Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

รวมพลคนมีใจ ตามรอยศาสตร์พระราชา สู่ก้าวที่แกร่งกล้า 9 ปี ตามรอยพ่อฯ

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) จัดงานสรุปผลความสำเร็จหลังดำเนินงานมาครบ 9 ปี เผยผลการดำเนินงานดีเกินคาด ทั้งด้านการสร้างคนมีใจ เครือข่าย และศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นไปตามเป้าหมาย หนุนแนวคิดในการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ 22 ลุ่มน้ำในประเทศ เกิดการรับรู้และกระแสความตื่นตัวที่ ส่งแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนเชิงนโยบาย

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน โดยได้น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติ เป้าหมายเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผลครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานเริ่มจากการสร้างพื้นที่ต้นแบบ รวมทั้งบุคคล ชุมชน และโรงเรียนต้นแบบ แล้วจึงขยายผลออกไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ โครงการมีกรอบการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี โดยระยะที่ 1 พ.ศ. 2556 – 2558  คือ ระยะตอกเสาเข็ม เป็นการสร้างการรับรู้ และสร้างตัวอย่างความสำเร็จหลากรูปแบบทั้ง บุคคล ชุมชน โรงเรียน และสร้างศูนย์เรียนรู้ สรุปการดำเนินกิจกรรมในระยะที่ 1 สร้างการรับรู้ด้วยการเดินทางวิ่ง-เดิน-ปั่น กว่า 900 กิโลเมตร ในพื้นที่ 5 จังหวัด มีอาสาสมัครและคนมีใจร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน

กรอบการดำเนินงานในระยะที่ 2 พ.ศ. 2559 – 2561 คือ ระยะแตกตัว เป้าหมายเป็นการขยายผลในระดับทวีคูณ สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือในการยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต (บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร) สรุปการดำเนินกิจกรรมในระยะที่ 2 สร้างพื้นที่ต้นแบบ 8 แห่งใน 8 จังหวัด สร้างการมีส่วนร่วมของคนมีใจที่ร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน และเกิดศูนย์การเรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด

กรอบการดำเนินงานในระยะที่ 3 พ.ศ. 2562 – 2564  คือ การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มี 7 ภาคีระดับชาติเข้าร่วม ได้แก่ ภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อยกระดับสู่การแข่งขัน วางรากฐานการพัฒนามนุษย์ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำ เชื่อมโยงทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

สรุปผลสำเร็จ 9 ปี ตามรอยพ่อฯ

  • การ “สร้างคน” มีผู้เข้าอบรมและดูงานในศูนย์ฯ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการ พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก 489,984 คน พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่น ๆ 826,280 คน รวมทั้งสิ้น 1,316,264 คน
  • การ “สร้างครู” สร้างวิทยากร และครูพาทำในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในลุ่มน้ำป่าสักรวม 124 คน นอกลุ่มน้ำป่าสัก 9 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน
  • การ “สร้างศูนย์เรียนรู้” มีศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากโครงการ 11 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกลุ่มน้ำ ป่าสัก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ห้วยกระแทก) “ป่าสักโมเดล” จ.ลพบุรี, บ้านพึ่งพาตนเอง “ฟากนา ฟาร์มสเตย์” จ.เลย, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายอดิศร จ.สระบุรี, ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโมเดล หรือ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ วัดใหม่เอราวัณ จ.ลพบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา จ.ตาก, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี, และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ จ.สุรินทร์

ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ดูงานทั้งหมดของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศมีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 12 แห่ง และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ  58 แห่ง รวม 70 แห่ง

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ดร.วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดีทั้งในแง่ปริมาณในการสร้างคน สร้างครู สร้างศูนย์เรียนรู้ ส่วนสัมฤทธิผลในเชิงคุณภาพนั้นได้ผลดีเกินคาด การแตกตัวขยายผลครอบคลุมลุ่มน้ำทั่วประเทศ สร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เริ่มจากการสั่งการจากผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นให้ดำเนินการอบรมให้ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ภายในหน่วยทหาร และยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ และโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ‘โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง’ ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

“จากการดำเนินอย่างต่อเนื่อง 9 ปีของโครงการ ‘ตามรอยพ่อฯ’ ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม จะสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน” ดร.วิวัฒน์กล่าวสรุป

