Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เรื่องเล่าจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก

การลักลอบล่า ครอบครอง และซื้อขายสัตว์ป่า เป็นข่าวที่ทุกคนได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กจนโต แม้ว่าจะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่คดีเหล่านี้ก็ยังไม่เคยลดน้อยลงเลย

สัตว์ป่าคุ้มครองบางตัวที่เคยถูกเลี้ยงในบ้าน เมื่อถึงวันที่ตัดสินใจเลิก  หรือดูแลไม่ไหว ก็มักจะเอาไปฝากไว้ที่วัด ใช้วิธีฟอกตัวเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เป็นภาระของหลวงพ่อที่ต้องส่งต่อสัตว์เหล่านั้นไปให้ผู้ดูแล

สัตว์บางชนิดเกิดมาจากแบบผิดกฎหมาย อย่างเสือโคร่งเบงกอล ที่ถูกเพาะเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อส่งขายไปยังประเทศจีน สายพันธุ์ของพวกมันอาศัยอยู่แถบปากีสถานและบังคลาเทศ เมื่อจับกุมได้แล้วจะทำการส่งตัวกลับบ้านก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถือว่าเป็นสัตว์เพาะเลี้ยง ไม่ใช่สัตว์ที่เกิดและเติบโตในป่าต้นกำเนิด

ดิน น้ำ ลม ไฟ

การมาเยือนครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความแตกต่าง หนึ่งในเจ้าแมวยักษ์ที่เคยเคร่งขรึมในวันก่อน วันนี้ช่างดูงุ่นง่าน หวาดระแวง ส่งสายตาดุดันพร้อมเสียงคำรามกึกก้องเป็นช่วง ๆ ทำเอาคนที่ยืนหน้ากรงสะดุ้งโหยงแทบทุกครั้ง

ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ชื่อของเสือโคร่งเบงกอลทั้ง 4 ตัวที่ว่านั้น พวกมันเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก เมื่อปี 2550 พวกมันเป็นเสือที่ไม่เคยรู้จักป่า และเคยถูกตีราคาตัวละ 1.5 ล้านบาท

กรงที่มีความกว้างไม่เกิน 20 เมตรคือบ้านของมัน ดูภายนอกก็เป็นเสือที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ลึก ๆ แล้ว ก็คือเสือที่มีเพียงลาย ไร้ซึ่งทักษะความสามารถในการใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ป่า พลังงานบางอย่างของมันถูดลดทอนลงไปภายใต้กรงขัง

หากพวกมันอยู่ในป่า จะมีอายุถึง 40-50 ปี แต่ในกรงขังแบบนี้จะลดทอนชีวิตไปถึงครึ่ง

โตโน่
“โตโน่”​ เป็นหมีตัวยักษ์ขวัญใจนักท่องเที่ยว เพราะมันดูอารมณ์ดีกว่าใครอื่น แต่ความสัมพันธ์ของเราอาจจะจำกัดอยู่ห่าง ๆ นอกกรงเท่านั้น

โตโน่เป็นหมีน้อยที่ถูกพรากพ่อแม่จากเหตุการณ์ไฟป่าตั้งแต่ปี 2563 มันอาศัยไหวพริบด้วยการแอบไปหนีในท่อนซุง จนรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ต้องมาพักรักษาตัวและได้รับการดูแลมาจนถึงวันนี้ แต่เมื่อเข้ามาอยู่กับคนและถูกเลี้ยงด้วยนมวัวจนเติบใหญ่ ตอนนี้จึงยังกลับเข้าป่าไม่ได้

ราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่โตโน่และเพื่อนหมีต้องกินน้ำหวาน ๆ ทางศูนย์ต้องสั่งซื้อน้ำผึ้งมาให้พวกมัน

ได้ยินแล้ว อยากรู้ว่ารสชาติแห่งฤดูกาลของโตโน่จะหวานชื่นขนาดไหน

นายมรกต สุดดี ผอ.กองตลาดภาคตะวันออก ททท. นำคณะทำกิจกรรม CSR มอบอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ พร้อมล้างกรงสัตว์ โดยมีนายทวีป ล้อมวงษ์ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) ให้การต้อนรับ

ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1

ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก ตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมโยงป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึง 10 จังหวัด ที่นี่เป็นศูนย์ดูแลสัตว์ป่าทั้งที่ป่วย บาดเจ็บ พลัดหลง  รวมทั้งสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งเป็นของกลางจากการลักลอบซื้อขาย  ล่าสุดกับบรรดาฝูงลิงนับพันตัวที่ถูกย้ายมาจากจังหวัดลพบุรี  มีที่นี่มีเจ้าหน้าที่เพียง 18 คน รองรับการดูแลสัตว์กว่า 2,000 ชีวิต ตั้งแต่เสือ หมี กวาง นาค นก ลิง เต่า อีกัวนา ฯลฯ แต่ละวันจะต้องใช้งบประมาณค่าอาหารราว 4,000 – 5,000 บาท  ขณะที่งบประมาณทั้งปีของศูนย์ฯมีอยู่ 1 ล้านเศษ ๆ ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ฯลฯ เป็นงบที่ต้องใช้เดือนละประมาณ 20,000 บาท แต่ได้งบประมาณส่วนนี้ทั้งปีมีเพียง 30,000 บาทเท่านั้น

และนี่คือเรื่องราวที่ทำให้หลายคนหันมาแสดงน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลก ในบ้านหลังสุดท้ายของพวกเขา

บ้านหลังสุดท้าย

เรื่องมันคงจะง่ายขึ้นหากสัตว์ป่าจะได้อยู่ในป่าจริง ๆ เพราะสัตว์ที่ถูกจับตัวมา หรือเพาะเลี้ยงด้วยฝีมือมนุษย์ หรือเจ้าลิงตัวป่วนที่แฝงเป็นเจ้าบ้านในเมืองลพบุรี พวกมันไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตในป่ามาก่อน แม้ว่าจะได้รับการดูแลจนแข็งแรง หรือจบคดีความเรียบร้อยแล้ว  ก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปยังวงจรที่พวกมันไม่เคยรู้จักมาก่อน

ทางศูนย์ฯจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการเตรียมสัตว์เพื่อปล่อยคืนสู่ป่า ในช่วงเวลานั้นอาหารต่าง ๆ จะต้องหามาจากป่าที่ต้องการพาพวกมันกลับไป ต้องฝึกให้รู้จักการใช้ชีวิต เช่น เมื่อเห็นคนแล้วต้องวิ่งหนี หากยังวิ่งเข้าหาหรือไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ก็จะกลายเป็นเหยื่อของพรานป่าหรือศัตรูในทันที

เจ้าดิน น้ำ ลม ไฟ จึงเป็นเสือเบงกอลที่ต้องฝากชีวิตไว้ในบ้านหลังสุดท้ายแห่งนี้

ลิงลพบุรี

ลิงลพบุรีชุดแรกเข้ามาที่ศูนย์ฯ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว จากฝากเลี้ยงกลายเป็นยก (ภาระ) ให้ เป็นลิงฝูงใหญ่ที่รวม ๆ แล้วพันกว่าชีวิต กลุ่มที่เคยยกพวกตีกันกลางเมืองจนเป็นข่าว ก็เป็นลิงชุดหลัง ๆ ที่ตามกันมา วันแรกที่รับตัวมา เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังทำแผล เย็บแผลกันทั้งคืน

ลิงเป็นสัตว์ที่อยู่ไม่นิ่ง วัน ๆ พวกมันเขย่ากรงและวิ่งซนไปมาไม่หยุด ทำให้กรงเสื่อมสภาพ เจ้าหน้าที่ต้องทำการซ่อมแซมอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดเรื่อง เคยมีลิงที่แหกกรงหนีออกไปป่วนชาวบ้านชาวเมือง จนทางศูนย์ฯต้องไปตามกลับมา

การจับสัตว์ที่มีทั้งกรงเล็บและเขี้ยวคมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยยาสลบเท่านั้น

บางตัวยิงยาสลบเข็มเดียวก็จอด บางตัวต้องยิงถึง 5 เข็ม จึงจะอ่อนแรง

บดินทร์ จันศรีคำ (หมู สาริกา) ประธานชมรมคนรักสัตว์-ป่า เล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของศูนย์ฯให้ทุกคนได้ฟัง

อาหาร ยาและเวชภัณฑ์

ทางศูนย์ฯมีการแยกประเภทอาหารให้เหมาะกับสัตว์แต่ละชนิด อย่างพวกลิง หรือหมี จะใช้อาหารสุนัขซึ่งมีโปรตีนสูงผสมกับข้าวและผักต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป บางวันอาจจะเป็นแตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง ฯลฯ ขณะที่เสือเป็นสัตว์ที่กินเพียงเนื้อสด และเต่าที่เราคิดว่ากินแต่ผักบุ้ง พวกมันก็เป็นสัตว์กินเนื้อด้วยเช่นกัน

