ไม่ใช่แค่โอเคแล้วนะเบตง บอกตรงๆ รักเลย
บอกตรงๆ ว่า นอกจากไก่เบตงแล้ว แทบจะไม่มีอะไรที่คนทั่วไปนึกออกว่านี่คือที่สุดของเบตง จะมีแต่ความรู้จากตำรา ที่บอกว่านี่คืออำเภอที่ได้ชื่อว่าใต้สุดแดนสยาม ซึ่งไม่ได้อยู่ในนราธิวาสดังที่หลายคนเข้าใจ
แต่ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่าเบตงยังมีเรื่องราวสุดเก๋ไก๋ สถานที่ระดับไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้อยู่อีกมากมายนัก
เบตงเป็นเมืองเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2441 โดยคำว่า “เบตง” (Betong) มาจากภาษามลายูว่า “BuluhBetong” หมายถึงไม้ไผ่หรือไผ่ตง มีโครงสร้างทางวัฒนธรรมหลัก 3 ชนชาติ คือ ไทย มุสลิม และจีน
เราใช้เวลานั่งรถแหวกแนวเขาน้อยใหญ่มาเป็นเวลาร่วมชั่วโมง เพราะอำเภอเบตงอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลากว่า 140 กิโลเมตร ครั้งนี้เราเดินทางด้วยเครื่องบิน ลงที่อำเภอหาดใหญ่ แล้วนั่งรถผ่านปัตตานีและตัวเมืองยะลามาเป็นเวลาราว 3-4 ชั่วโมง
ย้อนความทรงจำ กับตู้แดงขนาดยักษ์
ภาพแรกที่เห็นเบตงในเวลาบ่ายคล้อย คือ การสัญจรไปมาของผู้คนที่เป็นไปอย่างคึกคัก ตึกรามบ้านช่องสลับเก่าใหม่สีสันแปลกตา บริเวณหอนาฬิกา เป็นจุดที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาไม่ขาดสาย มุมหนึ่งของถนนบริเวณหอนาฬิกา เป็นตู้ไปรษณีย์ขนาดยักษ์ ที่ใครไปใครมาก็ต้องแชะภาพเป็นที่ระลึก สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 มีความสูงกว่าตู้ไปรษณีย์ทั่วไป 3.5 เท่า ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลก
นี่ไม่ใช่ตู้ไปรษณีย์ธรรมดาๆ ที่สร้างขึ้นมาเป็นจุดถ่ายรูป เหมือนหลักกิโลยักษ์ที่เห็นได้ทุกที่ทั่วไทย แต่นี่คือสัญลักษณ์แห่งการสื่อสารด้วยจดหมาย ซึ่งมีความสำคัญมากในอดีต สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารระหว่างอำเภอเบตงกับอำเภออื่นๆ ในสมัยก่อน เห็นแล้วย้อนให้นึกถึงการเขียนจดหมายหากันในอดีต ที่ต้องรอคอยกันหลายวันกว่ามันจะมาถึง วันนี้คงหาจดหมายที่เขียนหากันได้ยากแล้ว จะมีก็แต่จดหมายข่าว จดหมายขายของ จดหมายแจ้งเรื่องจากทางการ หรือจดหมายทวงหนี้ สมแล้วที่มีการสร้างตู้ไปรษณีย์แห่งนี้ขึ้นมา ทำให้คนรุ่นอนาล็อกได้นึกถึงภาพเก่าๆ อันละเมียดละไมขึ้นมาได้อีกครั้ง
วัดเบตง ชมเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
ก่อนจะเข้าพักโรงแรมในตัวเมือง เราแวะกันไปที่ “วัดเบตง” หรือชื่อในวันนี้ว่า “วัดพุทธาธิวาส” ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลาดเอียงในตัวเมืองเบตง มองเห็นวิวทิศทัศน์ได้กว้างไกลไปจนถึงทิวเขาที่รายล้อม นับเป็นการต้อนรับในยามเย็นที่แสนอุ่นใจ
มองขึ้นไปเบื้องหน้า เห็นเจดีสีทองอร่าม มีชื่อว่า “พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ” สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ ขนาดความสูงเทียบเท่ากับตึก 13 ชั้น มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ได้มาเห็นแล้วก็ตะลึง ยืนอึ้งไปพักหนึ่ง แถมยังเป็นวัดที่เงียบสงบ ไม่มีเต้นท์ ไม่มีร้านค้า มารกตากวนใจ
รอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย
ค่ำคืนในเบตงผ่านไปอย่างเชื่องช้า ทั้งๆ ที่นาฬิกาของที่นี่ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้คนเริ่มบางตาเมื่อแสงเริ่มลับลา แต่ก็มีจุดที่คึกคักอยู่บ้างในช่วงค่ำ บริเวณหน้าโรงแรมที่เราเข้าพัก นั่นคืออุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนอมฤทธิ์ ตัดกับถนนภักดี ซึ่งเป็นอุโมงค์ลอดผ่านภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย
ช่วงค่ำจะมีนักท่องเที่ยวและหนุ่มสาวในพื้นที่ ออกมาเดินชมความงามของอุโมงค์ที่ประดับประดาไปด้วยแสงไฟ มีรถราขับผ่านไปผ่านมาไม่มากนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังกันดี
