Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ของดีจาก 4 ป่า บ้านท่าระแนะ  ไม่แวะไม่ได้แล้ว!

ธรรมชาติมีจังหวะของตัวมันเอง เหมือนเราเฝ้ารอชมหมอกในช่วงฤดูหนาว  หรือ พบกับสายน้ำตกที่ไหลเย็นในช่วงหน้าฝน เช่นเดียวกับการได้เห็นลานตะบูนในช่วงน้ำแห้ง เฉพาะเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีช่วงน้ำลงเพียง 2-3 วันเท่านั้น

เที่ยวตราดบก หรือ เที่ยวตราดไม่ลงเกาะ มีหลายสถานที่ให้เลือกเที่ยวชม เช่นเดียวกับชุมชนบ้านท่าระแนะ ต.หนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราด ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความเข้มแข็งและสวยงาม มีผู้เข้ามาเที่ยวชม ศึกษาดูงานตลอดทั้งปี

วันนี้ “สายชล สุเนตร” ผู้ใหญ่บ้านท่าระแนะ รับหน้าที่เป็นไกด์อารมณ์ดีพาเราเที่ยวชมความงดงามของธรรมชาติบ้านท่าระแนะ  ที่มีทั้งป่าลำพู ป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน อาศัยอยู่อย่างเป็นสัดส่วนในพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ บริเวณปากอ่าวแม่น้ำตราด ในหมู่ 2 บ้านท่าระแนะ เป็นธรรมชาติที่สรรค์สร้างได้อย่างผู้กำกับมืออาชีพ ใช้เวลาไป-กลับและเที่ยวชมประมาณ 1 ชั่วโมง

บริเวณท่าเรือ บ้านท่าระแนะ

ยามสายที่แสงอ่อนๆ พร้อมฉายภาพความงดงาม เราลงเรือกันที่บริเวณท่าเรือบ้านท่าระแนะ ออกจากท่าเรือสักพัก เราก็ผ่านบริเวณของป่าลำพู ที่มีต้นลำพูขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ ขณะที่ต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นแซมอยู่น้อยมาก เมื่อถามถึงหิ่งห้อย ผู้ใหญ่สายชลบอกว่า ก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก

ผู้ใหญ่สายชล และ พราดร ณ นคร พิธีกร รายการ เที่ยวเป็น travel intrend

เมื่อล่องเรือเข้าไปสักพัก จะเริ่มเข้าสู่คลองแคบๆ ที่โอบล้อมด้วยต้นโกงกาง ฉากใหม่ของวันนี้เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางความครึ้มอกครึ้มใจของทุกคน เรือของเราค่อยๆ ล่องผ่านอุโมงค์โกงกางที่มีอายุหลายร้อยปี สังเกตจากรากได้ว่า มีความสูงกว่าคนที่นั่งในเรือด้วยซ้ำ บริเวณต้นมีมอสเกาะแสดงถึงความสมบูรณ์ ร่มรื่นเย็นสบาย จนอยากจะล่องมาล่องไปหลายๆ ครั้ง

และฉากต่อไปก็เป็นซีนขยี้อีกครั้ง ด้วยโซนของป่าจาก คราวนี้ต้นจากไม่ขอยอมแพ้ ประหนึ่งว่า “ฉันก็อยู่ตรงนี้มานานนะ” แถมลูกฉันก็กินได้ ใบฉันก็เอาไปทำเครื่องจักสาน ทำหลังคาบ้านได้ อุโมงค์ป่าจากจึงเรียกความว้าวให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่เรือจะล่องไปในป่าที่ลึกขึ้น

มาถึงจุดนี้ผู้ใหญ่สายชลเล่าวว่า ป่าชายเลนแห่งนี้ คือ แหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้ง กุ้ง ปู หอย ให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว และยังคงอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชาวบ้านร่วมใจกันอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ และโชคดีว่าดินในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก อย่างป่าโกงกาง จะมีลักษณะแบบ “ป่าเคลื่อนที่” สามารถงอกขึ้นใหม่เองได้ จึงมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็มีบางส่วนที่ช่วยกันปลูกเสริมบ้างตามความเหมาะสม

ไม่ทันที่เรื่องเล่าจะจบลง เรือของเราก็เทียบท่าบริเวณป่าใหญ่ และนี่ก็น่าจะเป็นฉากพีค ๆ ของหนัง เราเดินไปตามสะพานไม้ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก รู้ทั้งรู้ว่าจะต้องมาเจอกับภาพนี้ แต่ไม่นึกว่าของจริง มันจะสะกดความรู้สึกได้ขนาดนี้

