Craft Co-Creation ข้าวแกงก็มี ทำไมต้องรอตามสั่ง
นั่นสินะ มันก็ตอบยากอยู่เหมือนกัน ข้าวแกง ที่ง่ายและสะดวก มีให้เลือกหลากหลาย จะกินกี่อย่างก็ได้ ต้ม ผัด แกง ทอด ก็ว่ากันไป แล้วทำไม อาหารตามสั่งจึงยังเป็นมื้อยอดฮิตตั้งแต่เช้าสายบ่ายเย็น นั่นอาจเป็นเพราะอาหารตามสั่ง มีลักษณะพิเศษบางอย่าง ที่ไม่แมส แม้จะอยู่ทุกต้น ท้าย กลาง ซอย ตั้งแต่รถเข็น ไปจนถึงโรงแรมหรู ก็ตาม
แต่คำว่า “ตามสั่ง” มันสร้างความแตกต่างให้กับเราได้
ไม่หวาน ไม่ชูรส ไม่ผัก ไม่หอม ผักชีเยอะๆ ไม่ซีอิ๊ว ใส่ถั่วอย่างเดียว ไม่เผ็ด พริกเยอะๆ ขอมะนาวเพิ่ม….พิเศษไข่ดาวด้วยนะ!
เรื่องราวเหล่านี้คือความพิเศษของอาหารตามสั่งแบบที่ข้าวแกงทำไม่ได้ แต่อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ของเรื่องที่ Meetthinks จะนำมาเล่าในวันนี้
เพราะอยู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่า โครงการที่เราได้พบเจอมาอย่าง Craft Co-Creation ดูไปก็คล้ายๆ การทำตามออร์เดอร์ หรือตามสั่ง เพราะเดิมที ผู้ออกแบบสินค้า จะคิดและเดาเอาว่า ผลงานชิ้นนั้น จะถูกใจผู้ซื้อหรือไม่ แต่ครั้งนี้ Craft Co-Creation คือการรวมทั้ง นักออกแบบ ผู้ผลิต ซึ่งเน้นศิลปหัตถกรรมของชุมชนไทย ร่วมกับ ผู้ขาย ซึ่งมาจากช่องทางการจำหน่ายต่างๆ มาทำงานร่วมกัน
ทั้งสามส่วนมานั้งทำงานด้วยกัน ขบ คิด เคี่ยว ให้เกิดเป็นผลงาน อย่างที่ได้นำมาโชว์ให้ชื่นชม พร้อมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่เรียกได้ว่าไม่ง่าย แถมยังมีเป้าหมายจากทางเจ้าของโครงการ คือ SACICT ที่บอกว่า นี่คืองานต้องทำแล้วขายได้เลย ไม่ใช่งานโชว์ และไม่ใช่งานที่ออกมารอทดลองตลาด
การทำงานของนักออกแบบและผู้ผลิต ก็เลยต้องอยู่ภายใต้โจทย์ของผู้ขาย ที่เข้าใจในตัวลูกค้า รู้ดีว่า พวกเขาชอบรสชาติ หวาน เค็ม เปรี้ยว อย่างไร ในราคาเท่าไหร่ คล้ายๆ กับการทำงานตามคำสั่ง และ เทียบเคียงได้กับ อาหารตามสั่ง แต่ลึกซึ้งยิ่งกว่ามาก และมากกว่าด้วยการคงอยู่ของวิถีชุมชน ต้องต่อยอดความถนัดในงานฝีมือของชาวบ้าน เป็นการเสริมความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงเขา ทำให้ต้องอึดอัด หรือลดทอนความเป็นรากเหง้าของพวกเขาไป หรือไม่ก็ยากเสียจนไม่อยากจะร่วมมือด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรม “สรุปผลการดำเนินโครงการร่วมรังสรรค์ศิลปหัตถกรรม (Craft Co-Creation)” ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โดยมี คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธาน และ คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คุณเพ็ญศิริ ปันยารชุน ผู้จัดการสายงานยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ ร่วมงาน
การแสดงผลงานในครั้งได้นำมีการเสนอแนวทางการพัฒนาต่อยอดโครงการจากตัวแทนจากกลุ่มเข้าร่วมโครงการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักออกแบบ คุณศรันย์ เย็นปัญญา คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง ดร.กฤษณ์ เย็นสุขใจ และ คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (Exotic Thai/สยามพารากอน) ร้าน Room Concept Store บริษัท ดินไฟ จำกัด และ บริษัท บันยันทรีโฮลดิ้ง จำกัด
“นักออกแบบเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงด้านการตลาด เรียกว่าเปลี่ยนมุมมองความคิดของการทำงานของชุมชน เรานำกลุ่มผู้ประกอบการที่ค้าขายงานหัตถกรรมมาทำงานตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้การออกแบบและการผลิตสอดคล้องกับการตลาดการทำงานนี้ถือเป็นการตอบโจทย์การทำงานคราฟท์เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง โดยคาดหวังให้งานที่ผ่านการพัฒนาขององค์กร ไม่ว่าจะทำงานกับชุมชน นักออกแบบหรือใครก็ตามสามารถไปถึงตลาดได้อย่างจริงจังและมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นต้นแบบในการจำหน่ายต่อไป เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่า การพัฒนาโดยนำองก์ความรู้มาต่อยอดนี้ ก่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดตลอดเวลา” ผอ.อัมพวัน กล่าว
ถึงตอนนี้อยากให้ไปชมผลงานที่ออกมาแล้ว และคาดว่าจะขายได้แล้วด้วย จากการทำงาน ใน 4 คอลเล็คชั่น จาก 4 ภาค
ภาคกลาง : BENJAMIN COLLECTION
ผลิตภัณฑ์จากภาคกลาง ผลงานการออกแบบ ของ ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ ร่วมกับทาง “ดินไฟ” ทำงานร่วมกับชุมชนหัตถกรรม หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ชุมชนผ้าไหมบ้านครัว กรุงเทพฯ โดยได้ผสมผสานงานออกแบบอุตสาหกรรมกับงานช่างฝีมือ ปรับลวดลายดั้งเดิมด้วยการตัดทอนให้มีความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ด้วยเฉดสีที่มีความทันสมัย
“งานของเราค่อนข้างลูกผสม เพราะเดิมทีเครื่องเบญจรงค์เป็นสินค้าที่มีราคาสูง สร้างการตัดสินใจซื้อได้ยาก จึงอยากสร้างสินค้าเบญจรงค์ที่จับต้องได้มากขึ้น จึงนำเทคนิคของงานอุตสาหกรรมมาผสมผสาน เป็นการขึ้นรูปแบบอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เวลาน้อย แล้วนำมาเขียนลายโดยช่างฝีมือ ส่วนตัวลวดลายก็มีการปรับให้มีความทันสมัย เรียบง่าย สบายตา ซึ่งผลงานชุดนี้สามารถทำราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น บางลายมีการผสมผสานกับการลอกลายของงานพอร์ซเลนบ้าง” ดร.กฤษณ์ กล่าว
นางณิฐ์ภาวรรณ แตงเอี่ยม ทายาทครูช่าง หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี กล่าวถึงขั้นตอนงานว่า การใช้สีซึ่งไม่หนักเกินไปเป็นสีพาสเทล ซึ่งเหมาะกับสมัยปัจจุบันวัยรุ่นทั่วไปหาซื้อได้ แต่ยังคงการลงสีโดยใช้พู่กันตามแบบสมัย ร.2 โดยนำลวดลายของลายเทพพนมนรสิงห์ ซึ่งเป็นลายเริ่มแรกของเบญจรงค์และนำช่อไฟ ซึ่งอยู่ในลวดลายเทพพนมนรสิงห์มาทำให้ดูมีช่องว่างขึ้นไม่แน่นจนเกินไป และได้นำน้ำทองซึ่งมีมาในสมัย ร.5 มาใส่ลายช่อไฟ เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวบนสีที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นและอ่อนหวานขึ้น
โถลายคุ้กกี้ เป็นการทำสีลงบนใต้เคลือบ นำเทคนิคการลงลายครามใต้เคลือบมาเขียนลาย แต่ฉีกแนวคือไม่ต้องไปเผาเคลือบ ทำให้ได้งานดูธรรมชาติ และลงลายสิ่งของเช่นโถชิ้นนี้เขียนลายคุ้กกี้ลงบนโถ เป็นการบ่งบอกว่า โถนั้นกำลังถูกใช้บรรจุอะไร
