Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

มรดกอีสาน..ภูมิปัญญาจากไม้ใผ่

ท่ามกลางกระแสดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตปัจจุบันของคนทั้งโลก ที่ประเทศไทย ที่อีสานก็เฉกเช่นกัน วิถีชีวิตของอีสานยุคใหม่ทำให้เยาวชนรุ่นนี้น้อยคนนักจะรู้จักความเป็นมาของเครื่องจักสานคุณค่าแห่งมรดกอีสาน..ภูมิปัญญาจากไม้ใผ่ ที่เปี่ยมไปด้วยประโยชน์ใช้สอยสารพัด จนชวนให้ฉงนว่า กว่าจะคิดค้นนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน ต้องย้ำคิด ย้ำทำ ลองผิดลองถูก จนกระทั่งแน่ใจว่าใช่เลยนั้น ผ่านการทดลองกี่ครั้งกัน

ด้วยเล็งเห็นถึงการคิดค้น คิดสร้างสรรค์ ด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบสานในวิถีชีวิตคนอีสานรุ่นก่อน โครงการ “รักษ์บ้านนอก” โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงนำเสนอและเผยแพร่สุดยอดนวัตกรรมจากวิถีพื้นบ้าน ให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนัก ซึมซับถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อสมัยก่อนคนอีสานใช้เวลาว่างจากทำไร่ทำนาสังคมชนบทอีสาน ผู้ชายและผู้หญิงจะแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ “ยามว่างจากงานไร่นา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน”  ข่อง” (“ข่อง”เป็นภาษาถิ่นอีสาน คือ “ข้อง”ในภาษากลาง) คือปัจจัยสำคัญของการยังชีพในยุคนั้น

ข้อง…ไม่ข้องใจ
“ข้อง” เป็นภาชนะอย่างหนึ่งที่ใช้ใส่ปลา เวลาไปหาปลาตามท้องนา ทำจากผิวไม้ไผ่ ปากแคบคล้ายคอหม้อ มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า “ฝาข้อง”ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้เรียกว่า“งาแซง”ข้องใช้สำหรับใส่ ปลาปู กุ้ง หอย กบ เขียด ฯลฯ โดยส่วนใหญ่นิยมผูกข้องไว้ที่เอว ถ้าจับปลาที่มีขนาดใหญ่นิยมใช้ข้องเปิด เพราะปลาไม่ต้องงอตัวอยู่ในข้อง ปลาจะนอนตามความยาวของตัวข้องทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้าขังปลาด้วยข้องเปิดแล้วนำไปแช่ที่น้ำไหล จะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้หลายวัน

กว่าจะทำ “ข้อง”แต่ละข้องนั้นมีวิวัฒนาการและขั้นตอนยุ่งยากพอสมควร ที่สำคัญต้องใส่ใจทุกระเบียบนิ้ว

อุปกรณ์ในการสาน “ข้อง”
1.ไม้ไผ่ที่จักเป็นเส้น เเละเหลาเป็นเส้นบางๆ ตามความยาวที่ต้องการ
2.มีดสำหรับเหลา 1 อัน ต้องเป็นมีดที่คม
3.เศษผ้าสำหรับพันที่นิ้วชี้ ใช้งานเมื่อเหลาไม้ไผ่ป้องกันการบาดมือ
4.ท่อนไม้ที่เหลาเป็นทรงกลม สำหรับทำเเบบขนาดของปากข้อง

วิธีการทำ
1.นำไม้ไผ่ที่เป็นลำมามาผ่า เเล้วจักให้เป็นเส้นๆ เสร็จเเล้วเหลาให้เป็นเส้นบางๆ จะใช้เฉพาะที่ผิวเปลือกนอกในการสานข้อง เพราะจะมีความทนทาน กว่าการใช้ใส้ข้างใน

