Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ห่องแดง แหล่ง Story “บัว”

ได้ยินเรื่องราวน่ารักจากการสนทนาของเด็กน้อยกับคุณน้า

เด็กน้อย : ประเทศอะไรมีนาอยู่ตรงกลาง

น้า : ปานามา

เด็กน้อย : ผิด! แคนาดา ต่างหาก

น้า : อ้าว แล้วปานามาไม่ถูกหรือ

เด็กน้อย : มีที่ไหน ประเทศปานามา…..(แป่วววว)

เพราะความใสซื่อของเด็กน้อย ทำให้นึกถึงคำว่า การเรียนรู้ ไม่มีวันจบสิ้น เหมือนการท่องเที่ยว ที่ไปเท่าไหร่ ก็ยังไม่ทั่วถึง และยังทำให้เกิดการพัฒนาหลายๆ ด้าน จากการเรียนรู้ร่วมกัน ของคนและธรรมชาติ พร้อมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่อาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

นาบัวพื้นที่ 2 ไร่ ของลุงบุญจันทร์

ลุงบุญจันทร์ ทวีบุญ

ที่นาบัวของลุงบุญจันทร์ ทวีบุญ ชาวบ้านห่องแดง ต.นาคาย อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี เราได้เจอลุงเมื่อไม่นานมานี้ ในงานเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี โดยบ้านห่องแดง เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อประกาศให้รู้ว่า พื้นที่ อ.ตาลสุม มีของดีอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ “บัว”

วันนี้มีงานใหญ่ ชาวบ้านเลยหาบบัวมาขายกันอย่างคึกคัก

ภาพแรกที่เข้ามาในพื้นที่บ้านห่องแดง เราเห็นนาบัวสวยงาม มีสะพานทอดให้เดินเข้าไปพักผ่อน มีนักท่องเที่ยวหลากรุ่นให้ความสนใจมาเที่ยวชมกันอยู่พอสมควร

นาบัวของลุงบุญจันทร์ เป็น 1 ใน 3 จุดที่เปิดให้เที่ยวชมได้สะดวก ซึ่งวันนี้ มี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้เดินทางไปเยือนนาบัวของลุงบุญจันทร์ และทำการเช็คอินด้วยรอยยิ้มกันถ้วนหน้า

ลุงบุญจันทร์ ซึ่งปกติแล้วจะเก็บบัวแต่เช้ามืด แต่วันนี้เพราะมีงานใหญ่ แกจึงมาเก็บบัวโชว์ในช่วงสาย แม้อากาศร้อน แกก็รู้สึกปลื้มใจ ที่เห็นคนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวบ้านห่องแดงกันมากขึ้น แกเล่าว่า เดิมทีแกก็ทำนามานมนาน ก็เป็นไปตามสภาพที่เราทราบกันดี เพราะแม้ว่าคนไทยและอีกหลายประเทศจะกินข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ราคาข้าวก็ไม่ดี ลุงแกเลยสนใจแบ่งพื้นที่นา 2 ไร่ มาทำนาบัว พร้อมๆ กับชาวบ้านห่องแดงอีกราว 50 ครัวเรือน

จากจุดเริ่มต้นที่จะทำนาบัว เพื่อเก็บฝักบัวไปขาย เพราะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย สร้างรายได้ที่เรียกว่าดีกว่านาข้าว  จนตอนนี้ พื้นที่บ้านห่องแดง กลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ เรียกว่า มีผู้คนเข้ามาเช็คอินกันอย่างมีความสุข

เมื่อเรื่องของท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมการทำงานของพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง นอกจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีการส่งเสริมเรื่องของสินค้าชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตลอด เมื่อบ้านห่องแดง มีนาบัวอยู่มาก และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว จึงได้รับการพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวกับบัวอีกมาก

ลุงเล่าด้วยรอยยิ้ม เพราะทุกวันนี้ สามารถมีรายได้เสริม ซึ่งอาจจะเป็นรายได้หลักไปแล้ว จากการเก็บฝักบัวไปขาย มีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ว่าเก็บเองขายเองหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็รับไปเต็มๆ โดยมีพื้นที่ขายทั้งตัวอุบล มุกดาหาร และยโสธร

พูดคุยกับลุงพอสมควร ชี้ชวนกันชมนาบัวสักพัก ก่อนจะขึ้นไปบริเวณทางเข้านาบัวของลุง ซึ่งตอนนี้ มีตลาดย่อมๆ นำสินค้าท้องถิ่นมาคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว และได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากบัวอีกมาก

เริ่มจากชาดีบัว ซึ่งว่ากันว่า เป็นชาที่ดีต่อสุขภาพ ทำจากดีบัว หรือต้นอ่อนในเมล็ดบัวหลวง ลองชิมแล้วพูดได้เต็มปากว่า ดื่มคอนข้างยาก รสชาติเฝื่อนๆ ขมๆ แต่รู้สึกได้ถึงคำว่า “ขมเป็นยา” ในอนาคต อาจจะพัฒนาเป็นรสชาติที่กินง่ายขึ้นได้