ภายในอุโมงค์มีทางเดินขนาบทั้งสองฝั่ง อาจจะต้องชวนเพื่อนไปด้วยหากต้องการเข้าไปเดินเล่นในนั้น เพราะวันที่เราเดินทางไป มีการประดับไฟเฉพาะส่วนเพดาน ส่วนด้านข้างมืดสนิท จะว่าไปก็ถือเป็นมุมมองที่ดี เพราะทำให้แสงสีที่เกาะกลุ่มเหมือนดาวหางตลอดเส้นทางของอุโมงค์มีความชัดเจนขึ้น เมื่อหลุดออกมาอีกฝั่งแล้วมองกลับไป ก็ได้อารมณ์อีกแบบ
ในความเงียบเชียบของค่ำคืนของเบตง เมื่อย้อนมองกลับไปในอุโมงค์ บางจังหวะเราก็ได้พบกับภาพแสงรำไร เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังความหวังที่เราทุกคนเชื่อมั่นว่า ทุกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่ จะมีวันคลี่คลายลงไปได้ บอกตรงๆ ว่าแอบอธิษฐานในใจ ด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม
หมอกเบตงใจดี เข้าถึงง่าย ไม่มีเล่นตัว
เป็นเรื่องที่ทราบกันดีของคนที่มาเที่ยวเบตง คือการขึ้นไปชมทะเลหมอกยามเช้า เช้าอีกวันหนึ่ง จึงต้องตื่นกันตั้งแต่ตีห้า เพื่อออกเดินทางไปยังทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ใช้เวลานั่งจากเมืองเบตงราวครึ่งชั่วโมง ก็ถึงจุดชมวิวทะเลหมอกที่ใจดี ไม่มีเล่นตัว เพราะชมได้ทุกวัน ชมได้ทั้งปี ไม่ต้องดั้นด้นปีนเขาขึ้นไป แถมไม่จอแจแออัด (หากไม่เป็นช่วงเทศกาลนะ)
คลื่นหมอกขาวสลับซับซ้อนเป็นลานกว้าง บอกตรงๆ ว่า อยากลงไปแหวกว่ายได้เหมือนในน้ำ แต่จินตนาการก็ต้องอาศัยความรู้อยู่เหมือนกัน เพราะด้านล่างเมื่อหมอกจาง มันก็คือผืนป่าและแม่น้ำปัตตานี แม้จะเป็นน้ำเหมือนกัน แต่ระยะที่ทิ้งตัวลงไปคงไม่เหมือนการค่อยๆ เดินจากหาดทรายลงทะเลเป็นแน่
นี่อาจจะเป็นจุดไฮไลท์ที่ใครๆ ต่างถวิลหา ช่วงเวลาแห่งการพักสายตาไปกับทุ่งหมอกอันกว้างใหญ่ ไม่ต้องดั้นด้นให้เหนื่อยยากลำบากกาย แต่ก็ได้ชื่นชมความงามของยามเช้ากันอย่างเต็มตา
ดีนะ…อยู่ใต้ก็มีดอกไม้เมืองหนาว
อยู่ภาคใต้แต่มีหมอกหนาให้ชมกันอย่างจุตาจุใจแล้ว ที่เบตงยังมีสวนดอกไม้เมืองหนาวรอให้ทุกคนเข้าไปเที่ยวชม ได้ยินแล้วนึกถึงสโลแกน “ดีนะกรุงเทพก็มีทะเล” ของสวนสยาม เพราะรู้สึกว่า “ดีนะเบตงก็มีดอกไม้เหมืองหนาว” เพราะน้อยนักที่เราจะมีโอกาสได้เห็นดอกไม้เมืองหนาวในภาคใต้ ก็เพราะภาคใต้ไม่มีหน้าหนาว มีแต่แดดกับฝนเท่านั้น ด้วยสภาพอากาศและพื้นที่บนหุบเขาของเบตง ทำให้สามารถปลูกดอกไม้เมืองหนาวได้ กล่าวได้ว่า เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้
สวนดอกไม้เมืองหนาว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ชื่อเต็มๆ คือ โครงการไม้ดอกเมืองหนาวอันเนื่อง มาจากพระราชดำริอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอักษรจีนพระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “ว่านฮัวหยวน” หรือแปลเป็นไทยว่า “สวนหมื่นบุปผา”
ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แถมยังเป็นการส่งเสริมอาชีพการปลูกดอกไม้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำสวนทำไร่อีกด้วย
พื้นที่ราว 35 ไร่ จัดแบ่งเป็นแปลงดอกไม้ และสวนดอกไม้ที่จัดแสดงให้เดินชมกันเพลินๆ ที่นี่ยังมีที่พักรองรับ ภายใต้สภาพอากาศบริสุทธิ์บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 800 เมตร ทำให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี แต่หน้าร้อนในตอนกลางวัน ก็จะร้อนแดดตามฤดูกาลเป็นเรื่องปกติ อันนี้ก็ต้องบอกกันตรงๆ
ไม่ใช่แค่โอเคแล้วนะเบตง เพราะมันมีอะไรที่ต้องบอกตรงๆ ว่า แม้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะส่งความกังวลใจให้กับนักเดินทาง แต่เบตงยังคงมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และเป็นพื้นที่สงบ ที่มีเหตุการณ์น้อยมากหรือไม่มีเลย ใครที่ได้มาสัมผัสแล้วคงรู้สึกอุ่นใจกับเรื่องราวหลากหลายของเบตง
เช่นเดียวกับเราอีกคนที่ต้องบอกตรงๆ ว่า รักเลย