Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เที่ยวอยุธยา ตามรอยศรัทธาพระเจ้าตาก

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี คนไทยรู้จักและซาบซึ้งในคุณงามความดีจากพระปรีชาสามารถอันสูงส่งจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะในสมัยที่แผ่นดินกรุงศรีถูกข้าศึกบุกทำลายเสียหายในปี พ.ศ.2310 จนกระทั่ง “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ได้นำทัพกอบกู้เอกราชบ้านเมืองกลับคืนมาได้

เมื่อครั้งอดีตทัพกู้ชาติของ “พระเจ้าตาก” ได้เดินทางผ่านหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด  โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีสถานที่หลายแห่งอยู่ในเส้นทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ผสานรากเหง้าแห่งความศรัทธา ชวนให้ตามรอยไปค้นหา พลาดไม่ได้กับสายมู กับการเดินสายขอพรพระเจ้าตาก ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยความงดงามมาแต่โบราณ

พระราชประวัติฉบับย่อ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นชิน เป็นบุตรของขุนพัฒน์ (นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้) และ นางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรียุธยา

ในวัยเด็กมีหน่วยก้านดี   เจ้าพระยาจักรีผู้ (ตำแหน่งสมุหนายกในตอนนั้น) เห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม โดยเข้ารับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง)  บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร

เมื่อสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปี บวชอยู่ 3 พรรษา จึงลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงานด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง

ต่อมา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ได้ทำความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า “พระยาตากสิน”

หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310

(อ่านประวัติฉบับเต็มได้ที่ https://www.nac2.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/1743)

วัดเชิงท่า

“วัดเชิงท่า” เป็นวัดโบราณ วัดนี้มีชื่อเรียกหลากหลาย รวมทั้ง “วัดโกษาวาส”​ ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล “เจ้าพระยาโกษาธิบดี” (โกษาปาน)

ที่นี่เคยเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของนายสิน หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาภาษาไทย ขอม และพระไตรปิฎกกับพระอาจารย์ “สมภาร ทองดี” ที่วัดแห่งนี้

วัดเชิงท่า

ตำบลวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดสมณโกฏฐาราม

เป็นวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (โกษาเหล็ก)

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินบวชเป็นพระภิกษุกับท่านทองด้วง (ร.1) ได้เคยจำพรรษาที่วัดนี้และได้ออกบิณฑบาตพร้อมกันเสมอ

สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการกราบสักการะ “พระศรีสมณโกฏิบพิตร” พระประธานในพระอุโบสถสมัยอยุธยาอันงดงามและทรงคุณค่า ก่ออิฐถือปูน มีประตู 4 ด้าน ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว   นอกจากนั้นยังมีพระปรางค์องค์ใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย และวิหารอันงดงาม

วัดสมณโกฏฐาราม

ตำบลไผ่ลิง อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา

วัดพิชัยสงคราม

“วัดพิชัยสงคราม” จุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินทัพโดยพระยาวชิรปราการ (ตำแหน่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยนั้น)

วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งค่าย หลังจากการรวบรวมกองทัพแล้วได้ทำการสัตยาอธิษฐานขอพรหลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธพิชัยนิมิต) เพื่อให้เดินทางปลอดภัยและได้รับชัยชนะในระหว่างการเดินทัพไปยังจันทบุรี

ปัจจุบัน “หลวงพ่อใหญ่” ​เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ยังคงงดงาม มีผู้เข้ามาขอพรอย่างไม่ขาดสาย บริเวณริมแม่น้ำยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ผู้ที่เปี่ยมด้วยศรัทธาเข้ามากราบไหว้ขอพร

วัดพิชัยสงคราม

ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดเกาะแก้ว

วัดเกาะแก้ว อยู่ทางตอนใต้ของวัดพิชัย ตามประวัติเล่าว่า แต่เดิมในช่วงน้ำหลากที่นี่เคยเป็นสถานที่ปักหลักของกองทัพ เพื่อเตรียมทำยุทธนาวีกับกองเรือพม่า เรียกว่า “ค่ายวัดเกาะแก้ว”

ปัจจุบันมีการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามากราบสักการะ พร้อมด้วยรูปปั้นทหารเอกอย่างหลวงพิชัยราคา  หมื่นราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พระเชียงเงิน และหลวงพรหมเสนา

วัดเกาะแก้ว

ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ค่ายโพธิ์สามต้น 

ชื่อของค่ายโพธิ์สามต้น เป็นที่รู้จักและจดจำของผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หากเราเดินทางมายังพื้นที่ “ค่ายโพธิ์สามต้น” ในปัจจุบันจะไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏให้เห็นร่องรอยในอดีต