เซ็ทลายสับปะรด ปกติที่เห็นโดยทั่วไปเป็นเทคนิคการลงสีใต้เคลือบ แต่เบญจรงค์ลงบนเคลือบ งานนี้ได้นำเอาลายสัปปะรดของลายครามมาใส่บนเบญจรงค์ โดยใช้เทคนิคการเคลือบเสร็จแล้ววาดสีเบญจรงค์เพื่อให้เกิดความนูนของสี และมาใส่ลายซึ่งใหญ่ขึ้นฉีกแนวลายสัปปะรดเดิม และยังสามารถเขียนลายน้ำทองวนขอบให้สวยขึ้นซึ่งถ้าเป็นลายครามจะไม่สามารถลงน้ำทองได้อีก ทำให้งานล้อลายสัปปะรดของลายครามดูสวยงามมากขึ้นด้วยสีนูนและลวดลายของทอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ไทเลย คอลเลคชั่น
ผลงานจากภาคอีสาน โดยนักออกแบบ คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง ร่วมกับทาง “รูม คอนเซ็ปต์ สโตร์” เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในภูมิปัญญากลลุ่มจักสานไทเลยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยและการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ โคมไฟ กระจกตั้งโต๊ะ โดยทำงานร่วมกับ กลุ่มจักสานไทเลย จังหวัดเลย
“ชุมชนไทเลย มีเอกลักษณ์ในการสานไม้ไผ่ นำมาเพิ่มเทคนิคการอบรมควันจากซังข้าวโพด เกิดสีสันตามระยะเวลา เดิมทีชาวบ้านจะสานและขึ้นรูปได้เพียงทรงที่ถนัดอย่างทรงกระบอก ขนาดไม่เกิน 30-40 ซม. พอออกแบบไปเกิดปัญหาว่า ผลิตให้ตามแบบไม่ได้ จึงมองว่าแนวทาง ในการผลิตตามแบบ และต้องไร้รอยต่อ กว่าจะมาเป็นโคมไฟที่ดูเรียบง่ายนี้ คิดกันหัวแทบระเบิด คนทำต้องต่อเส้นไม้ไผ่และการสานต่อเพื่อให้พับได้ เป็นงานสานครั้งเดียวจบ ออกมาแล้วถือว่าเป็นงานที่ต่อยอดจากรูปแบบเดิมที่เน้นว่าต้องขายได้จริง ต้องโมเดิร์น และแตกต่าง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงความเชี่ยวชาญของชุมชน แค่ปรับเพิ่มอะไรนิดหน่อยเท่านั้น” คุณเฉลิมพงศ์ กล่าว
ภาคเหนือ : EXOTIC POP COLLECTION
ผลงานภาคเหนือ โดยนักออกแบบ “คุณศรันย์ เย็นปัญญา” ร่วมกับทางเดอะมอลล์ เป็นการนำเสน่ห์ของการทอผ้าพื้นเมือง ผ้าชาวเขา มาดัดแปลงเป็นสินค้าของคนเมืองที่มีวิถีชีวิตวุ่นวาย โดยให้เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยการทำงานในครั้งนี้ ได้ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหัตถกรรมบ้านดอนหลวง จังหวัดลำพูน กลุ่มทอผ้าชาวกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ และ พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ศ.ศ.ป. พ.ศ.2554 (ดุนโลหะ) จังหวัดเชียงใหม่ จนได้กระเป๋าผ้าหลากหลายรูปแบบ ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ในรูปแบบทันสมัย ใช้ฝีมืองานทอผ้า งานช่างดุนโลหะ มาเป็นสินค้าที่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
“โจทย์ที่ได้รับคือการนำเอกลักษณ์ของ 3 ชุมชนมาต่อยอด ซึ่งเรื่องทักษะเราไม่ห่วง ฝีมือดี งานละเอียดอยู่แล้ว แต่ตอนที่นั่งมองเขาทอผ้า สายตาดันเหลือบไปเห็นผ้าที่ป้ารองนั่ง มันเตะตามาก ป้าบอกว่าเป็นผ้าที่ทอมาตั้งแต่เด็ก สมัย 40 กว่าปีก่อน เราเห็นแล้วชอบ พลิกหน้าพลิกหลังก็สวย จึงมีแนวคิดนำมายกระดับเป็นสินค้า โดยผสานกับการทำงานกับ พ่อครูดิเรก ซึ่งปกติแกทำงานชิ้นใหญ่ใช้เวลาเป็นปีๆ จึงต้องคิดหางานชิ้นเล็กๆ ให้ทันกับระยะเวลาที่ได้รับ ก็เลือกให้แกทำกระดุมเล็กๆ ใส่ในโปรดักส์ ซึ่งออกมามีเอกลักษณ์มาก แต่เป็นสินค้าที่เรามองว่า อยากเห็นคนเมืองขึ้นรถไฟฟ้าก็ใช้ หญิงหรือชายก็ใช้ได้ จึงออกมาเป็นคอลเล็คชั่นนี้ หนึ่งในนั้นคือกระเป๋า “อย่าเห็นแก่ตัว” ซึ่งได้แนวคิดมาจากพ่อครูที่มีความมุมานะ เสียสละทำเพื่อชุมชน
