Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เพชรบุรี : เมืองสามรส ขึ้นแท่นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก

ยูเนสโกประกาศ ‘เพชรบุรี’ ขึ้นแท่นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ประจำปี 2564 อพท. เร่งจัดทำแผน 5 ปี ปูทางพัฒนาเมือง ยกระดับทรัพยากรที่โดดเด่นของเมืองและชุมชนสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากล พร้อมเตรียมศึกษาประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ระบุผลสำเร็จมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน  

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี  ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้เพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี 2564  (City of Gastronomy) หรือ UNESCO Creative Cities Network – UCCN โดยเป็น 1 ใน 49 เมืองจากทั่วโลก ที่ได้รับประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในปีนี้ สำหรับประเทศไทย เพชรบุรี เป็นเมืองที่ 5 ที่ได้รับการประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จากก่อนหน้านี้มี 4 เมือง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต (2558) จังหวัดเชียงใหม่ (2560) จังหวัดสุโขทัย และกรุงเทพมหานคร (2562)  ซึ่งการเดินหน้ายกระดับมาตรฐานของเมืองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลถือเป็นนโยบายและแผนงานที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบให้ อพท. ดำเนินการตามภารกิจ อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเมืองและแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี

เมืองได้พัฒนา ท่องเที่ยวได้อานิสงส์

ประโยชน์ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะคนในพื้นที่จะได้รับนอกจากเมืองได้รับการพัฒนาตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด  ครอบคลุมสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยังได้เรื่องของการประชาสัมพันธ์เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานหรือจัดประชุมของกลุ่มประเทศเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ซึ่งวันนี้มีจำนวนถึง 295 เมือง จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองสมาชิก นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านอาหาร   เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และเพชรบุรียังเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ อพท. อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษต่อไป อย่างจังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษที่ อพท. รับผิดชอบ ซึ่งได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมื่อปี 2562 มีแผนงานที่ อพท. ได้จัดทำขึ้นได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยระหว่างปี 2566 -2570 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 8.3  ล้านคน สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

ชูอัตลักษณ์เมือง 3 รส  

สำหรับจังหวัดเพชรบุรี อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน (Roadmap) ขับเคลื่อนเมืองระยะ 5 ปี (2565-2570) ภายใต้แนวทางการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาและกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเมือง โดยจะต่อยอดจากอัตลักษณ์เมือง 3 รส และเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ การผลิตเกลือ การปลูกและผลิตน้ำตาลจากตาลโตนด และเป็นแหล่งปลูกมะนาวรสชาติที่ดีสุด ทั้งหมดนับเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบประกอบอาหารผสมภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเมนูอาหารที่หลากหลายทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน และเพชรบุรียังมีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ในแผนงานนั้นจะเน้นเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน ทั้งกิจกรรมระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและผลักดันเมือง รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการริเริ่มกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากต่างประเทศ ร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การขับเคลื่อนเพชรบุรี ให้มีความพร้อมต่อการจัดทำรายงานเพื่อติดตาม (Monitoring Report) ในระยะ 4 ปี และนำประโยชน์จากโมเดลการพัฒนานี้ไปใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืน

อพท. เบื้องหลังความสำเร็จ

ทั้งนี้ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจาก อพท. ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั้งจังหวัดเพชรบุรี ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่นำเสนอแนวคิดในการผลักดันเมืองให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเข้าไปศึกษาศักยภาพและความพร้อมของเมือง ร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเมือง ช่วยสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมให้เกิดการประสานงาน บูรณาการและเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเมืองของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ในปี 2564

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกเป็นโครงการใหญ่ที่ยูเนสโกดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก เริ่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ โดย “เมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative City” เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสาน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ สร้างวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกันผ่านความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน อันเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนโดยตรงอีกด้วย

Post a comment

two × one =