สักการะ ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เสริมสิริมงคลรับปีใหม่
กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เชิญพุทธศาสนิกชนร่วมสักการะ เสริมสิริมงคลรับปีใหม่
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๙ น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๔ กระทรวงวัฒนธรรม
โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า อัญเชิญพระพุทธปฏิมาโบราณ ๑๐ องค์ ที่เก็บสงวนรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน และคัดสรรพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ประกอบด้วย พระพุทธรูปที่อยู่ในพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์มาแต่เดิม ได้แก่ พระพุทธรูปฉันสมอ พระพุทธรูปศิลาขาวมารวิชัย พระพุทธสิหิงค์จำลอง และพระพุทธรูปที่ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้แก่ พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์ พระพุทธรูปป่าเลไลย์ พระพุทธรูปมารวิชัย (พระขนมต้ม) พระพุทธรูปทรงเครื่องสมาธิ พระพุทธรูปทรงเครื่องประทานอภัย รวมทั้งยังได้จัดนิทรรศการพิเศษขนาดเล็กให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและรูปแบบทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมศิลปากร ได้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยทำการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และติดสัญลักษณ์แสดงผ่านการ
คัดกรองก่อนเข้าแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร บันทึกข้อมูลของผู้ใช้บริการ เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา บริการเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ ที่มีการสัมผัสบ่อย พร้อมทั้งทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทุก ๒ ชั่วโมง จัดระบบการเข้าชมโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า ๑ เมตร เพื่อไม่ให้มีการแออัดในพื้นที่จัดกิจกรรม พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
งดงาม ทรงคุณค่า ทศพุทธปฏิมาวังหน้า
๑.พระพุทธสิหิงค์
แบบศิลปะ ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา
อายุสมัย ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
ประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์
๒.พระพุทธรูปฉันสมอ
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม
พระฉันสมอประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรแบบพุทธศิลป์จีน คล้ายคลึงกับพระฉันสมอที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกกล่าวถึงผลสมอและมะขามป้อมที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องยาสำหรับพระภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
๓.พระพุทธรูปศิลาขาวมารวิชัย
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม
ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความนิยมนำเข้าพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลักจากพม่ามาประดิษฐานในพระอารามหลวงต่าง ๆ โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยสลักจากหินอ่อนองค์นี้ มีพุทธลักษณะบางประการที่ต่างไปจากศิลปะรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ลักษณะการประทับนั่งขัดสมาธิเพชรที่พระชานุ (เข่า) ตกลงมาต่ำกว่าระดับพระเพลา (หน้าตัก) มาก และกลีบบัวหงายที่สลักติดกับฐานพระพุทธรูปก็มีลักษณะคล้ายกับกลีบบัวที่พบที่ฐานพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์คองบองของพม่า
๔.พระพุทธสิหิงค์จำลอง
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓–ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม
คติการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองคงเนื่องมาจาก “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งแต่งโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ กล่าวถึงพระเจ้ามหาพรหม เมื่ออัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์ไปประดิษฐานที่เมืองเชียงรายแล้ว โปรดให้จำลองพระพุทธสิหิงค์ด้วยทองคำขนาดเท่ากับองค์เดิมและประดิษฐานในวิหารเดียวกับพระพุทธสิหิงค์องค์จริง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ก็มีพระพุทธสิหิงค์จำลองประดิษฐานคู่กันด้วย
๕.พระพุทธรูปแก้วมารวิชัย
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระพุทธรูปปางมารวิชัยแก้วสีเขียวฟ้า สมัยโบราณนิยมนำหินสีที่มีมูลค่าสูงและมีความแข็งใสเหมือนกับแก้วมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อบรรจุไว้ในกรุพระเจดีย์ต่าง ๆ ในเวลาต่อมาเมื่อหินที่มีเนื้อใสสะอาดหายาก จึงใช้แก้วที่หลอมจากทรายขาวมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทดแทน
๖.พระพุทธรูปห้ามแก่นจันทน์
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
ตำนานพระแก่นจันทน์กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์หลังวันออกพรรษาและได้ไปโปรดพระเจ้าปเสนทิโกศล ด้วยพระพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์แดงที่พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลื่อนหลีกไปจากพุทธอาสน์ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกฝ่าพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเป็นกิริยาทรงห้าม ตำนานนี้ประสงค์จะอ้างว่าพระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นเป็นต้นแบบของการสร้างพระพุทธรูปในภายหลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อว่า พระพุทธรูปมีขึ้นโดยพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล
๗.พระพุทธรูปป่าเลไลย์
แบบศิลปะ ศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามพระพุทธประวัติที่กล่าวถึงอุเบกขาบารมี เมื่อคราวภิกษุเมืองโกสัมพี เกิดแตกความสามัคคีกัน แม้พระพุทธองค์จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง จึงทรงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลย โดยมีช้างปาลิไลยกะถวายตนเป็นอุปัฏฐาก และพญาวานรมีกุศลจิตนำรวงผึ้งติดกิ่งไม้มาถวายพระพุทธองค์ พระหัตถ์ซ้ายจึงวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยาทรงรับ
๘.พระพุทธรูปมารวิชัย (พระขนมต้ม)
แบบศิลปะ ศิลปะอยุธยา
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบสกุลช่างนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธสิหิงค์ของล้านนา โดยมีพระวรกายที่อวบอ้วน พระอุระนูน บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรสั้นเหนือพระถัน ปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ
๙.พระพุทธรูปทรงเครื่องสมาธิ
แบบศิลปะ ศิลปะอยุธยา
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ มีคติในการสร้างหลายประการ กล่าวคือ สร้างตามพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเนรมิตพระองค์เป็นพระมหาจักรพรรดิแสดงธรรมโปรดท้าวมหาชมพูลดทิฐิมานะและออกบรรพชาเป็นพระภิกษุ สร้างเป็นรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ และสร้างเป็นรูปพระอนาคตพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ในอนาคต
๑๐.พระพุทธรูปทรงเครื่องประทานอภัย
แบบศิลปะ ศิลปะอยุธยา
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
ประวัติ ขุดได้จากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗
พระพุทธปฏิมาทรงยกพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย ตามคติเดิมของการสร้างพระพุทธรูปแต่เดิมของอินเดีย พระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในท่านี้เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อภยมุทรา” ภาษาไทยนำมาใช้ว่า “ปางประทานอภัย” เพื่อสื่อความหมายถึง “ความไม่มีภัยทั้งปวง” หรือ ไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ” อันมีความหมายถึงการปกป้องอันตราย