จิบชาแล้ว ยังมียำเม็ดบัว ให้ชิมก่อนอาหารเที่ยง นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องประดับจากเมล็ดบัว ส่วนใบบัวก็เอามาห่อข้าวเหนียวสำหรับมื้อเที่ยงนี้

1 ใน 3 จุด สะพานชมบัวในบ้านห่องแดง

เราได้เจอกับ “นางไพรวัลย์  คำจริง” นักวิชาการชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตาลสุม หนึ่งในผู้ที่เข้ามาร่วมพัฒนาสินค้าจากบัวให้มีความหลากหลาย

เธอเล่าว่า ด้วยธรรมชาติของบัว ซึ่งอยู่ได้เพียงระยะสั้น  ต้องกินภายในหนึ่งวัน ถ้าเกินนั้นเม็ดบัวก็ไม่สดไม่น่ากินแล้ว จึงเริ่มพัฒาชาดีบัวขึ้นมา มีการทำวุ้นเม็ดบัว ข้าวเกรียบเม็ดบัว ข้าวต้มมัดจิ๋วเม็ดบัว เม็ดบัวก็นำมาทำสร้อยคอ ฝักบัวแห้งก็มาทำเป็นปิ่นปักผมและเป็นดอกไม้ปักแจกัน โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก กศน. มาช่วยสอน

นอกจากนั้นยังมี “น้ำนมเม็ดบัว” เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวมาก  อีกทั้งยังพัฒนามาเป็น ชากลีบบัว ชาเกสรบัว เพราะทุกอย่างของบัวมาทำประโยชน์ได้

อีกจุดชมนาบัว ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

ผู้นำอาสาชุมชน ปัฐมากร พิลากุล เสริมว่า ตั้งแต่ปี 2556 มีคนทำนาบัวแค่ 3-4 ครัวเรือน แรกๆ ไม่มีใครสนใจ เห็นคุณตาที่มาจากที่อื่นนำดอกบัวมาขาย ชาวบ้านก็เริ่มขายดอกบัวแต่ก็ต้องไปรับมาจากที่อื่น จนตอนหลังเมื่อมีชลประทานเข้ามา มีน้ำก็ทำให้สามารถทำนาบัวได้เพราะต้องทำกันใกล้แหล่งน้ำ บัวค่อนข้างจะอ่อนแอต่อสารเคมีมาก ในตอนแรกที่ทำนาบัวกันก็ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง เพราะพื้นที่เราเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านทำนาข้าวด้วยทำนาบัวด้วย เคยมีคนทำนาข้าวแล้วฉีดสารเคมีเมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำบัวก็เสียหายทั้งทุ่ง ทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า การทำนาบัวอินทรีย์นั้นปลอดภัย พื้นที่บ้านเราเลี้ยงควาย ก็ใช้มูลวัวมูลควายในการทำปุ๋ย ปัจจุบัน 90 % ของที่นี่จึงทำนาบัวอินทรีย์

ด้านการตลาด ก็มีกลุ่มบริหารนำออกไปจำหน่ายด้วยและมีตลาดรับซื้อบัวอยู่ในหมู่บ้าน  จะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อไปขายต่อยังจังหวัดต่างๆ   เช่น อำนาจเจริญ ช่องเม็ก ยโสธร  ทางสะวันเขต สปป. ลาวจะซื้อเยอะมาก  รสชาติของเม็ดบัวที่นี่จะหวานกรอบ จนลูกค้าจะจำได้ว่า ถ้าบัวตาลสุมของแท้ต้องบ้านห่องแดง

ได้ฟังแล้ว  ต้องยกให้เป็นอีกหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของบัว สร้าง Story ที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าสนใจ แม้จะยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่พัฒนาไปได้อีกไกลมาก

เห็นหนุ่มสาวเดินเข้าหาธรรมชาติ ลงมาเที่ยวชุมชนกันอย่างคึกคัก ก็ถือเป็นอีกแง่มุมดีๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสเรื่องราวของวิถีชุมชนกันอย่างลึกซึ้งขึ้น

การเดินทาง

จากตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที ระยะทาง 30 กิโลเมตรก็จะถึงบริเวณทุ่งนาบัวบ้านห่องแดง ถนนหนทางดีเป็นทางลาดยางสะดวกสบาย  ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม นาบัวจะวาย เพราะเป็นช่วงหน้าหนาว บัวจะล้ม  ในช่วงนาบัวล้ม ทางพัฒนาชุมชนก็จะสร้างเสน่ห์ตัวใหม่ คือนอนโฮมสเตย์ฟังสะนูว่าว  “สะนู” ที่ติดไปกับว่าวจะมีเสียงดนตรี ช่วงนั้นจะเป็นหน้าเกี่ยวข้าว ทุ่งนาจะเหลือง ซึ่งนักท่องเที่ยวมาก็จะเห็นทุ่งนาเหลืองสวยงาม

สนใจสอบถามข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตาลสุม โทรศัพท์ 081-8234131

Post a comment

five + 11 =