ยนใหม่ และไม่สามารถกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกแล้ว” นั่นเพราะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น และที่เห็นได้ชัดคือ “โควิด19” ซึ่งทำให้เกิดคำว่า New Normal เป็นวิถีใหม่ที่กลายเป็นปกติไปแล้ว
ทุกคนคงทราบดีว่า โควิด 19 ผ่านมาปีกว่าๆ ได้สร้างผลกระทบอะไรไปแล้วบ้าง มีผู้เชี่ยวชาญประเมินไว้ว่า คงใช้เวลาอีกราว 2-3 ปี โลกถึงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่คงไม่เหมือนเดิม เพราะเรื่องของวิกฤต ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นปัญหาหนัก แม้ว่าจะต่อสู้กับโควิด 19 ได้แล้ว ก็อาจจะต้องเจอโรคระบาดใหม่ๆ
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า 9 ปี ของการดำเนินโครงการตามรอยพ่อฯ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือวิกฤตใดก็ตาม ทั้งวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ก็จะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนในทุกวิกฤต ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทั้งยังสามารถแบ่งปันและสร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน
“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ความอดอยากขาดแคลนอาหารในโลกจะมีขึ้นอย่างแน่นอน คนที่แม้ไม่เจ็บป่วยก็จะได้รับผลกระทบจากการไม่มีอาหารกิน ฉะนั้นจึงต้องสร้างฐาน 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ให้แน่น ให้พึ่งตนเองให้ได้จริง ต้องมั่นคงแข็งแรงพอ จึงจะมีกำลังไปช่วยคนอื่นให้รอดไปด้วยกัน โดยเชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน”
“อย่าวิตกว่าไม่มีเงิน ลงมือทำเลย การลงมือทำ มันเสียงดังกว่าพูด”
-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร-
นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับคนไทยทุกคน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและเครือข่ายจึงได้เตรียมการวางแผนรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ เบื้องต้นได้จัดทัพรับมือโรคระบาด โดยแบ่งทีมทำงานออกเป็น 5 ทีม ได้แก่
- ทีมบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีหน้าที่รวมรวมข้อมูลแปลงของสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดในแต่ละจังหวัด รวมทั้งวัด โรงเรียน ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลของทุกศูนย์และแปลงของสมาชิกเครือข่าย หากเกิดการล็อกดาวน์จะใช้ข้อมูลนี้ให้ความช่วยเหลือกันได้ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับลุ่มน้ำ
- ทีม CMS (Crisis Management Survival Camp) มีหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนภัย เพื่อพัฒนาและเตรียมพร้อมไปสู่ขั้นการเป็นศูนย์พักพิงหลุมหลบภัย หรืออาจไปถึงขั้นเป็น Hospitel ทั้งในระดับ เล็ก(บ้าน) กลาง ใหญ่ โดยยึดหลักป้องกันบำบัด ฟื้นฟู
- ทีมพอรักษา มุ่งเป้าเร่งด่วนเรื่องโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ป้องกัน (ผู้ไม่ป่วย) บำบัด (ผู้ที่ป่วยอยู่) และฟื้นฟู (ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว) โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและยาที่ควรใช้ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ตามข้อมูลจากทางแพทย์แผนปัจจุบัน-ไทย-จีนและทางเลือกอื่น ๆ
- ทีมสื่อพอดี มีหน้าที่นำข้อมูลของทั้ง 3 ทีม มาสื่อสารต่อยอดและเผยแพร่ เพื่อให้ข้อมูล ให้ความรู้ แนะทางออก ผ่านช่องทางทางการเผยแพร่ต่าง ๆ
- ทีมข้อมูล มีหน้าที่จัดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และออกแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนเครือข่าย เพื่อฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญในปัจจุบันและอนาคต ในภาวะวิกฤตเช่นนี้เราไม่ควรรอความหวังหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน ต้องพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองให้ได้มากที่สุด เชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน
“วิกฤตโรคระบาด หนักกว่าวิกฤตทางการเมือง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ นับเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ได้กลับมาสู่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่ปฎิบัติให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง ไม่ใช่งานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง”
