หากโหยหาธรรมชาติ และภูมิคุ้มกัน นำมิตรภาพมาแลกกัน : สวนเอเดน
คนเราทำงานหนัก เพื่อมุ่งหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หากเป็นในอดีต “ชีวิตที่ดี” อาจจะประกอบด้วยความมีอยู่ มีกิน มีใช้ มีเก็บ ซึ่งผูกทุกอย่างไว้กับตัวเงิน
แต่วันนี้ เป้าหมายของคนเราเปลี่ยนไป เราโหยหาธรรมชาติ โหยหาความมั่นใจจากการกินอยู่อาศัย เป็นความมั่นคงและปลอดภัยที่มีผลต่อคำว่า “คุณภาพชีวิตที่ดี”
สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนต้องการ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่มีทั้ง “อำนาจ” จากความเป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องซื้อหา และ “ความมั่นใจ” ในความปลอดภัย ที่ดูแลควบคุมเองได้ “วิถีเกษตร” กลายเป็นสาระที่คนเราเก็บกลับมาคิดอย่างจริงจัง และถ้ามันสร้างเงินสร้างงานได้ในเวลาเดียวกัน ก็ยิ่งสมบูรณ์
สวนเอเดน สวนทุเรียน GI ปากช่องเขาใหญ่
Meetthinks ได้ใช้เวลาสั้น ๆ หลังจากเดินทางมายัง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ด้วยภารกิจร่วมงาน “เทศกาลทุเรียน GI ปากช่องเขาใหญ่” ซึ่งเป็นอีกเส้นทางการเกษตรยั่งยืน เพราะนอกจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว เกษตรกรต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพและความปลอดของผลผลิต เท่าที่ทราบมาว่า 39 สวนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI มีการดำเนินการขอมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพความปลอดภัยทางการเกษตรด้วย
“สวนเอเดน” ตามความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล เป็นที่พักอาศัยของอดัมและอีฟ มนุษย์สองคนแรกที่พระเจ้าสร้างมา เป็นสวนสวรรค์ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลากหลายชนิด
วันนี้เราแวะมาที่ “สวนเอเดน ออร์แกนิกส์” ต.หนองย่างเสือ อ.ปากช่อง เป็นสวนผลไม้ที่อยู่ติดริมถนน ด้านหน้าสวนจึงเหมาะกับการเปิดร้านจำหน่ายผลผลิต ซึ่งในช่วงนี้ เราพบกับทุเรียน อโวคาโด เงาะ กล้วย และ “พี่ชอง-ณรงค์ฤทธิ์ สุขไชยปราการ” เจ้าของสวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ปากช่อง
หลังจากทักทายกันด้วย ไอศกรีมทุเรียนที่เสิร์ฟมาในผลอะโวคาโด จากนั้นเราก็เดินเท้าเข้าชมสวน โดยมีพี่ชอง เป็นผู้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในสวน โดยเฉพาะทุเรียน ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าปลูกยาก ดูแลยาก แต่ก็เป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยสวนเอเดน ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกร 39 สวน ใน อ.ปากช่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI
“ที่นี่เราทำเป็นสวนเกษตร แหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจด้านเกษตร ที่สวนมีการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ทั้ง ทุเรียน อะโวคาโด้ น้อยหน่า เชอรี่ โดยมีการทดลองปลูกไปเรื่อย ๆ ด้วยการร่วมมือกับทางรัฐและเอกชน นำพืชแปลก ๆ ที่น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต มาลองปลูก”
พี่ชอง เล่าไปพร้อมพาเราเดินลัดเลาะแนวต้นไม้หลากหลายชนิด ที่เราพอจะแยกออกบ้าง ก็เป็นทุเรียน เพราะเป็นพืชที่พอจะคุ้นเคย ส่วนอะโวคาโด หากไม่เห็นผลที่กำลังออกลูกดกอยู่ในช่วงนี้ ก็คงไม่ทราบว่าเป็นต้นอะไร