นอกจากอาหารที่ต้องใช้ปริมาณมากในแต่ละวัน ยังมีสิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นอีกภาระหนักของทางศูนย์ฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถประเมินงบประมาณที่แน่นอนได้ เพราะความเจ็บป่วยของสัตว์ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง “ยาและเวชภัณฑ์” จึงมีความจำเป็นมาก ทั้งน้ำเกลือที่ใช้ล้างแผล ยาสลบที่จำเป็นมากในการรักษาพยาบาลสัตว์

ยาเหล่านี้ใช้สำหรับสัตว์แต่มีคุณสมบัติคล้ายกับของที่ใช้กับคน เฉพาะยาสลบมีราคากว่า 1,000 บาทต่อขวด

นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมล้างกรงหมี

แปรงฟันให้เสือ

สัตว์ป่าที่ต้องอาศัยอยู่แต่เพียงในกรง ไม่มีโอกาสได้วิ่งเล่น ขบเขี้ยวหรือฝนเล็บตามธรรมชาติ ใน 1 ปี เจ้าหน้าที่จึงต้องทำความสะอาดพวกมันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันให้เสือ และหมี รวมทั้งตัดเล็บให้พวกมัน

หน้าร้อนอาจจะต้องอาศัยรถดับเพลิงมาฉีดพรมให้ความชุ่มฉ่ำบ้าง กรงของมันก็ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเกิดกิจกรรม “ล้างกรงเสือ” และ “ล้างกรงหมี” โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาช่วยล้างกรงทั้งภายในและภายนอก โดยภายใน 1 กรง จะมีประตู 2 ชั้น เพื่อใช้กั้นสัตว์และคนในช่วงที่มีการทำความสะอาด เป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย แต่ก็ต้องอยู่ห่างจากซี่ลูกกรง และทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

“แปรงฟันให้เสือ”อาจจะฟังเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าพวกมันฟันผุ มันจะไม่กินอาหาร ภายใน 1 เดือน ก็จะตายจากไป

บรรยากาศในศูนย์ฯ มีความร่มรื่นมาก

นักท่องเที่ยว

เมื่อคนใกล้ชิดธรรมชาติได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็มีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นไปด้วย ด้วยพื้นที่ของศูนย์ฯที่เชื่อมโยงป่าเขาใหญ่ ทำให้ที่นี่ต้องรับดูแลสัตว์ที่มีทั้งขาขาด แขนขาด จากอุบัติเหตุบนถนนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัจจุบันจึงมีการจำกัดความเร็วในการขับขี่ แต่ก็ยังมีเรื่องราวลักษณะแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ

จึงเป็นเรื่องที่ต้องย้ำถึงความระมัดระวังในการขับขี่ในเขตอุทยาน รวมทั้งงดเว้นการให้อาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด

แต่ถ้าคุณอยากให้อาหารสัตว์ อยากเห็นพวกมันใกล้ ๆ แบบระยะหวั่นใจ ก็ตรงไปที่ศูนย์ดูแลสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก ไปเที่ยวแล้วขนผักถุงใหญ่ ๆ ไปฝากเพื่อน ๆ กันได้ อย่าลืมว่าพวกยาและเวชภัณฑ์เป็นสิ่งที่มีความต้องการมาก

“โนรา” เป็นลิงบ้านที่ค่อนข้างเรียบร้อยกว่าลิงทั่วไป จึงต้องเลี้ยงแบบแยกกรงกับเจ้าลิงฝูงใหญ่

หรือแค่แวะมาเที่ยว มาดูให้เห็นความเป็นไปก็ได้ฟีลเหมือนมาเที่ยวสวนสัตว์ ในศูนย์ฯมีความร่มรื่นมาก แถมยังใกล้กับมุมสวยของอ่างเก็บน้ำห้วยปรือ

เชื่อว่าเมื่อได้มาพบกับพวกเขาแล้ว จะมองเห็นถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของสัตว์ร่วมโลก ส่วนเรื่องของความช่วยเหลือใด ๆ ก็ดำเนินการได้ตามใจปรารถนา

ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จ.นครนายก

อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ ต.เขาพระ จ.นครนายก

081 996 2925

(ขอขอบคุณ ทริป เมืองรอง ต้อง  “ออก”  เที่ยว เส้นทางกทม. – นครนายก-ปราจีนบุรี  โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน)

เที่ยวนครนายก-ปราจีนบุรีกันต่อ กับ 14 จุดตามหัวใจเรียกร้อง เมืองรองต้อง “ออก” เที่ยว  >>> https://www.meetthinks.com/travel-trip-nakhon-nayok-prajin-buri/

#เมืองรองต้องออกเที่ยว

#สุขทันทีที่เที่ยวนครนายก

#เมืองน่าเที่ยว

Post a comment

nine + 16 =