กระจูด-กระจ่าง
วันที่ลืมตาดูโลก ฉันอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ได้นอนบนเสื่อกระจูด ป้าของฉันเรียกมันว่า “สาดจูด” ตามประสาคนใต้ที่ชอบรวบรัดตัดคำให้สั้นลง
นั่นคงเป็นสิ่งแรกที่นึกถึงกระจูด แม้วันนี้เราเดินทางมาไกล และอาจจะห่างจากบ้านเกิด ห่างจากสาดจูด และห่างจากลุงป้าน้าอา แต่ความทรงจำยังไม่เคยเลือนหาย ภาพของกระจูดยังแจ่มชัด เช่นเดียวกับความผูกพันของคนในเครือญาติ
เมื่อมีโอกาสตามติดชีวิตของกระจูดอีกครั้งจึงได้รู้ว่า กระจูดเองก็เดินทางไปไกลแล้วเช่นกัน
กระจูดเป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” จริงๆ แล้วเกิดขึ้นเป็นวัชพืชในที่น้ำขังตลอดเวลา ดังนั้นที่ที่กระจูดจะใช้ชีวิตอยู่ได้ก็ต้องเป็นแหล่งน้ำจืดที่ไม่เคยแห้งแล้ง รู้จักกันในนาม “ป่าพรุ” ซึ่งเป็นดินโคลนที่มีน้ำขังทั้งปี ดังนั้นใครที่สนใจปลูกกระจูดก็สามารถนำกระจูดไปปลูกไว้ในอ่างได้
กระจูดตามธรรมชาติของพื้นที่ในประเทศไทย มีอยู่ใน 5 จังหวัดทางภาคใต้เท่านั้น คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส แต่ละพื้นที่ก็มีการสานกระจูดมานาน มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์และรูปแบบของตัวเอง
สำหรับกระจูดที่พัทลุง ซึ่งเราได้เดินทางไปเจอมาล่าสุด จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีเรื่องราวที่ยาวนานมา เพราะในอดีตนิยมสานเป็นเสื่อและกระสอบใส่ข้าวสารและน้ำตาลเพื่อเป็นบรรณาการมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาจนกลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน
การเดินทางทำให้เราได้มาเจอกับ “วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี” (Varni) ซึ่งริเริ่มโดย นางวรรณี เซ่งฮวด ชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาในการสานกระจูดมายาวนาน จนกลายเป็นความผูกพันและความทรงจำ ของลูกชาย “นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด” ซึ่งเรียนจบระดับปริญญาโทจาก คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เมื่อภูมิปัญญาถูกสานต่อ และต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เรื่องราวที่น่ายินดีจึงเกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน กระจูดวรรณี ภายใต้แบรนด์ “VARNI SOUTHERN WICKERY” เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งจีน ญี่ปุ่น และยุโรป
Meetthinks มีเวลาพูดคุยกับคุณนัท ในโอกาสเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง และเข้าเยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี ที่อำเภอควนขนุน ซึ่งเป็นอำเภอที่กำลังฮอตในหลายๆ ด้าน รวมทั้งที่กระจูดวรรณี
คุณนัท เล่าว่า หลังจากเรียนจบเขาใช้เวลาราว 5 ปี ในการลองผิดลองถูกเพื่อสร้างให้กระจูดเป็นที่สนใจกับคนในวงกว้าง เป็นความตั้งใจที่ต้องการกลับมาช่วยงานของที่บ้าน เพราะเห็นพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา สานกระจูดกันมานมนาน แต่วันนี้บางคนก็เลิกสานไปทำงานอย่างอื่น เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีราคา และไม่ค่อยได้รับความนิยม เขาจึงเป็นคนหนึ่งที่ผูกพันกับกระจูดมาตั้งแต่เกิด จึงอยากสร้างแนวทางให้กระจูดกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง
เขาลงมือใช้วิชาความรู้ ทั้งจากตัวเองและคนในชุมชนเข้ามาพัฒนาตัวสินค้า ตั้งแต่ลวดลาย รูปแบบ ความคงทนของสินค้า การผสมผสานวัสดุใหม่ๆ ในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือในชุมชน ขยายไปถึงความร่วมมือระหว่างชุมชน จนเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง
“ต่างชาติที่ซื้อสินค้า และได้รับรู้เรื่องราวของเรา เขาดีใจมาก แม้สินค้าของเราจะมีราคาสูงกว่า แต่เขาชื่นชมว่า เงินที่จ่าย เป็นการกระจายรายได้สู่คนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันนอกจากชาวบ้านในกลุ่มวิสาหกิจของเราเองแล้ว ยังมีเครือข่ายจากอีกหลายกลุ่มชุมชนเข้ามาร่วมมือด้วย” นัทอธิบาย
สินค้ากระจูดวรรณี ในปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจฯ 60 คน งานหลักคือการสาน และอีก 200 คนจากเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือ คุณนัทให้เหตุผลว่า เมื่อได้รับการพัฒนาและออกแบบให้กระจูดแบบเดิมๆ มีความทันสมัย มีการพัฒนาทั้งเรื่องสีสัน ดีไซน์จากงานปักเข้าไป และเดิมทีกระจูดไม่สามารถย้อมสีขาวได้ ก็ได้ใช้ใบลานมาผสม จนทำให้มีออร์เดอร์เข้ามามาก