โดยสินค้ากระเป๋าและย่ามที่ออกมา เฉลี่ยราคา 3,000-4,000 บาท ซึ่งตอนนี้ทางเดอะมอลล์กำลังดูเรื่องราคา และเรื่องของระยะเวลาการผลิต เพราะใช้เวลาทำแตกต่างกันไป หากสั่งทอผ้าขึ้นมาใหม่ก็ใช้เวลาเป็นเดือน แต่หากมีผ้าอยู่แล้ว ก็จะผลิตได้รา 50 ชิ้นต่อเดือน” คุณศรัญย์ กล่าว
ภาคใต้ : ROOT COLLECTION
ภาคใต้ โดยนักออกแบบ “คุณศุภชัย แกล้วทนงค์” ร่วมกับทาง “บันยันทรีโฮลดิ้ง” นำเสนอคอลเล็คชั่นภายใต้แนวคิด Root ซึ่งหมายถึงราก เพราะรากคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแรง และความสมบูรณ์ โดยได้ทำงานร่วมกับชุมชนกรงนกบ้านในด่าน กลุ่มทอหางอวน และ กลุ่มจักสานใบกระพ้อ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเป็นงานที่ผสมผสานงานฝีเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ เป็นโคมไฟ กรอบกระจก งานศิลปะติดฝาผนัง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน และตรงความต้องการของตลาด เป็นอีกคอลเล็คชั่นที่คาดว่าจะได้ตอบรับในเชิงพาณิชย์เช่นกัน
“การทำงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นการต่อยอดการทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาผมเคยทำงานกับชุมชนนี้มาก่อนแล้ว จึงเข้าใจวัสดุและสภาพแวดล้อมได้ดี แต่ข้อแตกต่างของโครงการนี้ ไม่ได้ทำขึ้นมาแล้วค่อยนำไปทดลองตลาด เพราะทำแล้วให้ผู้ประกอบการที่รู้จักลูกค้าดี เข้ามาทำงานร่วมกันเลย โจทย์คือ จะนำวัสดุและงานฝีมือที่มีของทั้ง 3 ชุมชนมาแมทช์กันยังไง บางชิ้นจึงอาจจะใช้เทคนิคเดียว บางชิ้นจึงอาจจะแมทช์เทคนิคกัน ประกอบด้วยงานเข้าเดือยไม้แบบงานกรงนก จักสานใบกระพ้อ และการทอหางอวน
ตัวงานเข้าเดือยไม้ นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อย่างโคมไฟหรือกระจก เพิ่มความหรูหราด้วยสีทอง สำหรับพัดใบกระพ้อนั้น อาจจะปรับความเคยชินได้ยาก จึงต้องพัฒนาให้เกิดเป็นขนาดใหม่ๆ เพื่อนำมาประกอบเป็นชิ้นงาน ขณะที่งานทออวนใส่เทคนิค และเพิ่มดิ้นทองเพิ่มเติมลงไป โชว์เป็นภาพศิลปะ
นอกจากนั้น ผมยังทำงานให้กับบันยันทรีมาก่อนแล้วด้วย จึงทราบถึงธีมของแบรนด์ ซึ่งเดิมทีจะพูดถึงเรื่องของธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า มาตอนนี้คือ Root หรือ ราก ซึ่งเป็นหนึ่งในธีมของเขา เราจึงนำเอาธีม Root มาขยายเป็นผลงานต่างๆ ซึ่งสามารถออกสู่ตลาดได้ แต่อาจจะต้องปรับในบางเรื่อง เช่น การใช้ดิ้นทอง ที่อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น” คุณศุภชัย กล่าว
ชมกันไปแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างกับผลงานที่เรียกได้ว่า ไม่ธรรมดา อย่างเครื่องเบญจรงค์คอลเล็คชั่นนี้ที่สามารถออกสู่ตลาดญี่ปุ่นได้ งานไม้งานอวนที่เหมาะกับสไตล์รีสอร์ทและโรงแรมมากๆ ส่วนโคมไฟที่ทำนักออกแบบปวดกบาลมาแล้วนั้น ก็ถือว่าแปลกตา ขณะที่กระเป๋าผ้าทอคอนเซ็ปต์เด็ดนั้น ไหนๆ ก็ทำมือแล้ว ก็อยากให้ทำแบบ “ใบเดียวในโลก” หรือ “ลิมิเต็ดอิดิชั่น” แค่ไม่กี่ใบ เพราะแค่ใบแรกลายแรกที่ออกมาโชว์ ก็มีคนแย่งจองกันแล้ว
สั่งได้ รอหน่อย ให้เป็นเหมือนอาหารตามสั่ง
เลือกลาย เลือกสี เลือกแบบ เลือกกิมมิค อยากเพิ่มไข่ดาวสักสองฟองลงบนย่ามของตัวเอง…ก็จัดไป