กะลาทองคำ คิด-ทำ แบบคนนอกกะลา
ไม่ใช่แค่คิดก็คิดได้ เพราะนี่คือการคิดแล้วคิดอีก คิดได้แล้วอาจจะยังไม่เข้าท่า ก็ต้องว่ากันใหม่ เราอาจจะเจอเขาในตอนท้ายที่พบกับความสำเร็จ แต่ก่อนหน้านั้น มวลความคิดมหาศาลถูกนำออกมาจัดการกับสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่า มันไม่ควรจะไร้ค่าต่อไปอย่าง “กะลา”
พบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามามากแล้ว แต่ส่วนใหญ่ มันก็ยังเป็นกะลาที่ออมาในรูปแบบที่เรียกได้ว่า เชยสนิท เหมือนช่วงแรกที่ “สุวิทย์ แก้วจันทร์” คิดว่า จะเอากะลามะพร้าวที่กองท่วมหัวในหลายต่อหลายพื้นที่มาทำอะไร เขายอมรับว่าเคยคิดเหมือนคนอื่น และแป๊กไม่เป็นท่า พวงกุญแจกะลาที่เห็นโดยทั่วไป แม้จะราคาถูกก็โดนคนเมินใส่ เพราะมันไม่ได้มีอะไรแตกต่าง
เขาเริ่มมองหาทางทำให้กะลาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดสายตาของผู้คนให้ได้ โดยผลิตเป็นของใช้ที่ขนาดใหญ่ขึ้นๆ จนมาถึงโคมไฟขนาดยักษ์ ที่เราได้พบเจอในวันนี้
สุวิทย์เป็นชาวใต้ที่มาปักหลักอยู่เมืองแพร่ ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีผลิตภัณฑ์ไม้ที่โดดเด่น แต่เส้นทางของเขา คือ กะลามะพร้าวเท่านั้น จากวันที่เริ่มต้นมาจนถึงวันนี้ เกือบ 20 ปีแล้วที่เขาอยู่กับกะลา แต่ไม่ได้อยู่แค่ในกะลา เพราะเขาพยายามคิดค้น ศึกษา ทดลอง จนมาเป็นกะลาที่ไม่ธรรมดาแล้ว เพราะมันคือ “กะลาทองคำ” ที่โด่งดังเป็นที่ถูกใจลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่เหนือไปกว่านั้น คือ กะลามะพร้าวธรรมดาๆ เมื่อออกแบบตกแต่งปิดทองเข้าไป ก็กลายเป็นสินค้าที่มีราคาหลักพันไปจนหลายหมื่นบาท
โคมไฟขนาดใหญ่ของ “กะลาทองคำ” ทอแสงประกายโดดเด่นอยู่ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9” ซึ่งจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ และนี่ก็อาจจะเป็นบูทที่สะดุดตามากที่สุด จากงานโคมไฟขนาดใหญ่ที่ดูแลหรูหราอลังการ เสมือนงานโลหะ จนทำให้ต้องเพ่งสายตาเข้าไปชมใกล้ๆ
“ที่นำมาโชว์ในงาน อาจจะยังไม่ใหญ่มากนัก เพราะลูกค้าของเราส่วนใหญ่ จะเป็น โรงแรมและรีสอร์ท ขนาดใหญ่ที่โรงแรมสั่งทำ จะอยู่ประมาณ 3-5 เมตร”
ด้วยความหรูงามอร่ามตา รูปลักษณ์ที่คิดขึ้นมาให้แตกต่าง ผ่านศิลปะอันละเมียดละไม โคมไฟกะลาทองคำ จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท รวมทั้งบ้านขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นความหรูหราของการประดับโคมไฟ เหมือนแชนเดอเลียร์ในบ้านหรู บ้างก็ประดับประดาอยู่ตามจุดต่างๆ เป็นที่ถูกใจของชาวไทยและต่างชาติ มีออร์เดอร์จนล้นมือ เพราะแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานาน บางชิ้นต้องทำเป็นเดือน เพราะเป็นงานทำมือทั้งหมด
“เรามุ่งเน้นให้ กะลาทองคำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กะลามะพร้าวเกือบ 100% ตัวกะลาขนาดเล็กขนาดใหญ่ ที่สั่งมาจากสวนมะพร้าวทั้งภาคใต้ภาคเหนือ จะใช้ทั้งการทำโคมไฟ และส่วนประกอบต่างๆ โดยการนำมาบดแล้วขึ้นรูป อย่างที่เห็นเป็นไม้แบนๆ ก็ทำมาจากกะลาบดละเอียดนำมาขึ้นรูป จุดเด่นคืองานปิดทองคำเปลว ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะลามะพร้าว ที่ทุกคนเคยมองผ่าน แถมยังเป็นวัสดุจากธรรมชาติ 100% ไม่เป็นสนิม มอดไม่กิน ใช้ไป 10-20 ปี ก็นำมาขัดมาทำให้ใหม่ขึ้นเหมือนเดิมได้ หรือถ้าเสียหายต้องการทิ้ง ก็ยังย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ฟังแล้วนึกถึงกะลามะพร้าวแถวบ้าน นึกถึงกุญแจกะลามะพร้าว ที่เราเองก็ว่า มันก็ทำกันมาเนิ่นนาน เหมือนของที่ระลึกที่ซ้ำๆ กันในแหล่งท่องเที่ยวที่เรียงรายกันเป็นแถบ วนเวียนอยู่อย่างนั้น
ได้เห็นการเติบโตของกะลามะพร้าว ก็ต้องปรบมือให้ ต่อไปใครมากล่าวหาว่าเราเป็น กบในกะลา หรือ ไม่เจียมกะลาหัว ก็เถียงขำๆ ไปได้ว่า ถึงจะเป็นกะลา ก็กะลาทองคำนะ