เมื่อคุณนัทได้รับออเดอร์มาแต่ละครั้ง เช่น มีคำสั่งซื้อกระเป๋า 5,000 ใบ ก็ต้องนำมากระจายให้กับเครือข่ายทั้งหมด บางกลุ่มรับได้หลักร้อย บางกลุ่มรับได้หลักพัน จึงต้องมีการกระจายงาน เนื่องจากเป็นงานทำมือทั้งหมด นั่นก็เพื่อประโยชน์ทางด้านเวลา และการกระจายรายได้
ล่าสุดได้รับออร์เดอร์ถาดใส่ของจากทางสตาร์บัคมาจำนวน 5,000 ชิ้น มูลค่างานประมาณ 1,300,000 บาท ระยะเวลา 45 วัน ได้ทำการส่งมอบไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งใน Gift Set ของสตาร์บัคเมืองไทย ในช่วงปีใหม่นี้
ที่ผ่านมา คุณนัทได้เดินทางไปแสดงสินค้ากับหน่วยงานต่างๆ มามาก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สวีเดน ฝรั่งเศส อังกฤษ และทุกครั้ง ก็มีออเดอร์กลับมา และกลายเป็นลูกค้าประจำ อย่างจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นลูกค้าหลักของกระจูดวรรณีที่วางขายในร้าน King Power ถึง 90%
เมื่อมาถึงตรงนี้ เราจึงอยากรู้ว่า รสนิยมและมุมมองของกระจูดของคนในแต่ละประเทศนั้นเป็นอย่างไร
“รสนิยมก็ยังคงเป็นไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ชาวจีน ชื่นชอบงานที่มีสีสัน งานปักที่สดใส ส่วนชาวญี่ปุ่น ยังมีรสนิยมที่เรียบง่าย แนวธรรมชาติ และชอบสินค้าชิ้นเล็ก ขณะที่ชาวยุโรป ชื่นชอบโทนสีขาว เทา ดำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของคุณนัทที่ต้องศึกษาเรื่องเทรนด์ ก่อนนำสินค้าไปจัดแสดงในต่างประเทศด้วย” คุณนัทอธิบาย
ปัจจุบันสินค้าของกระจูดวรรณี มีทั้งของใช้ และของตกแต่งสำหรับบ้านหรือรีสอร์ท แต่ที่ขายดีมากคือ กระเป๋า ซึ่งขายได้หลายหมื่นใบต่อเดือน หากเป็นกระเป๋าสานลายปัก จะมีราคาใบละ 2,500 บาท
จากวัชพืชที่ไร้ค่า จนมีคนมองเห็นนำมาใช้สอย ไม่กี่ปีมานี้ วัชพืชอย่างกระจูด ต้องอาศัยพื้นที่ปลูกเพิ่มกันแล้ว เพราะนี่ก็คือหนึ่งในช่องทางสร้างรายได้ของชาวบ้านเช่นกัน
คุณนัทคิดอัตราใช้กระจูดต่อเดือนให้ฟังง่ายๆ ว่า กระจูดครึ่งกิโลกรัม ใช้สานกระเป๋าได้ 5 ใบ โดยปัจจุบันความต้องการใช้มาจากออเดอร์ของกระเป๋าประมาณ 5,000 ชิ้นใน 1 เดือน
เหตุใดจึงต้องคิดเป็นอัตราเฉลี่ยจากกระจูด 5 กิโลกรัม เพราะชาวบ้านจะนำกระจูดสดๆ ตัดหัวตัดท้ายให้เสมอกันแล้วนำมาขายมัดละครึ่งกิโล โดยจะรับซื้อกัน 40-50 บาทต่อมัด (ครึ่งกิโล) ราคาขึ้นอยู่กับความยาวของกระจูด แต่ก็ถือเป็นราคาที่ดีขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะแต่เดิมที่ยังไม่มีการพัฒนาสินค้า ราคากระจูดอยู่เพียงมัดละ 20 บาทเท่านั้น
หลังจากได้กระจูดมาแล้ว ทางกลุ่มก็จะนำมาตากแห้ง รมควัน หรือ อบ เพื่อฆ่าเชื้อราและยืดอายุการใช้งาน โดยของที่ใช้ประจำอย่างกระเป๋า จะยังคงใหม่สดเสมอในช่วงอายุ 1-2 ปี ขณะที่เฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ที่อยู่นิ่งๆ จะอยู่แบบเนี๊ยบนิ๊งไปยาวๆ 5-10 ปี แต่ใช่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะพังสลาย เพราะหมายถึงการเสื่อมสภาพลงไปเท่านั้น
เราอาจจะเล่ารายละเอียดได้ไม่เหมือนการไปสัมผัสให้ถึงที่ ปัจจุบันที่วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี ก็มีผู้เข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานกันไม่ขาดสาย ใครอยากลองลงมือทำก็ได้ ตอนนี้คุณนัทได้พัฒนาห้องพักสไตล์โฮมสเตย์น่ารักๆ ให้คนที่สนใจมาเที่ยวชมบรรยากาศของชุมชน หรือจะมาขลุกตัวเรียนรู้วิชากันอย่างจริงจัง สำหรับชาช้อปหากมาถึงที่นี่ ก็มีร้านเล็กๆ ให้เลือกซื้อหา
ช่วงเวลาเพียงไม่นาน กระจูดก็พาเราเดินทางโลดแล่นด้วยความลิงโลด เราได้เห็นรอยยิ้มและความยินดีของคนในชุมชน พร้อมผลงานที่น่าชื่นชม รางวัลต่างๆ เป็นเครื่องการันตีให้กระจูดวรรณีได้เฉิดฉายต่อไป
ได้รู้เรื่องราวของ “กระจูด” อย่าง “กระจ่าง” พร้อมเส้นทางที่ “กระจ่าง” สว่างสดใส เป็น “กระจูด” ที่ดัง “กระฉูด” ชวนติดตามการเดินทางของกระจูดกันต่อไป
วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี(Varni) ตั้งอยู่เลขที่ 152 หมู่ 10 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โทร. สามารถเข้าชมและจองห้องพักได้ที่ 074-610415