-ไตรภพ โคตรวงษา-
โดยที่ผ่านมาได้เปิดรับศิษย์ เครือข่าย คนมีใจ และประชาชนที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครให้กับทีมงานขับเคลื่อนทั้ง 5ทีม ตามความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละคน ซึ่งการรวมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและพึ่งพากันในยามวิกฤตด้วยองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาจะทำให้เราทุกคนอยู่รอดปลอดภัย”
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เปิดเผยว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ พร้อมที่จะเข้าไปเสริมและสนับสนุนยุทธศาสตร์การเตรียมการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของมูลนิธิฯ อย่างเต็มที่ ในฐานะสื่อพอดี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดการนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน’ จะเดินหน้าจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยเน้นช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีไฮไลท์คือการจัดทำบทเรียนออนไลน์คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติในรูปแบบบทความและวีดิทัศน์ บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ รวม 14 บท เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ หากติดขัดหรือสงสัยเรามีช่องทางถามตอบในสื่อออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กและไลน์ (@inspiredbytheking)
นอกจากนั้น โครงการตามรอยพ่อฯ ปี9 ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ จ.นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ณ พื้นที่ของคนมีใจที่นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้สนใจได้มาเรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจผ่านการทำกิจกรรมลงแขกอย่างโบราณ และยังกำหนดจะจัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ 9 ปี ที่ สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการอีกด้วย โดยจะวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและการเว้นระยะห่างของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น และส่งท้ายด้วยการรวบรวมคนต้นแบบและบรมครูผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตลอดทั้ง 9 ปี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจในรายการเจาะใจซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD”
ด้านนายโจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ และประธานธรรมธุรกิจ กล่าวแนะนำการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ว่า
“เราประเมินไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะยาวนานขนาดไหน การรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วหวังว่าเราจะดีขึ้นเอง ก็ดูจะเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำ คือ การกลับมาคิดถึงการพึ่งตนเองในเรื่องของอาหารเป็นอันดับแรก เราจะหาอาหารมาจากไหน ถ้าอยู่ในเมืองก็อาจต้องคิดถึงการปลูกอาหารเองง่าย ๆ เช่น การเพาะถั่วงอก หรือการปลูกผักแนวตั้ง อีกวิธีหนึ่งคือการเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรที่เขาทำอยู่แล้ว ให้เขาส่งวัตถุดิบมาให้ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติด้วย ที่เราควรจะรู้แหล่งที่มาของอาหารที่เราบริโภค ฉะนั้นการเชื่อมต่อกันอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสภาวะปัจจุบัน การหันกลับมาพึ่งตนเองมากขึ้น กลับมาพึ่งกันเองมากขึ้น ต่อให้ระบบพังหรืออะไรจะเกิดขึ้นเราก็ยังอยู่ได้ นี่คือแนวทางที่เราควรจะต้องกลับมาใคร่ครวญพิจารณา เครือข่ายของเรามีครบทุกอย่างไม่ว่าจะข้าว ปลา กะปิ เกลือ ผัก ฯลฯ และยิ่งถ้าคนสนใจทำแบบนี้มากขึ้นจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ ระบบการค้าแนวใหม่ ที่ทำให้คนได้คุยกันตรงมากขึ้นโดยไม่อ้อม นี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นี่คือแนวโน้มที่จะทำให้เราอยู่ได้ในช่วงโควิด-19”
“วิกฤตที่ใหญ่กว่าโควิด ก็คือวิกฤติทางความคิด คิดว่าไม่มีเงินแล้วจะทำไม่ได้ ดังนั้น
การกลับมาพึ่งพาตนเองก็ต้องแก้ที่วิกฤตทางความคิดด้วย”
-โจน จันใด-
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org