Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

6017 ภารกิจทะลุกำแพง “เขาใหญ่ไปทางไหนดี”

60 ปี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวที่เต็มไปด้วยบทเรียน นับตั้งแต่การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505  และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่” เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 นับเป็นเวลา 17 ปี

นี่คือสิ่งแรกที่สะท้อนจากโลโก้ “6017” ในโอกาสครบรอบ 60 ปีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สื่อความหมายถึงสื่อความหมายถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ มีกวางเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดงพญาเย็น และแสดงถึงการที่มนุษย์ ป่า และสัตว์ป่า ส่วนเสือในเลข 7 นั้น หมายถึง “เสือโคร่ง” นักล่าในลำดับขั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในผืนป่าแห่งนี้

ออกแบบโดยนักออกแบบจิตอาสา โครงการอาสาสมัครรุ่นใหม่แห่งเขาใหญ่ (Young Volunteer for Khao Yai) “นางสาวรักชนก ช่วยเหลือ (แพรว)” บัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกการประชาสัมพันธ์และโฆษณา

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีพื้นที่ครอบคลุม 11 อำเภอ  4 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี  มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 1.3 ล้านไร่  เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก จากการทำงานอย่างหนักจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ที่เข้ามาระดมพลังกายพลังใจเพื่อรักษาป่าผืนใหญ่ให้คงความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ร่วมมือกับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี” ในวันที่ 22-23 มกราคม 2565 ณ ลานเวที ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในงาน “60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกไทย มรดกโลก” โดยงานนี้ได้ระดมความคิด เพื่อช่วยกันขบคิดถึงทิศทางของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เติบโตไปพร้อมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อธิบายว่า พันธกิจในการดูแล อช.เขาใหญ่ มีอยู่ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.การคุ้มครองและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า : ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลาดตระเวน  จากเดิมพื้นที่ อช.เขาใหญ่ เคยทำการลาดตระเวนได้ไม่เกิน 75% ของพื้นที่ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 77.7%  โดยหัวหน้าอุทยานฯเป็นผู้ร่วมลงพื้นที่ลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่

“คนที่มาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ต้องมีจิตวิญญาณในการดูแลรักษาผืนป่าร่วมกับพี่น้องทุกคน ผมไม่ได้มองเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แต่คือพี่น้องที่จะต้องร่วมลำบากไปด้วยกัน”

2.ด้านการท่องเที่ยว : จะต้องทำการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งพัฒนาให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ถังขยะที่เปิดปิดด้วยระบบเสียง ในช่วงโควิด-19  การปรับปรุงสัญญานโทรศัพท์ และการพัฒนาระบบแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน (SOS) กรณีนักท่องเที่ยวเจอช้าง รถเสีย หรือประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งการกระจายพื้นที่ท่องเที่ยวในรูปแบบการเดินป่าส่วนล่าง เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการดำเนินงานต่าง ๆ อาศัยเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมด้วย

3.ด้านวิชาการ : ปัจจุบัน อช.เขาใหญ่ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย เช่น การศึกษาเรื่องช้างป่า โดยการติดกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ ที่สามารถสะท้อนจำนวนประชากรช้างป่า  หากมีจำนวนลดลง จะต้องทำการเสริมพื้นที่การทำโป่งเพื่อให้ช้างกลับมาอาศัยหากิน เป็นต้น

4.การทำงานร่วมกับเครือข่าย : นับเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการก้าวต่อไปของเขาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ผู้ประกอบการต่าง ๆ และสมาคมอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเขาใหญ่ในหลายมิติ ไม่เพียงแค่ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่หมายรวมถึงคนในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดูแลผืนป่าแหล่งใหญ่แห่งนี้

“ปัจจุบันงบด้านการบริหารถูกตัดไป 47%  เราจึงต้องมีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันเป็นหูเป็นตา เป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ อุทยานฯ มีพื้นที่ล้านกว่าไร่  มีเจ้าหน้าที่ 400 กว่าคน จึงต้องอาศัยเครือข่ายเข้ามาช่วยดูแล อาทิ การส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุตรของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี ซึ่งลำพังเงินเดือนของเจ้าหน้าที่แค่เจ็ดพันกว่าบาท ก็ต้องทำการระดมทุนช่วยเหลือกัน ถือเป็นแนวทางสร้างกำลังใจ”

5.ด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า : ปัญหาหลักที่มักได้ยินกันคือ สัตว์ป่าอย่าง “ช้าง” ออกมารุกล้ำพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หากปล่อยไว้นานจะเกิดเป็นปัญหาใหญ่อย่างแน่นอน จึงต้องอาศัยการป้องกัน ทั้งการทำรั้วธรรมชาติ (ป่าไผ่) และคูกันช้าง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะกลาง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องเพิ่มแหล่งน้ำและแหล่งหญ้า