2.ในการเหลาจะเหลาไว้หลายขนาด ถ้านำมาสานที่ตัวข้องจะใช้เส้นที่ยาวเเละเเบน ถ้านำมาทำที่ปากข้องจะใช้เส้นเล็กเเละกลม เพื่อความเเน่นหนา เเละคงทน
3.ทำการสานโดยสานตั้งเเต่ฐานของข้องขึ้นมาก่อน โดยสานเป็นการสลับ1 เว้น1

เข้าฤดูดำนาอุปกรณ์สำคัญในการยังชีพยุคก่อน ที่ถือว่าสำคัญยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่ง คือ “ไซดักปลา” เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ ของชาวอีสาน โดยมากดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามคันนา

“ไซ” ไว้ดักปลา
“ไซ” มีหลายรูปทรง มักตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น “ไซปากแตร”สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร  “ไซท่อ”สานคล้ายท่อดักปลา หรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ เช่น “ไซสองหน้า”มีช่อง 2 ด้าน “ไซลอย”ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้น ๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้าวางแช่น้ำไว้  “ไซกบ”สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง (ซี่ไม้เสี้ยมปลายแปลม รูปทรงคล้ายกรวยที่บีบแบน ๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้)

สำหรับวัสดุที่ใช้ คือ ต้นไผ่ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป  จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1ลูก โดยแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย

วิธีการสานไซ
ผู้ทำมักเหลาเส้นตอกให้เล็กเป็นเส้นกลมยาวอย่างน้อย 2 ปล้องไผ่ เมื่อได้เส้นตอกตามจำนวนที่ต้องการแล้วนำมามัดปลายด้านหนึ่งรวมกัน ก่อนจะพับให้กลับไปด้านหลัง แล้วใช้เส้นตอกอีกส่วนหนึ่งสานขวางสลับกันไปตั้งแต่ด้านบนถึงด้านล่าง การสานนิยมสานเป็น “ลายขวางไพห้า”ระหว่างสานผู้ทำต้องบังคับให้รูปทรงป่องแคบตามลักษณะของงาน ส่วนบริเวณตรงกลางหรือกลางค่อนไปทางปลายจะมีการเจาะใส่งาอีกด้านละช่อง เพื่อให้เป็นส่วนที่ปลาวิ่งเข้าและนำออก

“กระด้ง” บานเพื่อสารพัดประโบชน์
เมื่อผ่านพ้นฤดูทำนา เข้าสู่การเก็บเกี่ยวผลผลผลิต นาข้าวเหลืองอร่ามเป็นทุ่งรวงทอง “กระด้ง” คืออีกหนึ่งเครื่องจักสานในวิถีชีวิตชองชาวอีสาน มีประโยชน์ใช้ได้สารพัดนึก เป็นกระด้งฝัดข้าวไล่ฝุ่นละอองต่างๆ เป็นที่ตากเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บไว้เป็นพันธุ์เพาะปลูกฤดูกาลหน้า ฯลฯ ตัวกระด้ง ทำมาจากไม้ไผ่ ในการสานกระด้งนั้น จะสานจากส่วนกลางให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นทำการตัดขอบ และดัดให้โค้งเป็นวงกลมเพื่อที่จะทำสันกระด้งหรือขอบกระด้ง เพื่อให้กระด้งแข็งแรงทนทาน กระด้งถือได้ว่า เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนอีสาน

ขั้นตอนการทำกระด้ง
1. ตัดไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2 เมตร หรือยาวตามต้องการ
2. เหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นบางพอสมควร ที่จะสานกระด้งได้
3. นำมาเรียงกัน 8 เส้น สานกันเป็นลายขัดกัน 2 เส้น สานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ขนาดตามที่เราต้องการ
4. เหลาไม้ไผ่มาดัดทำเป็นขอบกระด้ง
5. นำขอบกระด้งมาประกอบกัน ใช้ไม้ตีตอกกระด้งให้ชิด
6. ใช้คีมไม้สำหรับคีบขอบกระด้ง เพื่อให้แนบสนิทแล้วค้างไว้ด้วยหวายถักที่ด้ามคีม เพื่อประโยชน์ให้ผู้สานมัดหวายได้แน่น จากนั้นก็สามารถนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์