ในช่วงน้ำลดจนแห้ง รากตะบูนที่มีอายุนับร้อยปีก็เผยโฉมความสวยงามอลังการราวกับว่า เรากำลังยืนอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ ที่นี่มีเจ้าบ้านคือ “ปู่ตะบูน” อายุนับร้อยปี ยืนตระหง่านด้วยความยินดี รับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ผู้ใหญ่สายชลบอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นปู่ตะบูนต้นใหญ่นี้แล้ว จึงคาดว่าจะต้องมีอายุหลายร้อยปี สังเกตจากรากที่แผ่อาณาจักรรอบต้น เมื่อรัดเกลียวกันต้นอื่นๆ แล้ว จึงเกิดเป็นภาพความงามเหนือคำบรรยาย ในช่วงนี้ยังมีฝนลงมาบ้าง ทำให้รากตะบูนมีสีดำเข้มขลัง

 บริเวณของลานตะบูน กินพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เราจะพบเห็นรากได้ชัดเจนในช่วงน้ำลด เช่นเดียวกับครั้งนี้ ซึ่งเป็นโชคดีของเรา เพราะผู้ใหญ่เล่าว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงที่น้ำจะไม่ลด แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป และหากเป็นหน้าร้อน รากตะบูนช่วงน้ำแห้งจะเป็นสีขาว ส่วนช่วงที่มีน้ำขึ้น ก็ยังเห็นภาพของรากใต้ผืนน้ำ ซึ่งมีความสวยงามแตกต่างกันไป

การเข้าชมลานตะบูน ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ผู้ใหญ่บอกกับเราว่า ลงไปเดินได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ ไม่กระโดดโลดเต้นสร้างความสะเทือน แต่จากการสัมผัสก็พบว่า รากของพวกเขารัดเหนี่ยวเข้าด้วยกันเป็นแพ จนเกิดความแข็งแกร่งมาก

นอกจากชิงช้าใกล้กับปู่ตะบูนแล้ว เรายังเห็นลานไม้เป็นลู่เล็ก ๆ เหมือนใช้ทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ผู้ใหญ่สายชล จึงเฉลยด้วยการพาเราเดินไปหาลูกตะบูน เพื่อมาเล่น “โบว์ลิ่งตะบูน” โดยใช้ตะบูนเป็นลูก และใช้เศษรากตะบูนมาตั้งเหมือนพินโบว์ลิ่ง เป็นกีฬาพื้นบ้านที่เล่นกันมาประมาณ 10 ปี

หนังเรื่องนี้ดูท่าจะสมบูรณ์ด้วยภาพแห่งรอยยิ้มและความประทับใจ แต่ผู้กำกับสั่งว่า ต้องใส่กิมมิคเล็กๆ เพิ่มความสมบูรณ์ให้การเที่ยวชมบ้านท่าระแนะในครั้งนี้ด้วย เมื่อล่องเรือกลับและขึ้นฝั่งแล้ว ผู้ใหญ่สายชลก็ส่งไม้ต่อให้กับ “ป้าเล็ก ลาวัลย์ เพ่งจินดา” ในอีกฝั่งหนึ่งของป่าชายเลน หลังจากเดินสะพานข้ามไป เราก็พบป่าชายเลนอีกผืนหนึ่ง ปากทางเข้าเป็นบริเวณของคอนโดปู ซึ่งป้าเล็กรอเราอยู่ที่นั่น

มาถึงป่าโกงกางแล้ว ก็ขอเพิ่มรสชาติของป่าด้วยการโชว์เมนูประจำถิ่นอย่าง “ใบโกงกางทอด” ซึ่งใช้โกงกางใบเล็ก ที่มีความเรียวยาว ป้าเล็กบอกว่าต้องเลือกมาเฉพาะใบอ่อนๆ ประมาณใบที่ 2 จากยอดอ่อน มาล้างน้ำความสะอาด แล้วชุบแป้ง ซึ่งมีส่วนผสมจาก แป้ง ไข่ ใบมะกรูด และเกลืออีกเพียงเล็กน้อย เพราะใบไม้ชายเลนจะมีรสเค็มอยู่ในตัวแล้ว นอกจากใบโกงกางแล้ว เกสรของดอกลำพู ก็นำมาชุบแป้งทอดได้เช่นกัน งานนี้เหมือนมาเฉลยทีหลังว่า นอกจาก “ต้นจาก” กินได้แล้ว โกงกางหรือลำพู ก็กินได้เหมือนกันนะ

