Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ตระเวนเที่ยวอยุธยา วันที่น้ำมาเต็มตลิ่ง  

เสน่ห์ของเมืองเก่าอยุธยายังคงตรึงตาตรึงใจ ไม่ว่าจะเดินทางมาครั้งใด ก็ยังชื่นใจมิเคยเสื่อมคลาย จากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ท่ามกลางวิถีชีวิตของผู้คนอันน่าสนใจ

จากสภาพภูมิอากาศในช่วงหน้าฝนของปีนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ประสบกับภาวะน้ำท่วม หนึ่งในนั้นคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านถึง 3 สาย ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี คนอยุธยาจึงคุ้นชินกับวิถีชีวิตกับสายน้ำ บ้านเรือนริมชายฝั่งส่วนใหญ่มีเรือเป็นของตัวเอง แม้ว่าการสัญจรทางน้ำจะไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีต แต่เมื่อฝนเทลงมา ชาวอยุธยาจึงต้องเตรียมรับกับสภาพน้ำที่เอ่อล้นอยู่เป็นประจำ

สำหรับปีนี้ในตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีน้ำท่วมหลายแห่ง แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคสำหรับสำหรับเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ล่าสุดเมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง พร้อมคณะสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมเข้าร่วมงาน “อยุธยา Walking Street” บริเวณถนนนเรศวร ตั้งแต่หน้าวัดมหาธาตุ ไปจนถึงวัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2565

ภาพแรกที่สัมผัสเมื่อเข้าถึงตัวเมืองอยุธยา คือ ปริมาณน้ำริมตลิ่งที่เอ่อล้นจนท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชนในบางพื้นที่ เมื่อเข้าสู่ตัวเมือง บริเวณการจัดงานอยุธยา Walking Street  เต็มไปด้วยความคึกคักตามปกติ มีการออกร้านจำหน่ายอาหารเป็นจำนวนมาก สำรวจพบว่าราคาค่อนข้างเป็นมิตร จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายใต้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด นอกจากการออกร้านแล้ว ยังมีกิจกรรมการแสดงบนเวที การฉายหนังกางแปลง  และจุดต่าง ๆสำหรับการถ่ายรูป

หลังจากออกสำรวจแหล่งท่องเที่ยวหลักในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ายังมีหลายแห่งที่ไม่มีน้ำท่วม บางแห่งมีการบริการจัดการทำแนวกั้นน้ำได้ดี บางแห่งมีปริมาณน้ำเข้ามาในพื้นที่เพียงเล็กน้อย

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

เริ่มต้นจาก “วัดราชบูรณะ” ถนนมหาราช ปัจจุบันยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยา

จากนั้นได้เดินทางเข้ากราบสักการะ “ศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยา” เป็นศาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 เนื่องจากศาลเก่าได้ชำรุดเสียหายไปกับเหตุการณ์ในอดีต มีเสาหลักเมืองจำลองสำหรับประชาชนที่ต้องการปิดทอง ผูกผ้าแพร หรือถวายดอกไม้ ปัจจุบันยังคงเป็นที่เคารพบูชาของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว

วังช้างอยุธยาแลเพนียด

บริเวณหน้าศาลหลักเมือง เป็นที่ตั้งของ “วังช้างอยุธยาแลเพนียด” ในวันนี้บรรดาช้างและควาญช้างยังคงออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะถ่ายรูปกับช้าง หรือนั่งหลังช้างพาชมเมืองระยะสั้น  เป็นอีกกิจกรรมที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทุกวัย

วัดโลกยสุธา

เดินทางต่อไปอีกไม่ไกล อีกจุดที่ยังเข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยไม่เจอน้ำท่วม คือ “วัดโลกยสุธา”  ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ใกล้กับพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์ อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยา โดดเด่นด้วยพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา องค์พระมีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดพระนอน” แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่ยังคงรายละเอียดอันงดงาม ด้านหลังยังคงปรากฏร่องรอยของฐานอาคาร และพระปรางค์ที่ยังคงตั้งตระหง่าน

