ร้อนนี้ที่รอคอย ข้าวแช่สุวรรณภูมิ
ตอนที่ยังไม่มีตู้เย็น คนสมัยก่อนทำอย่างไรถึงจะได้กินน้ำเย็นชื่นใจ
นอกจากน้ำจากแหล่งธรรมชาติ หรือน้ำบ่อ ยังมีน้ำฝน ที่คนในอดีตพึ่งพาอาศัย
เมื่อได้ยินเรื่องราวของ “ข้าวแช่” จึงทำให้ภาพของการทำน้ำเย็นชัดขึ้น เพราะยังทันสมัยที่บ้านแต่ละหลังมีโอ่งหรือตุ่มใส่น้ำแล้วปิดฝาไว้ ตักขึ้นมากินที่ไร ก็ชื่นใจ ด้วยความเย็นกำลังดี อาจจะประกอบกับตัวบ้านส่วนใหญ่ที่โปร่งโล่งสบายมีต้นไม้ล้อมรอบ อุณหภูมิของโอ่งดินจึงเก็บความเย็นได้ดี
เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็น การทำข้าวแช่ ซึ่งเป็นเมนูคลายร้อน จึงต้องหาวิธีการทำให้ตัวน้ำนั้นทั้งเย็นและหอม ด้วยการใส่ไว้ในหม้อดินเผา
“ข้าวแช่” เป็นอาหารว่างที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนว่า จะทำขึ้นในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น และใช่ว่าใครๆ คิดจะทำก็สามารถรังสรรค์ขึ้นมาได้ทันที นอกจากกระบวนการที่ซับซ้อน จากเครื่องเคียงอย่างน้อย 5 ชนิด การหุงข้าวให้พอดี การทำน้ำอบควันเทียนให้หอม อีกทั้งยังมีขั้นตอนการกินที่มีลักษณะเฉพาะ จึงเป็นอาหารชาววังที่ไม่ได้ทำกินอย่างแพร่หลาย แต่ก็หารับประทานได้ในทุกปี
“ข้าวแช่” เป็นอาหารของชาวมอญ ซึ่งในอดีตชาวมอญนิยมทำเพื่อถวายเทพยดาและพระสงฆ์ ในช่วงวันสงกรานต์
“เชฟบังอร มาลาเล็ก” หัวหน้าครัวไทย โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า ข้าวแช่เป็นอาหารมอญ ที่เริ่มต้นเข้ามาเป็นสำรับในวังในอดีต เนื่องจากมีคนในวังไปพบเห็นชาวมอญทำข้าวแช่ในช่วงสงกรานต์ และเป็นอาหารว่างที่รับประทานแล้วชื่นใจ เหมาะกับหน้าร้อนของเมืองไทย จึงได้นำเมนูนี้เข้ามาเป็นหนึ่งในสำรับเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ (ราวสมัยรัชกาลที่ 4- รัชกาลที่ 5)
ในช่วงหน้าร้อนของทุกๆ ปี โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต มีการรังสรรค์เมนูข้าวแช่เป็นเมนูพิเศษประจำฤดูร้อน เช่นเดียวกับปีนี้ ได้นำเสนอ “ข้าวแช่สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นข้าวแช่ตามแบบฉบับของ “หม่อมหลวงบัว กิติยากร” รังสรรค์โดยเชฟบังอร เชฟครัวไทยที่มีฝีมือดี การันตีด้วยรับรางวัลพระราชทานต่างๆมากมาย และพิเศษยิ่งกว่าสำหรับปี 2564 ด้วยการแนวคิด “ข้าวแช่สุวรรณภูมิ” เพื่อสะท้อนแนวคิดคุณค่าแห่งความเป็นไทย และความเป็นสิริมงคลในช่วงวันสงกรานต์นี้
ในช่วงหน้าร้อนของปีนี้ เชฟได้ตั้งใจรังสรรค์เครื่องเคียง 9 ชนิดเพื่อให้สอดคล้องกับเลขมงคลของชาวไทย พร้อมประดับทองคำเปลวบนเครื่องเคียงเพื่อเป็นสิริมงคลและตอกย้ำในความหมายของคำว่าสุวรรณภูมิ “ดินแดนแห่งทองคำ” ข้าวแช่สุวรรณภูมินอกจากจะเป็นเมนูคลายร้อนแล้ว ยังถือเป็นของฝากอันล้ำค่าสำหรับเทศกาลสงกรานต์
