RE-WEAR แฟชั่นจากขยะ
ในแต่ละปี อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้นำขยะขวดพลาสติก PET มาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลในปริมาณมากถึง 3.3 แสนตันต่อปี เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นั่นหมายความว่า “ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ได้เป็นแค่ขยะ”หากมองเห็นคุณค่าของ “การรีไซเคิล” หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มันจะสามารถสร้างรายได้ และยังสามารถลดของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย และนั่นก็เป็นแนวคิดและที่มาของ โครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 8”
นายริชาร์ด โจนส์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ระดับโลก อธิบายว่า โจทย์ในปีนี้จะเน้นการนำวัสดุรีไซเคิล PET เส้นใยโพลีเอสเตอร์เหลือใช้ และผ้าที่ทอจากเส้นด้ายที่ถูกรีไซเคิลมาจากขวด PET มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานแบบ Sustainable Fashion ภายใต้คอนเซ็ปท์ “RE-WEAR” ซึ่งถอดแนวคิดมาจากการใช้หลัก 3R คือ Reduce – ลดการใช้, Reuse – ใช้ซ้ำ และ Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งอาจารย์เล้ง – อดิศักดิ์ โรจน์ศิริพันธ์ ดีไซเนอร์แบรนด์ Zenitorial หนึ่งในคณะกรรมการและคอมเมนเตเตอร์ด้านแฟชั่นของโครงการ RECO กล่าวเสริมว่า
“ตอนนี้เทรนด์โลกมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ sustainable การใช้วัสดุรีไซเคิล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้ของที่เราเคยคิดว่ามันเป็นขยะ เอากลับมาใช้ไม่ได้ มันพลิกมุมมองให้คนเกิด ‘เอ๊ะ’ มันเอากลับมาทำเสื้อผ้าได้ เอามาประดับเสื้อผ้าได้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าได้นี่”
“เด็กอาจจะยังสับสนเพราะว่า กฎระเบียบของเราเน้นเรื่องขวด PET หรือ โพลีเอสเตอร์ แต่พอบอกว่า รีไซเคิล เด็กจะมองไปถึงพวกพลาสติก แต่โครงการนี้จะทำให้เค้ารู้ว่า อันที่จริงแล้ววัสดุรีไซเคิลมีหลากหลาย ไม่ใช่มีแค่พลาสติก มีสารพัด รวมถึงวัสดุบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่า มาจากขวด PET ได้ เช่น ผ้าที่ทอมาจากขวดพลาสติก ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการอัดพลีท และพิมพ์เลเซอร์ลายได้ดี แถมมีงานคราฟท์ งานทอผ้าด้วยมือ ซึ่งมันมากกว่าที่เราคิด เพราะเด็กที่เข้ามาประกวดส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เป็นเด็กมีไอเดีย มีไฟ ไม่หยุดนิ่ง การประกวดทุกครั้งเราจะได้ฟีดแบ็คค่อนข้างดี เป็นการมาหาประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ใช่พี่ให้ความรู้น้องอย่างเดียว แต่น้องเค้าก็มีอะไรมาเซอร์ไพรส์เรา เท่ากับเราก็แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิด ปรับทักษะให้มาเข้าหากัน ถึงการประยุกต์ศิลปะ เทคโนโลยี แฟชั่น และการรีไซเคิลให้สมดุลขึ้น สำหรับเทรนด์แฟชั่นในปีนี้โดยภาพรวมไม่มีอะไรตายตัว แต่ส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลแนว Street กูตูร์ อะไรที่เป็นสุดขั้วนี่มันจะมาเจอกัน ไม่มีอะไรที่เป็นกลาง” อาจารย์เล้ง เล่าให้ฟังถึงน้องๆ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ 10 ทีมที่ผ่านการแข่งขันรอบแรกเข้ามาจนถึงรอบสุดท้ายที่จะนำชุดที่ผ่านการ Fitting ไปสู่แคทวอล์คจริงในรอบ Final Round ในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