“ธรรมชาติของช้างจะมีโขลง แต่ช่วงผสมพันธุ์ ช้างที่ต่อสู้แล้วแพ้ จะถูกขับออกจากโขลง พวกมันก็จะเดินไปเรือย จนไปเจอมะยงชิด เจออ้อย กินแล้วอร่อยก็ติดใจ ไม่ยอมกลับเข้าป่า จึงต้องทำแนวกันช้าง แต่ระยะยาว ต้องเพิ่มแหล่งน้ำและอาหารให้มากขึ้น ตัวไหนที่ออกไปแล้วกลับมาก็ต้องกักตัวไว้สักพัก เพราะถ้าไม่กักตัว ก็จะวนกลับไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน”

หัวหน้าอุทยานฯ ระบุว่า แม้งบประมาณจะเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบให้กับการทำงาน แต่ก็ยังต้องหาแนวทางบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัด เขาบอกว่า “ต้องทะลุกำแพงให้ได้” เพราะก้าวต่อไปของผืนป่าเขาใหญ่ ยังมีความท้าทายอีกมากมายนัก

แค่ประเด็นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอุทยานฯ แม้จะพบว่า 95% เป็นผู้ที่รักและรับผิดชอบต่อธรรมชาติ แต่อีก 5% อาจจะยังไม่ใส่ใจหรือไม่ได้ตระหนักมากพอ การทิ้งขยะเรี่ยราด การให้อาหารสัตว์ ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่ยังต้องเผชิญ

เมื่อขอความร่วมมือไม่ได้ ก็ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาพูดคุย และต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอดส่องเพื่อใช้เป็นหลักฐาน ในอนาคตจึงมีเป็นไปได้ที่จะต้องเพิ่มจำนวนการติดกล้อง CCTV ทั่วเส้นทางท่องเที่ยวบนเขาใหญ่

ระดมแนวคิดของคนมีใจ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี”

กิจกรรมเสวนาในงานครบรอบ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2565  ภายใต้หัวข้อ “Green To Grow” ดำเนินรายการโดย นายณรงค์ฤทธิ์ สุขไชยปราการ เลขาธิการสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และผู้ก่อตั้งสวนเอเดน ออร์แกนิกส์ ร่วมพูดคุยกับ นางสาวเจน จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการโรงแรมเรนทรี เรนซิเดนซ์ เขาใหญ่และนายกสมาคมการโรงแรมภาคอีสาน นางสาวประภาพร หลำเจริญ ผู้จัดการลีลาวลัย รีสอร์ท และ นายพีระ สุชฎา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบน้ำและสิ่งแวดล้อม น

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 เสวนาภายใต้หัวข้อ มองอย่างไรเพื่อพัฒนาศักยภาพเพื่อ “Good Food For All” ดำเนินรายการโดย นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และร่วมพูดคุยโดย นพ.วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ นายเขมรัช อมรวัตพงศ์ Project Manager โครงการ Investing in Others in Southeast Asia, World Animal Protection และผู้ก่อตั้ง Good Mission นายนรินทร์ ปราณีกิจ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดนครราชสีมา  นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนายวิโรจน์ อรุณพันธุ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารอำเภอปากช่อง ในการเสวนาได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับ Cage Free Eggs หรือ ไข่ไก่ไร้กรง เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์และระบบอาหารที่ยั่งยืน

 “กองทุนเขาใหญ่ยั่งยืน” สะพานใจสู่ผู้พิทักษ์ป่า

สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ จึงได้จัดตั้ง “กองทุนเขาใหญ่ยั่งยืน” เพื่อระดมทุนสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ พัฒนา ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานผู้พิทักษ์ป่า หรือในยามที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ไฟป่า หรือ อุบัติเหตุ กองทุนเขาใหญ่ยั่งยืนมีเป้าหมายในการจัดสรรเงินรายรับ 50% เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และอีก 25% เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม ฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “เขาใหญ่ยั่งยืน” ตามเสาหลัก 5 ประการ และอีก 25% เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ พัฒนา เพื่อให้เกิดจิตสำนึกรัก เข้าใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มรดกโลกอย่างยั่งยืน

ขอเเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบกองทุน ฯ ได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา เทสโก้ โลตัส ปากช่อง ชื่อบัญชี สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ เลขที่บัญชี 407-551226-4 หรือ มูลนิธิคุวานันท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 109-249780-3 (ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้)  และโปรดส่งหลักฐานการโอนเงินได้ที่ ไลน์สมาคม ฯ @564awops โปรดระบุหมายเหตุการโอน สมทบกองทุน “เขาใหญ่ยั่งยืน” ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณณัฐจิรา (ยุ้ย) 094-239-3916 คุณพันชนะ (เต้) 092-645-5464 และคุณประไพพิศ (จิ) 081-519-5665

Post a comment

fourteen − 12 =