ยุโรปรับรองมาตรฐาน “หนอนนกอบ” เป็นอาหาร ลุ้นอีก 14 แมลงทยอยตาม
เทรนด์อาหารแห่งอนาคตยังคงเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนจากแมลง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความพร้อมในการเป็นครัวแมลงโลกเลยก็ว่าได้ นอกจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของแมลงนานาชนิดแล้ว คนไทยยังบริโภคแมลงมานานแล้ว
แต่การบริโภคโปรตีนจากแมลงในฝั่งหนึ่งของโลก พร้อมทั้งเงื่อนไขของการส่งออก มาตรฐานของแมลงเพื่อการบริโภค จึงต้องอาศัยขั้นตอนที่เคร่งครัด และเมื่อเป็นโอกาส ประเทศไทยจึงไม่พลาดที่จะก้าวสู่จุดนั้น
ล่าสุด จากการเปิดเผยของ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 การทำงานเชิงรุกของทีมเซลล์แมนประเทศหรือทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมีความคึกคัก และประเด็นของแมลงเพื่อการบริโภคก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
“ขณะนี้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวตลาดจากทั่วโลกเพื่อผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนการพัฒนาและผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของตลาดแต่ละประเทศตามกลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อยากแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสในสินค้าเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market และโอกาสในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยโอกาสของตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม ล่าสุด สหภาพยุโรปที่ได้รับรองหนอนนกอบให้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ได้และยังมีอีก 14 รายการของแมลงที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขึ้นทะเบียนพิจารณาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ” นางมัลลิกา กล่าว
สำหรับ “หนอนนก” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันดีในนามของอาหารของนก ปลา หนู กระรอก ฯลฯ หนอนที่ว่านี้ เป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
นอกจากหนอนนกแล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์ยังระบุว่า สินค้าตกแต่งบ้านแฮนด์เมดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื่อรองจานตะกร้าสาน มีความต้องการมากในเยอรมัน ดังนั้นไทยจึงควรศึกษาเรื่องตรารับรอง SSC และกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของสินค้าสิ่งทอของยุโรปด้วย
สำหรับตลาดสหราชอาณาจักร มีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสำหรับสัตว์เลี้ยงในเพิ่มขึ้นเพราะคนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ เช่น กล้องวงจรปิด อุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ และบริการสมัครสื่อบันเทิงสำหรับสัตว์ ส่วนสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง ด้านตลาดทางจีน ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อหลักในจีน คือ สตรีวัยกลางคน ที่มีการศึกษาและมีสถานะการเงินสูงกว่ารายได้เฉลี่ย
เมื่อรายหลักของประเทศไทยอย่างการท่องเที่ยว กำลังสะดุดล้มอย่างหนัก ถึงกับต้องใช้คำว่า “เดี้ยง” ไปแล้วในยามนี้ ภาคการส่งออกจึงเป็นขาเดียวที่เหลืออยู่ เศรษฐกิจในยุคโควิด-19 จึงต้องพึ่งพาการส่งออก และต้องทำงานเชิงรุก บุกทุกทาง รวมทั้งเรื่องแมลงซึ่งเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่มาถึงแล้วในวันนี้