ไม่เพียงแต่ “ด้ง” เท่านั้น “จ่อ” ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของชาวอีสาน “จ่อ” สานด้วยไม้ไผ่ คล้ายกระด้งแต่ใหญ่กว่ามาก ตาห่าง มีใส้ขดใช้เป็นที่สำหรับเลี้ยงตัวไหมให้ชักใยทำรังเป็นไหม หลังจากทำนาทำไร่ พื้นที่นาไร่จะแบ่งเนื้อที่บางส่วนไว้ปลูกหม่อน เพื่อใช้เลี้ยงไหมในยามว่างงาน โดยเริ่มเลี้ยงกันมากในต้นฤดูฝน แล้วหยุดพักระยะหนึ่ง เพื่อดำนาหรือปลูกพืชไร่ จากนั้น จะกลับมาเลี้ยงกันใหม่จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะหยุดเลี้ยงไปเกี่ยวข้าว

“อัก” จุดพักเส้นไหม
หลังจากหยุดเลี้ยงในตอนหน้าแล้ง เพราะไม่มีใบหม่อน เมื่อตัวไหมฟักตัวเป็นสีทองเหลืองอร่าม ก็ถึงคราที่ต้องนำตัวไหมในฝักสีทองไปลงหม้อต้มน้ำร้อน ใช้ไม้กระสวยค่อยๆ คน ค่อยๆ รีด ดึงเอาเส้นใยจากฝักไหมออกมาเป็นเส้นด้ายสีทองสวย ขดเส้นเป็นวงลงในตะกร้า จากนั้นนำไป “อัก” หรือ คัดด้ายไหมให้เป็นระเบียบด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อเดียวกับการกระทำ คือ “อัก”
“อัก”ทำด้วยไม้คล้ายเนื้อแข็ง เจาะรูตรงกลาง ปลายทั้ง 4 ด้าน มีไม้ประกบสำหรับสวมรูเพื่อให้อักหนุน อักใช้กรอด้ายให้เป็นระเบียบ ก่อนจะสาวเข้ากงเพื่อแยกเป็นปอยๆ และแยกเป็นใจๆ ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนท่อผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง และผ้าขาวม้า สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของชาวภาคอีสานในยุคนั้น

“ว่าวขาเกก” กับเสียงกล่อมนอน
พอเข้าฤดูหนาวทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็กต่างเล่น “ว่าวขาเกก” โต้ลมหนาวกันอย่างสนุกสนาน “ว่าวขาเกก” เป็นว่าวขนาดใหญ่ ภาษากลางเรียกว่าวจุฬา  ตามวถีอีสานนั้นด้านบนจะติด “สะนู”เอาไว้ฟังเสียงกล่อมตอนกลางคืน “ว่าวขาเกก”มีขนาดความยาวของปีกตั้งแต่ 2.50-3 เมตร  ปื้น(ใบ)ของสะนูทำจากใบตาล ใบลาน หรือ หวายเท่านั้น ฝานให้บาง หัวท้ายติดไว้ด้วยขี้สูตร(คล้ายกับกากของรังผึ้ง สมัยนี้อาจจะหายาก) หรือขี้ผึ้ง มัดด้วยเชือกโยงติดกับไม้ที่โก่งไว้คล้ายกับคันธนู เมื่อต้องลมก็จะสะบัดทำให้เกิดเสียง…ตื่อดื้อ ตื่อดื่น… ตลอดคืน ช่วยกล่อมให้หลับสบายเมื่อได้ฟังเสียงสะนูตั้งแต่เย็นถึงรุ่งเช้า

นี่คือคุณค่าของภูมิปัญญาชาวอีสานที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และสืบทอดต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างความรัก ความผูกพัน ควรค่าต่อความภาคภูมิใจ ร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานต่อไปในอนาคต

Post a comment

two − one =