ตามพงศาวดารระบุว่า พื้นที่นี้คือบริเวณตั้งค่ายของทัพพม่า และเป็นสถานที่ที่ทัพพระเจ้าตากยกมาตีพม่าจนพ่ายไปในที่สุด จึงเป็นสมรภูมิแห่งความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้

ทางชุมชนบ้านโพธิ์สามต้น ได้จัดทำศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้เพื่อรำลึก และมีพุทธอุทยานขนาดย่อม ไว้ให้ผู้มาเยือนได้เคารพสักการะ

ค่ายโพธิ์สามต้น 

ตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช

เป็นวัดป่าใกล้กับ “ค่ายโพธิ์สามต้น” ที่แห่งนี้เคยเป็นวัดร้างเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดที่มีความสงบร่มเย็น และมีพระสงฆ์ประจำอยู่

เอกลักษณ์ที่สำคัญคือ “หลวงพ่อพระพุทธฐานิโย” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปศิลปะสมัยทราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) แกะสลักเนื้อหินทรายอายุเก่าแก่เกือบ 2,000 ปี ปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร ประดิษฐานเป็นองค์ประธานภายในพระอุโบสถ เป็นอีกจุดที่มีผู้นิยมแวะเวียนมากราบสักการะขอพร

ภายในวัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช ยังมีอนุสรณ์แห่งชัยชนะและรำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละ อาทิ เจดีย์ศรีพุทเลาศรัทธา ศาลเคารพบรรพบุรุษและบรรพชนผู้หาญกล้า สะพานแห่งชัยชนะ ฯลฯ

วัดโพธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช

ตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังมีวัดวาอารามที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ ชวนให้ไปศึกษาและกราบไหว้บูชาเสริมความเป็นสิริมงคลอีกหลายแห่ง

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

“วัดพนัญเชิง” เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา ที่มีผู้คนหลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย โดยมีเป้าหมายหลักในการกราบสักการะ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร วัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง  เป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง

ชาวจีนเรียก “หลวงพ่อโต” ว่า “ซำปอกง” และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีน  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมาก

วัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร

ชมความงดงามของพระอุโบสถทรงกาบเรือสำเภาและเป็นพระอารามที่สำคัญของราชวงศ์จักรี เชื่อว่าสมัยอยุธยา เรือนของนายสิน (พระเจ้าตาก) ซึ่งเป็นบุตรของคหบดีจีนก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน

ภายในวัดเต็มไปด้วยความสวยงามและทรงคุณค่า อาทิ พระอุโบสถ  ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือรัตนบัลลังก์ฐานสิงห์ หน้าตักกว้างประมาณ 1.5 เมตร สูง 2 เมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝาผนังด้านในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม อายุมากกว่า 200 ปี โดยฝีมือของช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2328  ต่อมาได้รับการบูรณะเขียนซ่อมแซมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2393 โดยเค้าโครงของภาพยังคงไว้ในรูปแบบเดิม

“พระวิหาร” สร้างมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แต่มาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรโลหะลงรักปิดทอง ประทับนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย บนฐานชุกชี

ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์ประธาน) บรรจุพุทธสารีริกธาตุ “เจดีย์ประธาน”เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีมาลัยเถา 3 ชั้นรองรับองค์ระฆัง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 รายล้อมด้วยเจดีย์ทรงเครื่ององค์ระฆังริ้ว ซึ่งเป็นการสร้างเลียนแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร

ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อโยธยา พาชิม พาชิล

อิ่มบุญอิ่มใจแล้วไปหาที่อิ่มท้อง พร้อมช้อปของดีประจำกรุงศรีกันที่ “ตลาดน้ำอโยธยา” ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนริมน้ำที่มีของกิน ของใช้ ของฝากถูกใจรวมอยู่ที่นี่ ภายใต้วิถีแบบชาวอยุธยาโบราณ

ใกล้ ๆ กับตลาดมีร้านอาหารจานเด็ดยอดนิยมด้วยคำชมไม่ขาดสาย ดังไกลถึงมิชลินไกด์ นั่นคือร้าน “ครัวแตน” ร้านอาหารสูตรบ้าน ๆ แต่รสชาติเกินต้าน ด้วยความพิถีพิถันในการปรุงและคัดสรรวัตถุดิบดี ๆ เช่น “ผัดเผ็ดกระดูกอ่อน” กินกับกระเทียมดองและใบยี่หร่า เข้ากันดีสุด ๆ “คะน้าปลาเค็ม”​ ที่มีความหอม กรอบ ลงตัว หรือจะเป็น ทอดมันปลากราย แกงป่าปลาน้ำเงิน สายบัวผัดกุ้ง ฯลฯ อร่อยทุกจาน แต่ละเมนูเต็มไปด้วยความตั้งใจ ช่วงคนเยอะ ๆ อาจจะรอนานสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า คุ้มค่าการรอคอยแน่นอน

Post a comment

three × 2 =