
“เพลงสงกรานต์” ยังไงก็ “สุนทราภรณ์”
คอลัมน์: เซาะร่องเสียง
โดย นกป่า อุษาคเณย์
วันนี้เป็นวันสงกรานต์
หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย
ตอนเช้าทำบุญ ทำบุญตักบาตร
ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันกันเอย
เข้าวัดแต่งตัว แต่งตัวสวยสะ
ไปสรงน้ำพระ ณ วันสงกรานต์กันเอย
ตอนบ่ายเราเริงกีฬา
เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้ากันเอย
ทำบุญทำทานสนุกสนานกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วรำวงกันเอย
https://www.youtube.com/watch?v=QrRU-apkj7Q
ผมเคยเขียนถึง “เพลงปีใหม่” ที่ยังไงก็ต้อง “สุนทราภรณ์” ใน The Meet Thinks แห่งนี้ อีกเทศกาลหนึ่งก็คือ “ลอยกระทง” นั่นเอง
มาในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จึงอยากขออนุญาตนำเสนอ “เพลงสงกรานต์” ของ “สุนทราภรณ์” กันสักตอนครับ
แน่นอนว่า การเดินทางไปมาหาสู่กันในหมู่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง รวมถึงการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ เราเป็นต้องได้ยิน “เพลงสงกรานต์” ของ “สุนทราภรณ์” ในทุกๆ ที่ที่เราไปในเมืองไทยของเรา
เป็นเพราะจังหวะเพลงที่สนุกสนาน เนื้อร้อง และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “รำวงเริงสงกรานต์” ที่คนไทยทุกยุคทุกสมัยต้องชินกับเนื้อร้อง “วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย”
และเพลง “รำวงวันสงกรานต์” ที่ร้องว่า “ฟ้าใหม่กันแล้วน้อง สงกรานต์เราร้องทำนองเพลงโทน” หรือเพลง “รำวงปิดทองพระ” เพลงทำนองคึกคักชวนไหว้พระทำบุญในวันสงกรานต์ ที่เล่าถึงประเพณีสงกรานต์อย่างตรงไปตรงมา ที่ไม่ว่าจะกี่สงกรานต์ คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้างสรรพสินค้า และสื่อมวลชน จะขาด “เพลงสงกรานต์” ของ “สุนทราภรณ์” ไม่ได้เลยแม้แต่ปีเดียว
การที่ “เทศกาลสงกรานต์” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” จาก UNESCO ทำให้ “เพลงสงกรานต์” กลายเป็นที่รับรู้ของนานาชาติมากขึ้น เป็นเหตุให้มีการแต่ง “เพลงสงกรานต์” ขึ้นใหม่ เป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “รำวงเริงสงกรานต์” ที่เป็นเพลงเก่าแก่ ยังถูกนำมาแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยเนื้อเพลงใช้คำง่ายๆ ที่มีสัมผัสและคำซ้ำ ซึ่งชาวต่างชาติสามารถเข้าใจ และจดจำ นำไปร้องได้ ไม่ต่างจากเพลงต้นฉบับนั่นเอง
ดังนั้น “วันสงกรานต์” ทุกปี คนไทยทั่วประเทศก็ยังนิยมเปิดเพลงสุนทราภรณ์ใน “เทศกาลสงกรานต์” อยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นเพลง “เริงสงกรานต์” ที่คึกคักสนุกสนานมากกับจังหวะรำวง
เป็นที่ทราบกันดี ว่าส่วนใหญ่แล้ว วง “สุนทราภรณ์” ขับร้องเพลงรักรื่นรมย์ทั่วไป จนเมื่อเข้าถึงช่วงเทศกาลสำคัญของทุกปี มีผู้เรียกร้องเพลงที่เข้ากับเหตุการณ์
ทำให้ “สุนทราภรณ์” เริ่มแต่งเพลงประจำเทศกาลขึ้น อาทิ เพลงประจำเทศกาลปีใหม่ เช่นเพลง “สวัสดีปีใหม่” เพลง “รื่นเริงเถลิงศก” เทศกาลลอยกระทง ได้แก่เพลง “รำวงลอยกระทง” สุดคลาสสิค
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “เทศกาลสงกรานต์” คือเพลง “รำวงวันสงกรานต์” และ “รำวงเริงสงกรานต์”
เมื่อ “วันสงกรานต์” เวียนมาบรรจบอีกครั้งในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี
ที่นอกจากปืนฉีดน้ำ เสื้อสายดอก และน้ำอบลอยดอกมะลิที่กลายเป็นเหมือนภาพจำของการฉลอง “ปีใหม่ไทย” แล้ว
อีกหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์คู่กับ “เทศกาลสงกรานต์” ก็คือ “เพลงสงกรานต์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงร้อง เนื้อรอง และท่วงทำนอง ที่เป็นเอกลักษณ์ของ “สุนทราภรณ์” นั่นเองครับ