วัดภูเขาทอง

เมื่อเดินทางต่อไปสำรวจยังบริเวณแก้มลิง บริเวณทุ่งภูเขาทอง สถานที่รองรับและระบายน้ำ พบว่าปริมาณน้ำเริ่มเต็มตลิ่งแต่ยังไม่เป็นปัญหาสำหรับการสัญจรไปมา “วัดภูเขาทอง” เจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ มองจากฝั่งของบึงน้ำ สะท้อนภาพงดงาม เป็นฤดูกาลที่แตกต่างที่สวยแปลกตา

วัดตูม

หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์

ออกจากตัวเมืองไปประมาณ 7 กิโลเมตร บริเวณริมคลองวัดตูม ที่ตั้งของ “วัดตูม” ริมถนนอยุธยา-อ่างทอง แม้ว่าจะมีปริมาณปริ่มเข้ามาในบางส่วนของตัววัด แต่รถสามารถผ่านเข้ามาได้อย่างสะดวก ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบขอพรกับ “หลวงพ่อสุข” หรือ  “หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่องปางมารวิชัยที่มีพุทธศิลป์อันงดงาม ในคราวกรุงแตกพระพุทธรูปองค์นี้ยังรอดพ้นจากการเผาทำลายมาได้ จึงเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง

วัดหน้าพระเมรุ

เช้าวันใหม่เดินทางสู่ “วัดหน้าพระเมรุ” ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) เป็นวัดเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัดนี้ คือ พระอุโบสถและพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องใหญ่ สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประทับราหูแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา  ด้านหน้าพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 26 องค์ด้านหลังพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 22 องค์ รวมเทวดา 48 องค์

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

จากนั้นเดินทางสู่ “วัดพนัญเชิง” วัดเก่าแก่คู่เมืองอยุธยา พระอารามที่มีแม่น้ำทั้ง 3 สายไหลเวียนมาบรรจบกัน เพื่อกราบขอพร “หลวงพ่อโต” (พระพุทธไตรรัตนนายก)  หรือ “เจ้าพ่อซำปอกง” อันเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีน ปัจจุบันยังมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย  หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20   เมตร สูง 19.20  เมตร ศิลปะแบบปูนปั้นลงรักปิดทอง ถือเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง ปัจจุบันทางวัดได้วางแผนและจัดการวัดเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาไหว้พระได้ตามปกติ

วัดสมณโกฏฐาราม

อีกจุดที่น่าสนใจ แม้จะอยู่ในตัวเมืองอยุธยาแต่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่รู้จักกันมากนัก คือ “วัดสมณโกฏฐาราม” ด้วยความงดงามของพระอุโบสถสมัยอยุธยา ลักษณะก่ออิฐถือปูน มีประตูเข้าออกทางด้านข้าง 4 ด้าน ภายในพระอุโบสถมีหลังคาต่อเป็นโครงไม้แบบหน้าจั่ว ประดิษฐานพระประธาน กว้างประมาณ 3.5 เมตร

“วัดสมณโกฏฐาราม” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) อาจเป็นในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

วัดดุสิดาราม

ไม่ไกลจากกันมากนัก เป็นที่ตั้งของ “วัดดุสิดาราม” ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2100 นอกจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ปัจจุบันยังเป็นอีกจุดสักการะหลวงพ่อในโบสถ์ และขอพรยักษ์ใหญ่ 2 ตนบริเวณหน้าโบสถ์ที่สร้างใหม่ คือ “ท้าวธตรัฏฐะ” และ “ท้าวเวสสุวรรณ” ซึ่งการรันตีจากคนในพื้นที่ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ปัจจุบันมีสายมูเดินทางมาไหว้ขอพรกันมากขึ้น

วัดธรรมาราม

ปิดท้ายที่ “วัดธรรมาราม” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  งดงามด้วยอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีโบราณสถานวัดธรรมาราม แสดงถึงความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยและศรีลังกา ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2546 และครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับศรีลังกา ในปี 2548  ภายในวัดยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์พระอุบาลี แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระอุบาลีที่เคยจำพรรษาอยู่ที่นี่เมื่อครั้งอดีตกาล

ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป พระนครศรีอยุธยายังคงสะท้อนภาพความงดงามในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธาและสิริมงคล อันเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทุกคน อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกท่าน และขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี 

 

Post a comment

11 + seven =