Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

สักการะ ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เสริมสิริมงคลรับปีใหม่

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เชิญพุทธศาสนิกชนร่วมสักการะ เสริมสิริมงคลรับปีใหม่

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๙ น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๔ กระทรวงวัฒนธรรม

โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า อัญเชิญพระพุทธปฏิมาโบราณ ๑๐ องค์  ที่เก็บสงวนรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  เป็นประธาน และคัดสรรพระพุทธรูปอีก ๙ องค์  ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมัยกรุงรัตนโกสินทร์  มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ประกอบด้วย พระพุทธรูปที่อยู่ในพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์มาแต่เดิม ได้แก่ พระพุทธรูปฉันสมอ พระพุทธรูปศิลาขาวมารวิชัย พระพุทธสิหิงค์จำลอง และพระพุทธรูปที่ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้แก่ พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์ พระพุทธรูปป่าเลไลย์ พระพุทธรูปมารวิชัย (พระขนมต้ม) พระพุทธรูปทรงเครื่องสมาธิ พระพุทธรูปทรงเครื่องประทานอภัย รวมทั้งยังได้จัดนิทรรศการพิเศษขนาดเล็กให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและรูปแบบทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมศิลปากร ได้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยทำการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และติดสัญลักษณ์แสดงผ่านการ

คัดกรองก่อนเข้าแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร บันทึกข้อมูลของผู้ใช้บริการ เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา บริการเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ ที่มีการสัมผัสบ่อย พร้อมทั้งทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทุก ๒ ชั่วโมง จัดระบบการเข้าชมโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า ๑ เมตร เพื่อไม่ให้มีการแออัดในพื้นที่จัดกิจกรรม พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

งดงาม ทรงคุณค่า ทศพุทธปฏิมาวังหน้า

๑.พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์

แบบศิลปะ  ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา

อายุสมัย  ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑

ประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง   นับแต่กรุงสุโขทัย  เชียงใหม่  พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์

๒.พระพุทธรูปฉันสมอ

พระพุทธรูปฉันสมอ

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ   เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม

พระฉันสมอประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรแบบพุทธศิลป์จีน  คล้ายคลึงกับพระฉันสมอที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกกล่าวถึงผลสมอและมะขามป้อมที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องยาสำหรับพระภิกษุอาพาธ  พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

๓.พระพุทธรูปศิลาขาวมารวิชัย

พระพุทธรูปศิลาขาวมารวิชัย

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ   เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม

ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความนิยมนำเข้าพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลักจากพม่ามาประดิษฐานในพระอารามหลวงต่าง ๆ โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยสลักจากหินอ่อนองค์นี้ มีพุทธลักษณะบางประการที่ต่างไปจากศิลปะรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ลักษณะการประทับนั่งขัดสมาธิเพชรที่พระชานุ (เข่า) ตกลงมาต่ำกว่าระดับพระเพลา (หน้าตัก) มาก และกลีบบัวหงายที่สลักติดกับฐานพระพุทธรูปก็มีลักษณะคล้ายกับกลีบบัวที่พบที่ฐานพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์คองบองของพม่า

๔.พระพุทธสิหิงค์จำลอง

พระพุทธสิหิงค์จำลอง

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓–ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ   เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม

คติการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองคงเนื่องมาจาก “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งแต่งโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่  กล่าวถึงพระเจ้ามหาพรหม เมื่ออัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์ไปประดิษฐานที่เมืองเชียงรายแล้ว  โปรดให้จำลองพระพุทธสิหิงค์ด้วยทองคำขนาดเท่ากับองค์เดิมและประดิษฐานในวิหารเดียวกับพระพุทธสิหิงค์องค์จริง  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ก็มีพระพุทธสิหิงค์จำลองประดิษฐานคู่กันด้วย

๕.พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย

พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระพุทธรูปปางมารวิชัยแก้วสีเขียวฟ้า  สมัยโบราณนิยมนำหินสีที่มีมูลค่าสูงและมีความแข็งใสเหมือนกับแก้วมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อบรรจุไว้ในกรุพระเจดีย์ต่าง ๆ ในเวลาต่อมาเมื่อหินที่มีเนื้อใสสะอาดหายาก จึงใช้แก้วที่หลอมจากทรายขาวมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทดแทน

๖.พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์

พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

ตำนานพระแก่นจันทน์กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์หลังวันออกพรรษาและได้ไปโปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล  ด้วยพระพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์แดงที่พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลื่อนหลีกไปจากพุทธอาสน์ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกฝ่าพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเป็นกิริยาทรงห้าม ตำนานนี้ประสงค์จะอ้างว่าพระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นเป็นต้นแบบของการสร้างพระพุทธรูปในภายหลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อว่า พระพุทธรูปมีขึ้นโดยพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล

๗.พระพุทธรูปป่าเลไลย์

พระพุทธรูปป่าเลไลย์

แบบศิลปะ  ศิลปะรัตนโกสินทร์

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามพระพุทธประวัติที่กล่าวถึงอุเบกขาบารมี  เมื่อคราวภิกษุเมืองโกสัมพี เกิดแตกความสามัคคีกัน แม้พระพุทธองค์จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง จึงทรงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลย  โดยมีช้างปาลิไลยกะถวายตนเป็นอุปัฏฐาก และพญาวานรมีกุศลจิตนำรวงผึ้งติดกิ่งไม้มาถวายพระพุทธองค์  พระหัตถ์ซ้ายจึงวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยาทรงรับ

๘.พระพุทธรูปมารวิชัย (พระขนมต้ม)

พระพุทธรูปมารวิชัย (พระขนมต้ม)

แบบศิลปะ  ศิลปะอยุธยา

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบสกุลช่างนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธสิหิงค์ของล้านนา โดยมีพระวรกายที่อวบอ้วน พระอุระนูน บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรสั้นเหนือพระถัน ปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ

๙.พระพุทธรูปทรงเครื่องสมาธิ

พระพุทธรูปทรงเครื่องสมาธิ

แบบศิลปะ  ศิลปะอยุธยา

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ มีคติในการสร้างหลายประการ กล่าวคือ สร้างตามพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเนรมิตพระองค์เป็นพระมหาจักรพรรดิแสดงธรรมโปรดท้าวมหาชมพูลดทิฐิมานะและออกบรรพชาเป็นพระภิกษุ  สร้างเป็นรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์  และสร้างเป็นรูปพระอนาคตพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ในอนาคต

๑๐.พระพุทธรูปทรงเครื่องประทานอภัย

พระพุทธรูปทรงเครื่องประทานอภัย

แบบศิลปะ  ศิลปะอยุธยา

อายุสมัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

ประวัติ  ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระพุทธปฏิมาทรงยกพระหัตถ์ขวา  พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย ตามคติเดิมของการสร้างพระพุทธรูปแต่เดิมของอินเดีย  พระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในท่านี้เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อภยมุทรา”  ภาษาไทยนำมาใช้ว่า “ปางประทานอภัย” เพื่อสื่อความหมายถึง “ความไม่มีภัยทั้งปวง” หรือ ไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ” อันมีความหมายถึงการปกป้องอันตราย

Post a comment

18 + 9 =