โควิด-19 กับการโหยหาธรรมชาติ (อย่างจริงจัง)
ถ้าเป็นสมัยก่อน คนที่ทำงานในเมือง หากคิดถึงธรรมชาติ ก็ออกไปหาธรรมชาติตามแหล่งท่องเที่ยว แต่สำหรับวันนี้ ธรรมชาติที่เราสร้างสรรค์เองได้ เป็นเป้าหมายที่เข้ามาแทนที่
“ช่วงโควิด จะเห็นได้ชัดว่าคนเราจะแสวงหาอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ จะเน้นเรื่องความเป็นออแกนิกส์ ปลอดสารพิษ ในช่วงโควิดจึงมีคนเข้ามาเที่ยวที่สวนเอเดนกันเยอะมาก เพราะพื้นที่ที่เป็นที่โล่งกว้าง ไม่มีความเสี่ยงอะไรมาก แต่ถ้าใกล้ชิดกันก็ยังต้องสวมหน้ากากกันอยู่”
นี่คือสิ่งที่พี่ชองบอกให้เราฟัง สอดคล้องกับการเดินทางที่ผ่านมา เมื่อได้ไปเยือนต้นแบบหรือเครือข่ายของกลุ่มเกษตรกรแนว ๆ นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน และได้เห็นด้วยตาว่า “คนเมือง” เริ่มหันมาใส่ใจกับต้นทางของอาหารอย่างจริงจัง มองหาโอกาสในการสร้างแหล่งอยู่อาศัยที่ยั่งยืนสำหรับตัวเอง ที่เห็นได้ชัดมาก คือปรากฎการณ์ “คนคืนถิ่น” ไม่ว่าจะเป็นวัยเกษียณ หรือวัยทำงาน ต่างแสวงหาความรู้เพื่อกลับไปพัฒนาพื้นที่ด้านเกษตรกรรมของตนเอง
“หลังจากช่วงโควิด สังเกตได้ว่ารถที่เข้ามาในเขาใหญ่มีมากขึ้น มีเพื่อนบ้านหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น คุยไปคุยมาก็ทราบว่า คนโหยหาความเป็นธรรมชาติ โหยหาความเป็นออร์แกนิกส์มากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหาภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันเรื่องสุขภาพหรือเรื่องเศรษฐกิจ”
จากถนนมิตรภาพ มาถึงสวนเอเดน
บนพื้นที่ราว 60 ไร่ ที่สวนเอเดน นอกจากจะมีความสมบูรณ์ทางกายภาพ จากหลากหลายสายพันธุ์ไม้ที่ปลูกผสมผสานกันไป เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทางการเกษตร เราเข้ามาในช่วงหลังฝนตก ได้พบกับกิ้งกือตัวใหญ่มาก แสดงให้เห็นถึงสภาพที่สมบูรณ์จริง ๆ แม้จะไม่ค่อยปลื้มใจในการพบเจอกันมากนัก แต่ก็ยินดีกับสิ่งที่สะท้อนออกมา
ใครที่อยากจะเรียนรู้ มองหาแรงบันดาลใจ อยากสร้างสรรค์พื้นที่สวนแบบผสมผสาน ก็เข้ามาพูดคุยกับพี่ชองได้ทุกวัน“สิ่งที่เราให้เป็นมิตรภาพ เข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่ต้องนัดล่วงหน้า มาแล้วสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมได้เลย หรือจะเข้ามาคุยกัน ปรึกษากันว่าอยากปลูกอะไร เราจะช่วยให้ข้อคิดได้ ช่วยให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ตลาดได้บ้าง เช่น ถ้าอยู่ชัยนาท อยู่ภาคกลางก็จะเหมาะกับส้มโอ ซึ่งส้มโอทางชัยนาทก็ได้ GI เพราะดินเขาเหมาะกับการปลูกส้มโอ แต่ถ้าเป็นดินที่เขาใหญ่ ก็จะเหมาะกับการปลูกอะโวคาโด้และทุเรียน ก็จะมาปรึกษาหารือกันมากกว่า สิ่งที่ได้คือได้เพื่อนใหม่ ได้มิตรภาพ”
แน่นอนว่าถนนสายนี้คือ “มิตรภาพ” หากขับรถจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ขับรถมาตามถนนมิตรภาพ เลี้ยวซ้ายมาทางปากช่อง ตรงเข้ามาอีกสิบสามกิโลเมตร ก็จะเจอ “มิตรภาพ” ที่สวนเอเดน และพี่ชอง ก็จะรอรับ-ส่งมิตรภาพอยู่ที่นั่น
Facebook: สวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ปากช่อง
โทร. 062-987-9445
LINE : @edenkhaoyai