สัมผัสความสดชื่นไปด้วยการเริ่มต้นลิ้มรสความหอมสดชื่นจากน้ำลอยดอกมะลิอบควันเทียนที่เชฟบังอรนำข้าวหอมมะลิมาหุงและบรรจงขัดข้าวให้ขึ้นเงาจากนั้นจึงนำมานึ่งอีกครั้งก่อนนำมาแช่กับน้ำอบควันเทียน เชฟบังอรได้ใช้เวลาบรรจงรังสรรค์เครื่องเคียงและผักแนมแกะสลักอย่างละเมียดละไม
กะปิชุบไข่ทอดไฮไลท์หลักของข้าวแช่ที่ใช้เวลาผัดให้เข้ากันนานถึง 8 ชั่วโมง เพื่อให้กะปิและเครื่องผัดรวมกันเป็นเนื้อเดียว, ปลาช่อนแห้งผัดหวาน, หัวไชโป๊วผัดหวาน, หัวไชโป๊วผัดไข่, หมูฝอย, เนื้อฝอย, หอมยัดไส้ปลาชุบแป้งทอด, พริกหยวกสอดไส้หมูผสมกุ้ง และไข่แดงเค็มชุบไข่ขาวทอดได้ความหอมมันของไข่แดง
เพื่อประสบการณ์การรับประทาน “ข้าวแช่สุวรรณภูมิ” ที่ดีที่สุดควรเริ่มจากการทานของคาวที่สุดก่อนอย่างลูกกะปิ เคี้ยวให้ได้ลิ้มรสชาติ แล้วจึงตักข้าวแช่ขึ้นทานตามพร้อมน้ำลอยดอกไม้สักเล็กน้อย รสชาติความเข้มข้นของเครื่องเคียงจะผสมผสานกับความเย็นของข้าวแช่ จากนั้นจึงตามด้วยเครื่องเคียงหวานอย่างปลาช่อนแห้งผัดหวาน และเครื่องคาวอื่นๆ สลับสับเปลี่ยนได้ตามชอบ โดยทานคู่กับผักแนมที่เชฟบังอรได้แกะสลักผักสดไว้สำหรับทานแกล้มอย่างประณีตงดงาม ไม่ว่าจะเป็น มะม่วงแก้วขมิ้น กระชาย ต้นหอม และแตงกวา
ไม่ควรตักเครื่องเคียงมาใส่ในถ้วยข้าวหรือมารวมอยู่ช้อนเดียวกันเพราะจะทำให้ความมันและความคาวจากเครื่องปรุงต่างๆ ปะปนลงไปในถ้วยทำให้น้ำดอกไม้มีกลิ่นคาวหรือไม่หอมกลมกล่อมเท่าที่ควร
เป็นอีกหนึ่งการรอคอยที่ไม่ผิดหวัง เพราะปีนี้ ข้าวแช่สุวรรณภูมิ นอกจากเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า มาพร้อมเครื่องเคียงหลากหลาย พิถีพิถันอย่างละเมียดละไม นอกจากสัมผัสรสที่หลากหลาย ยังกรุ่นกลิ่นแห่งความหอมหวานอบอวล
ไม่เพียงลิ้มรสให้ชื่นกาย แต่เป็นจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผ่อนคลายลงด้วย
ข้าวแช่สุวรรณภูมิ
ห้องอาหารศาลาไทย โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิแอร์พอร์ต
เวลา 11.30 – 14.30น. ราคาชุดละ 780 บาท (กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้า)
ชุดตะกร้าสานสั่งกลับบ้านราคาชุดละ 990 บาท (สั่งจองล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง)
สามารถเลือกจุดรับได้ที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต หรือโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สยามสแควร์
สั่งจองข้าวแช่สุวรรณภูมิล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 พิเศษสำหรับสมาชิกแอคคอร์พลัส รับส่วนลดค่าอาหารเพิ่ม 10% จากราคาปกติ