Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ดูผีเสื้อปางสีดาช่วงไหน…ดี

เราคุ้นเคยกับคำว่า “ผีเสื้อและดอกไม้” มักจะเป็นของที่อยู่คู่กันจนแทบจะแยกกันไม่ได้ เพราะต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ด้านผีเสื้อนั้นไม้รู้ว่ามาดมดอมความหอมด้วยหรือไม่ แต่น้ำหวานของดอกไม้เป็นอาหารของพวกมัน แต่นอกจากน้ำหวานจากดอกไม้แล้วเหล่าผีเสื้อก็ต้องการแร่ธาตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ตามพื้นดินหรือแอ่งน้ำ ซึ่งมีทั้งซากพืชซากสัตว์ หรือมูลและปัสสาวะของสัตว์ต่าง ๆ จึงเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของบรรดาผีเสื้อ โดยเฉพาะผีเสื้อตัวผู้ ที่ต้องการธาตุอาหารเหล่านั้นไปสร้างเสปิร์มและกลิ่นหอมเพื่อดึงดูดผีเสื้อตัวเมีย เมื่อมีผีเสื้อมารวมตัวกันมาก ๆ จึงเรียกว่า “โป่งผีเสื้อ”

ผีเสื้อสะพายฟ้า

พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา ถือว่าเป็นแหล่งดูผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออกของประเทศไทย  ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “ดินแดนผีเสื้อผืนป่าตะวันออกของประเทศไทย” ภายใต้ชื่อ “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” บริเวณอุทยานและพื้นป่าใกล้เคียง ที่มีผีเสื้อมากกว่า 500 สายพันธุ์

ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

ฟังอย่างนี้แล้วก็นึกถึงภาพเหล่าผีเสื้อที่โบยบินอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เหมือนมีงานมหกรรมอะไรสักอย่าง แต่ใช่ว่าทุกครั้งหรือทุกช่วงเวลาจะได้เห็นภาพประทับใจเหล่านั้น

ผีเสื้อหางติ่งมหาเทพ

วันที่เราเดินทางไปอุทยานแห่งชาติปางสีดาในช่วงเช้า หน้าฝนเป็นฤดูกาลสำหรับการดูผีเสื้อ เพราะน้ำจากแหล่งต่าง ๆ จะไหลมารวมกันที่แอ่ง แต่วันนี้ฟ้าเป็นใจเพียงเล็กน้อย ข้อดีคือฝนได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่แสงแดดยังคงซ่อนกาย บรรยากาศที่โป่งผีเสื้อวันนี้จึงไม่คึกคักเหมือนที่ตั้งใจไว้

ผีเสื้อสะพายฟ้า

ผีเสื้อหางติ่งนางละแวง

ระหว่างรอฝูงปีกบางมางานเลี้ยง พวกเราก็ฆ่าเวลาไปกับการชื่นชมเจ้าผีเสื้อที่เกาะอยู่ตามดอกไม้ สักพักช่างภาพก็กรูเข้าไปที่โป่ง ที่เห็นเป็นภาพในหัวคือ โต๊ะอาหารวางเรียงเต็มพรึบแล้ว ขาดแต่แขกอันทรงสีสันทั้งหลาย ที่ดูเหมือนว่าจะยังอ้อยอิ่งอยู่สักที่ในป่า

ตัวนี้ไม่แน่ใจ ระหว่าง ผีเสื้อจรกาแถบเพศฟ้า หรือ ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ

ตามก้อนหินและพื้นดินที่มีร่องรอยของน้ำ มีผีเสื้อตัวน้อยเพียงไม่กี่ตัวบินวนเวียน เดินไปเดินมา เมื่อแสงแดดเริ่มสาดส่องทีละน้อย ก็เริ่มเห็นแขกทยอยเข้างาน เป็นงานเลี้ยงสายชิลล์ ใครมาก่อนก็กินก่อน ไม่รุมกันตอมดอมดมเหมือนภาพที่คิดไว้

ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแดงต่อ

อาจจะเพราะอากาศที่ยังแจ่มใสไม่มากนัก ฟ้าค่อนข้างปิด ๆ เปิด ๆ ความครึ้มในยามสาย เคยทำให้เรารู้สึกเย็นสบาย แต่สำหรับวันนี้ขอแดดเปรี้ยง ๆ มาเลยได้ไหม เพราะรู้ดีว่าอีกไม่นาน ก็ต้องเดินทางต่อไปในจุดอื่น ๆ

การมาเยือนอุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว ในครั้งนี้ เป็นการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว ภายใต้การทำงานของ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระแก้ว และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสระแก้ว การดูผีเสื้อเป็นเพียงหนึ่งใน 14 แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องตระเวนเดินทางไปตลอด 3 วัน 2 คืน

ผีเสื้อตาลหนามแหลมธรรมดา

ณ ยามสายวันนั้น ผีเสื้อไม่เกาะกลุ่มรุมกินโต๊ะกันเหมือนที่หวัง กลายเป็นผีเสื้ออินดี้ที่ต่างคนต่างเลือกมุมของตัวเอง สิ่งสำคัญคือปริมาณแสงแดดที่ยังไม่สดใสมากนักนั่นเอง สรุปรวมแล้วใน 1 เฟรม จะมีผีเสื้อแค่ 5-6 ตัวเท่านั้น ช่างน่าเอ็นดูจริง ๆ

ผีเสื้ออะไซเรี่ยนเล็ก

แต่ในความน้อยก็มากไปด้วยความหมาย เพราะลีลาท่าทางที่เป็นอิสระของผีเสื้อแต่ละตัว ทำให้เราได้พบกับมุมมองที่สดใส ได้ติดตามความเคลื่อนไหวจากตัวตนของพวกมัน เกิดเป็นภาพเล็ก ๆ ที่อบอุ่นในใจ

เป็นที่ทราบว่า นอกจากฝูงผีเสื้อบินโบกโบยในช่วงหน้าฝนแล้ว ย้อนกลับไปก่อนจะถึงทางเข้า-ออกอุทยานฯ ยังมีน้ำตกปางสีดา ที่ได้ชื่อว่าสวยงามและเข้าถึงได้ไม่ยาก ไม่ใช่น้ำตกแบบโหดหินแบบที่ต้องบุกป่าปีนผากันวุ่นวาย แต่สามารถนำรถมาจอดแล้วเดินเท้าลงไปชมได้แบบชิลล์ ๆ

วันนี้ที่น้ำตกมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก น้องเล็กนางแบบจำเป็นของเราจึงมีหน้าที่เฉิดฉายให้บรรดาช่างภาพในคณะได้เก็บภาพอย่างจุใจ แต่ก็เป็นไปในช่วงเวลาเพียงไม่นาน ด้วยความสะดวกของพื้นที่ ทำให้การมาเที่ยวชมและบันทึกภาพน้ำตกปางสีดาเป็นไปอย่างสะดวก ปริมาณน้ำที่กำลังพอดี ทำให้มีที่ยืนตรงกลางน้ำตกเพื่อเก็บภาพความทรงจำนี้ไว้

เมื่อนึกมากนึกไป ยามสายวันนี้ มันก็ดีอยู่นะ

ขอขอบคุณน้องเล็ก นางแบบจำเป็นประจำทริป

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา  ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว  มีเนื้อที่ 529,375.81 ไร่  ครอบคลุมอำเภอวัฒนานคร อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นช้างป่า หมูป่า กระทิง เก้ง กวาง รวมไปถึงเหล่าผีเสื้อ

ดูผีเสื้อช่วงไหนดี
  • ในทุกปีทางจังหวัดสระแก้วจะจัดเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา ปี 2565 จัดมาเป็นครั้งที่ 17 แล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานฯ และเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกมากมายในจังหวัด
  • ช่วงเวลาการดูผีเสื้อคือหน้าฝน ประมาณ ก.ค.-ส.ค. ของทุกปี
  • ช่วงเวลาที่ดีคือวันที่อากาศแจ่มใส มีแสงแดดส่องถึง ช่วงเช้า 9.00-11.00 น. และช่วงบ่าย 14.00-17.00 น. เพราะถ้าแดดจัดเกินไปพวกเขาจะไปหลบในป่าทันที
  • แต่ช่วงเช้าก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ผีเสื้อจะเกาะนิ่ง ทำให้เข้าใกล้ได้ง่าย
  • นอกจากดินโป่ง หรือ โป่งผีเสื้อแล้ว สามารถพบผีเสื้อสวย ๆ ได้ตามทุ่งหญ้า ลานหิน และโถงป่า

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

อุทยานแห่งชาติปางสีดา  โทร.  0-3724-6100, 08-1862-1511

Post a comment

nine + nineteen =