โดยผลงานโดดเด่นที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย อาทิ ผลงาน “Silent Killer” ของเศรษฐวุฑฒิ์ นามปัญญา ผู้ช่วยดีไซเนอร์ ที่บ่งบอกว่า “มนุษย์เป็นเสมือนนักฆ่าที่ไม่รู้ตัวว่า เราได้ฆ่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยผมเจาะจงในแม่น้ำ ในมหาสมุทร ที่ผมเคยเห็นเต่าที่มันติดแห ติดอวน พวกแมวน้ำด้วย จนมันบาดคอเค้า ทำให้เค้าทุกข์ทรมาน และเสียชีวิตลง กลายเป็นเทคนิคของผ้าที่เอาเส้นด้ายที่ยังได้ได้ทอเป็นผ้ามาโรยกันเป็น layer เหมือนเป็นการสร้างพื้นผิวใหม่ ไล่สี สร้างเทกซ์เจอร์ของตัวผ้า”
ฐากร ถาวรโชติวงศ์ อาจารย์ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย กล่าวว่า “ผมทำวิจัยเรื่อง Waste อยู่แล้ว เราชอบทำ material ที่เป็น Waste เลยอยากมาลงแข่ง รู้สึกสนุกที่เราได้แปลงกาย material สิ่งที่คนเค้าเรียก ‘ขยะ’ แต่บางทีมันไม่ได้สกปรก แล้วเราเอามาสร้างสรรค์ต่อได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่สนุก งานที่เสนอมีแนวคิดเรื่อง upcycling การนำวัสดุที่คนไม่เห็นค่าแล้ว เอามาใช้โดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด เอามาสร้างใหม่ผ่านกระบวนการถักทอ เป็นการนำผลงานกลับมาชุบชีวิตให้วัสดุกลับมาเกิดใหม่เป็นสิ่งที่สวยงาม ในผลงาน ชื่อ Valhalla”
ตบท้ายด้วยผลงาน “The Structure Between Us” โดยมี inspiration จากแฝดสยาม อิน-จัน การเชื่อมต่อระหว่างคนสองคนให้กลายเป็นหนึ่งเดียวของ กิตติศักดิ์ จุลวิชิต หรือน้องก้อง หนุ่มน้อยอายุ 19 ปี จากคณะศิลปกรรม รั้วจุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เข้ารอบที่อายุน้อยที่สุดในโครงการ RECO ในปีนี้ บอกว่า “มีความคิดในการใช้ผ้าที่ทอจากวัสดุรีไซเคิล DEJA สีขาวและสีดำ โดยใช้การวาดรูปโครงกระดูกบนกระดาษแล้วไปสแกนจะได้เป็นลายเส้นของเรา แล้วเอาลงมาพริ้นบนผ้าเดจาสีขาว ส่วนเรื่องของวัสดุเหลือใช้ที่เกี่ยวข้องกับอินสไปเรชั่น หลายคนสงสัยว่า ทำไมตัวติดกัน anatomy เป็นยังไง ก็น่าจะผ่านการเอ็กซเรย์ เลยลองใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ หรือฟิล์มติดรถยนต์ที่เหลือใช้ แล้วนำมาตัดแต่งที่ดีไซน์อีกที”
น้องก้อง บอกว่า “Mindset ในการใช้ Reuse คิดว่าโครงการนี้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักออกแบบ และคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายคนอาจจะคิดว่าของเหลือใช้ สิ่งของที่ใช้แล้ว เป็นขยะแล้วทิ้งไปเลย ไม่ได้ใส่ใจ แต่โครงการนี้ดึงตัวนักออกแบบให้สามารถทำให้ของเหลือใช้กลับมาดูสวยงามและนำมาใช้ได้อีกครั้ง มีคุณค่า และมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยหากมีโอกาสได้รางวัลก็คิดว่า อย่างน้อยสิ่งหนึ่งได้เป็น portfolio ของตัวเอง และสามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพของตัวเองในอนาคต และถ้าชนะก็อาจนำมาลงทุนและเปิดเสื้อผ้าสร้างงานใน IG ต่อไป”
ทาง อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่า เวทีประกวดแห่งนี้จะเป็นบันไดเปิดประสบการณ์ และแนวคิด Sustainable Fashion ให้คนไทยได้เห็นถึงคุณค่าของการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน รวมไปถึงช่วยสนับสนุนและพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานรักษ์โลก และสามารถนำผลงานมา RE-WEAR เช่นนี้ต่อไป