ครบ 9 ปี ในการสนับสนุนอย่างจริงจังจากเชฟรอน

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงการสรุปผลความสำเร็จว่า “เชฟรอนประเทศไทยได้ร่วมจัดทำโครงการมาตลอดระยะเวลา 9 ปี โดยที่ผ่านมาเราได้เห็นผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าโครงการได้เข้าไปช่วยในการให้ความรู้ สร้างตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเป็นล้าน ๆ ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับป่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ และยังสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทั้งผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์แก่ผู้ที่สนใจ โดยเราได้สร้างเนื้อหาในสื่อออนไลน์มากมายที่เป็นประโยชน์ อาทิ การจัดทำบทเรียน ‘คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ ในรูปแบบบทความและวีดิทัศน์บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ รวม 14 บท เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ และยังได้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามกว่า 246,900 คน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโครงการด้วยช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์

“พนักงานของเชฟรอนประเทศไทยเองกว่า 2 พันคน ก็ได้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมเอามื้อของโครงการอย่างต่อเนื่อง มีหลายคนที่นำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปลงมือทำที่บ้านเกิดเมื่อเกษียณจากการทำงานประจำ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับองค์กรและพนักงานเชฟรอนที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มารณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไป จนเกิดแรงบันดาลใจนำไปลงมือปฏิบัติ และได้ร่วมผลักดันขับเคลื่อนจนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมอย่างมากมายในสังคมไทย” นายอาทิตย์กล่าวสรุป

จากใจคนมีใจ ในเส้นทาง ตามรอยพ่อฯ

ภายในงานนี้ ยังมีตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ 9 คน 9 ปี ขึ้นเวทีร่วมเสวนา เพื่อยืนยันว่าศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้วิกฤตได้จริง พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ต่อไป

บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ อ.เมือง จ.สระบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 1 กล่าวว่า “ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ภูมิใจที่ช่วยเหลือคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โครงการทำให้กระบวนการเรียนรู้สั้นลง ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเมื่อก่อน เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จในภูมิสังคมที่แตกต่างกันไปในหลายพื้นที่ให้ศึกษาเรียนรู้ หน่วยงานมีการบูรณาการกันที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด คือ การพัฒนาคน ทำให้เกิดคนมีใจที่มาร่วมกันเป็นเครือข่ายเยอะมาก การสืบสานศาสตร์พระราชาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีกรณีศึกษาใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ต้องนำองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนทำตาม  การขับเคลื่อนจึงต้องทำต่อไปไม่รู้จบ”

พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ (ผู้ใหญ่อ้อย) ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 3 กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้  เพราะการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องและการสนับสนุนอย่างจริงจังของโครงการ ทำให้การแตกตัวในการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมาก ในการสืบสานศาสตร์พระราชาเรายังทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการรวบรวมเครือข่ายคนมีใจขับเคลื่อนเป็นระดับภาค และระดับประเทศต่อไป โดยจะทำแบบใกล้ชิดกว่าเดิม มีการประชุมวางแผนงานบ่อยขึ้น มีการลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องมากขึ้น มีการจัดทัพแบบกระชับองค์กร เพื่อเข้าถึงปัญหาและแก้ไขในทุกจุดอย่างรวดเร็ว มีการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น เราจะสืบสานต่อไปให้รุ่น 2 รุ่น 3 เหมือนที่อาจารย์ยักษ์วางไว้ค่ะ”

พลเอกธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า เลขานุการคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 4 กล่าวว่า “หลังจากที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการตามรอยพ่อฯ แล้ว ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชามากขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นมากมาย ผมคิดว่าประชาชนเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านและเดินตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอนมากขึ้น โดยเฉพาะในยามเกิดโรคระบาดหรือเกิดวิกฤตภัยต่าง ๆ ประชาชนเห็นความสำคัญของความพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในศาสตร์พระราชาตามแนวทางที่พระองค์สอนและได้ลงมือทำในพื้นที่ตนเอง 10 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะสืบสานงานของพระองค์ให้กับหน่วยงานที่ผมเองรับผิดชอบ คือ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ในฐานะเลขานุการ และตั้งใจนำความรู้ถ่ายทอดกับผู้คนที่สนใจในทุกโอกาส โดยการเป็นวิทยากรให้ความรู้ทั้งในเรื่องโคก หนอง นา และการป้องกันแก้ไขวิกฤตภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการทำข้าวคุณภาพ โดยการถ่ายทอดความรู้และแนะนำให้กับเกษตรกรเรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำนาที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวนา รวมทั้งสุขภาพของประชาชนที่ได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพด้วย”