ภาชนะที่นำมาใช้แทนจานในวันนี้คือ “ใบเล็บครุฑลังกา” ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า “ใบตานี” ลายคนอาจจะรู้จักกันในนาม “ใบถ้วย” เพราะมีลักษณะเหมือนถ้วยหรือกระทง สามารถใส่อาหารเล็กๆ น้อยแบบนี้ได้ เดิมทีชาวบ้านท่าระแนะจะนิยมใช้ใบตานี มารองห่อหมก ไม่เหมือนทางภาคกลางที่มักจะใช้ใบยอหรือโหระพา ทางใต้ก็นิยมใช้ใบเล็บครุฑใบฝอย

ป้าเล็กเล่าว่า สมัยก่อน เวลาที่คนแก่คนเฒ่าออกทะเลไปหาปลา เขาก็พกข้าวกับน้ำพริกไป แล้วค่อยไปเด็ดใบโกงกางมาจิ้มแทนผักสด  เพราะใบโกงกางมีสรรพคุณเรื่องช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้วิงเวียน อาเจียน ได้ด้วย

เกสรดอกลำพูทอด

เมื่อกินของทอดซึ่งมีความมัน เราก็ต้องตัดมันด้วยการดื่มชา ซึ่งเป็นชาจาก “หัวร้อยรู” ที่เกาะอยู่ตามต้นโกงกางในป่าลึก แต่ในป่าใกล้ๆ ก็พอมีให้เราได้เห็นบ้าง เมื่อชิมแล้วรสชาติดี เรียกว่าอร่อยได้เลย แถมยังมีสรรพคุณที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่า ช่วยลดไขมัน ลดน้ำตาล และมีสารต้านมะเร็ง แก้ปวดเมื่อย ฯลฯ เป็นที่มาของประโยคที่ว่า “จิบชา 100 รู จะอยู่ 100 ปี”

หัวร้อยรู

สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เขาเอาไปดองเหล้า… นึกแล้วทึ่งกับคนในอดีต ช่างคิด ช่างหา จนกลายเป็นภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของลูกหลาน

ปุไข่ตะกายดาว


แจงรอน และ ปลาทอด อร่อยมาก

ครบรสสดชื่นแล้ว ยังไปช้อปของดีของบ้านท่าระแนะกันได้ ทั้งอาหารทะเลสด-แห้ง ผ้ามัดย้อมตะบูน หมวกใบจาก ฯลฯ  วันนี้เราได้กินอาหารเย็นที่ชุมชนบ้านท่าระแนะ จากฝีมือของป้าลมุน เชฟชุมชนฝีมือเยี่ยม กับเมนูเอกลักษณ์ อย่าง “ปู่ไข่ตะกายดาว” ใช้ปูดำที่มีไข่ นำมาทำความสะอาด แยกไข่ออก แล้วสับตัวปูทั้งเนื้อ แล้วทำน้ำจิ้มซีฟู้ด ที่ชาวบ้านภาคตะวันออกเรียกว่า “น้ำพริกเกลือ” มาราด ความอร่อยมาจากความสด และรสชาติจี้ดจ๊าดแต่กลมกล่อม หมดข้าวกันเป็นชามๆ

จนป้าลมุนต้องแอบแซว “ใครกินเยอะๆ ระวังตะกายฝานะคืนนี้”

 เป็น behind the scenes ในฉากจบที่มีรอยยิ้ม ได้จังหวะเหมาะเจาะแบบที่ไม่ต้องท่องบทกันเลยทีเดียว

เที่ยวเพลินใจในบ้านท่าระแนะ

กิจกรรมอื่นๆ ที่มาขลุกตัวที่บ้านท่าระแนะได้ทั้งวันทั้งคืน เริ่มต้นตั้งแต่ล่องเรือชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ที่ปากอ่าวแม่น้ำตราด นั่งเรือชมธรรมชาติแบบเราในวันนี้ กิจกรรมย้อมผ้าจากลูกตะบูน กินอาหารท้องถิ่น นอนโฮมสเตย์ เป็นต้น ช่วงเดือนตุลาคมจะมีเทศกาลปูแป้นวางไข่ และ ปลายกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จะเป็นเทศกาลเหยียบกั้ง

(รับคณะได้ครั้งละไม่เกิน 40 คนต่อทริป)

ติดต่อ ผู้ใหญ่สายชล สุเนตร โทร.0811616694

เที่ยวตราดไม่ลงเกาะ ที่ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำเขาระกำ” อีกมุมในเมืองตราดกับบรรยากาศสุดชิลล์ ติดตามได้ในลิงค์ https://www.meetthinks.com/khao-rakam-prison-trat/

ชมบรรยากาศเที่ยวตราดแบบไม่ลงเกาะ ติดตามได้ในรายการ “เที่ยวเป็น travel intrend” นำชมโดยพิธีกร “พราดร ณ นคร” ออกอากาศวันจันทร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36 หรือชมย้อนหลังได้ใน YouTube : เที่ยวเป็น PPTV

Post a comment

seventeen − twelve =