แสวง ศรีธรรมบุตร (ลุงแสวง) ปราชญ์แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 5 กล่าวว่า “หลังจากที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพ่อฯ ก็มีคนมาขอดูพื้นที่ผม และเอากลับไปทำตามเยอะมาก หน่วยงานราชการก็มาจัดอบรมที่นี่ในฐานะเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ ครั้งละ 100 คนบ้าง 50 คนบ้าง พอกลับไปเขาก็ลงมือทำเลย และเมื่อมีปัญหาก็จะโทร.กลับมาปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาให้ เครือข่ายของคริสตจักรนาเรียงเองก็เข้มแข็งมากขึ้น มี 20 กว่าครัวเรือน ทำโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาทุกครัวเรือน จนเดี๋ยวนี้ไม่ต้องซื้อของกินของใช้ เอามารวมกันแลกเปลี่ยนกัน ความภูมิใจของผม คือ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนไม่เอางานเอาการ ให้กลับใจลุกขึ้นมาลงมือทำตามศาสตร์พระราชา หลังจากเขามาดูงานที่แปลงของผม จนปัจจุบันพื้นที่ที่เขาทำกลายเป็นศูนย์และเป็นครอบครัวต้นแบบ ตัวเขาเองก็กลายเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปแล้ว ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้ จากนี้จะสืบสานงานของพ่อต่อไป ผมพูดกับครอบครัวว่า จะแบ่งปันเผื่อแผ่ คนไหนไม่มีที่ไป ตกงาน อยากเรียนรู้ศาสตร์พระราชาก็จะให้มาอยู่ที่นี่เลย ให้หากินอยู่ที่นี่ มาทำงานอยู่ที่นี่ พอตั้งหลักได้ก็ค่อยขยับขยาย”

ศิลา ม่วงงาม (ครูศิลา) ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชน บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 2 กล่าวว่า “จากเดิมที่มีการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา แค่ 2 ราย ปัจจุบันมีคนทำเพิ่มขึ้นมากถึง 3-4 เท่าตัว สมัยก่อนเส้นทางระหว่างบ้านหินโง่นถึงบ้านสักง่า ระยะทาง 8 กิโลเมตรจะเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด แต่ปัจจุบันมีไม้ผลขึ้นเต็ม 2 ข้างทาง เช่น ทุเรียน เงาะ ส้มโอ เป็นต้น และชาวบ้านยังปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2558 ผมได้จัดกิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ 89 สายถวายพ่อ ที่ห้วยส้านซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านหินโง่น แล้วไหลลงแม่น้ำป่าสัก ซึ่งตอนนี้ห้วยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดีมากเลย ผมมีความตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพราะได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน”

บัณฑิต ฉิมชาติ (หัวหน้าฉิม) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 6 กล่าวว่า “ตอนนี้ชาวบ้านมีข้าวกินทั้งหมู่บ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมกลายป็นเทวดาของชาวบ้านไปแล้ว ทุกครั้งที่เจอผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเข้ามากอด ผมดีใจและตื้นตันใจมากครับที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้พวกเขาได้  ชาวบ้านลดการปลูกข้าวโพดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับพื้นที่ป่าของอุทยานคืนมา 3,000 กว่าไร่ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เมื่อก่อนชาวบ้านต้องเตรียมเงินไว้ปีละประมาณ 5,000 บาท เพื่อซื้อข้าวกิน แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำกิน 3-5 ไร่ของพวกเขาก็สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ มีข้าว มีปลา มีผักกิน ไม่ต้องเสียไปเงินซื้อ ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อก่อนชาวบ้านต้องซื้อข้าวหัก ๆ กิน เดี๋ยวนี้ชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์ภูฟ้าซึ่งเป็นข้าวขาวที่สวยมากไว้กินเอง เหลือก็แบ่งปันกันในชุมชน ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนอดอยาก”

กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) เจ้าของพื้นที่ “ไร่ไฮ่เฮา” อ.งาว จ.ลำปางตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 7 กล่าวว่า “ปัจจุบันพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง จ.ลำปาง มีครัวเรือนที่หันมาทำโคก หนอง นา บนพื้นที่สูงเพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าแปลง ทำกันจริงจังมาก มีการเวียนกันเอามื้อทุก ๆ สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง มีการทำแท็งก์น้ำในแต่ละจุดของแต่ละแปลง เพราะเป็นพื้นที่สูงการจัดการน้ำยาก ทุกแปลงจึงจำเป็นต้องมีแท็งก์น้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อการเกษตร และตอนนี้ขยับมาทำพื้นที่ที่สุโขทัยด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายผลสู่ลุ่มน้ำยม มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ที่สร้างประโยชน์มาก มีการประชาสัมพันธ์และทำให้คนได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และคนที่สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ คือ การได้เครือข่ายที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เป็นแรงเสริมเป็นกำลังใจให้กันและกัน ส่วนตัวแล้วก็จะยังสืบสานงานของพ่อต่อไป ทั้งที่เป็นพื้นที่ของตัวเองและการร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุนและส่งต่อองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลงมือทำตามต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

ปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เจ้าของ “สวนฝันสานสุข” บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 8 กล่าวว่า “หลังจากโครงการมาจัดกิจกรรมเอามื้อที่ศูนย์ปราชญ์ฯ ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านในชัยภูมิเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้น จึงมีการค้นหาแกนนำที่เป็นจุดแข็งของแต่ละอำเภอ เพื่อเรียกคนที่มีใจเดียวกันมาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งทีมใหญ่และทีมเล็ก โดยที่ศูนย์ปราชญ์ฯ เองมีการวางแผนเอามื้อเดือนละครั้ง เครือข่ายก็จะไปปันแรงกัน ก่อนโควิด-19 ระบาดมีการจัดอบรมและดูงานอยู่เรื่อย ๆ รวมแล้วฝึกอบรมไปประมาณ 6 รุ่น จำนวน 500 กว่าคน ในช่วงโควิด-19 ระบาดได้ไปเป็นจิตอาสาทำหน้าที่พยาบาลสนาม ฉีดวัคซีน เลยถือโอกาสรวมพลังหมอศูนย์บาทของชัยภูมิ ต้มน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า สมุนไพรสุมยา แจกคนป่วยที่โรงพยาบาลสนามและที่ศูนย์สุขภาพชุมชน ตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาได้ทุกวิกฤตจริง พื้นที่ของตัวเองมี 18 ไร่ ทำโคก หนอง นา ไว้นานแล้ว มีต้นไม้เยอะ มีน้ำเหลือเฟือ ลูกชายเป็นคนรุ่นใหม่เคยบ่นว่าแม่อายุเยอะแล้วกลับมาเหนื่อยอะไรตรงนี้ แต่ต่อมาหลังจากเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่แม่ทำ ก็มากระซิบให้แม่ทำต่อไป ขอทำงานเก็บเงินซักพัก แล้วจะกลับมาสานต่อ ฟังแล้วชื่นใจมากเลยที่คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำค่ะ”

สุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี อ.จักราช จ.นครราชสีมา ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 9 พ.ศ. กล่าวว่า “นวลเป็นคนบ้างานบ้าเรียน เวลาที่เหลือ คือ อยู่ในสวน เพราะอยากให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ เนื่องจากที่บ้านยังไม่เห็นด้วยอยู่ นวลจึงใช้วิธีสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยหวังว่าครอบครัวจะได้เห็นภาพ ซึ่งปรากฏว่าไม่ใช่เพียงครอบครัวที่เห็น แต่เพื่อนในโซเชียลก็ได้เห็นและเกิดแรงบันดาลใจลงมือทำตามกันหลายคน  เครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียงก็มีการคุยกันในไลน์ ก็ขอมาดูพื้นที่เรา แล้วเกิดพลังใจกลับไปลงมือทำ เขาบอกว่าขนาดนวลเองเป็นคนมีเวลาน้อย ยังสามารถทำได้เลย รู้สึกภูมิใจที่ความตั้งใจของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ คน ลุกขึ้นมาทำตาม ในการสืบสานแนวคิดศาสตร์พระราชาจะยังทำอย่างต่อเนื่อง มีความตั้งใจอยากส่งต่อองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ ในชุมชน ให้ได้มาเรียนรู้ มาทำกิจกรรมแบบค่อย ๆ ซึมซับ เพื่อเป็นการบ่มเพาะแนวคิดและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยค่ะ ไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการเดินตามรอยพ่อ เพราะคิดว่าคุณสมบัติยังไม่ถึงระดับนั้น แต่อยากจะให้เรียกว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างของคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำมากกว่าค่ะ”       

ทั้งนี้ งานสรุปผลดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี พื้นที่ของคนมีใจที่ร่วมกิจกรรมโครงการตั้งแต่ปีแรก โดยเครือข่ายจากทั้งในและนอกลุ่มน้ำป่าสักเข้าร่วมงานและนำผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปร่วมออกร้าน พร้อมจัดกิจกรรมอบรมหลักการออกแบบโคก หนอง นา และฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ

ผู้ที่สนใจติดตามชมการสรุปผลการดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ได้ในรายการ “เจาะใจ” วันที่ 2,9 เมษายน 2565 ทางช่อง MCOT HD เวลา 21.40 – 22.35 น. และติดตามเนื้อหาโครงการได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

Post a comment

four × two =